Lifestyle

อนุรักษ์ธงกฐิน : หัวใจไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อนุรักษ์ธงกฐิน : หัวใจไทย

           หนึ่งในนโยบายของ นายวีระ โรจน์พจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คือ การให้กรมการศาสนา (ศน.) ใช้มิติศาสนาสืบสานวิถีถิ่น วิถีไทย โดยในช่วงวันออกพรรษา 27 ตุลาคมนี้ ศน.ได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศร่วมกันทำบุญอันยิ่งใหญ่เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ได้แก่ การร่วมกันตักบาตรเทโวโรหณะ ในวันที่ 28 ตุลาคม และช่วงระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2558–25 พฤศจิกายน 2558 ร่วมกันถวายผ้าพระกฐินตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศนอกจากจะเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว ยังส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

           เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวีระ นำผู้บริหารทุกกรมในสังกัดร่วมกิจกรรมส่งเสริมความเป็นไทยต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกรมการศาสนาได้รณรงค์สืบทอดประเพณีถวายกฐินปีนี้ให้เน้นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามประเพณี การรักษาศีล ที่สำคัญขอความร่วมมือไปยังวัดที่ได้รับผ้ากฐินสืบทอดการประดับ “ธงกฐิน” ที่กำลังสูญหายไปให้กลับคืนมาในสังคมไทย

           ธงกฐิน เป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่า วัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว มี 4 แบบแฝงด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมะ ประกอบด้วย ธงจระเข้ ธงนางมัจฉา ธงตะขาบ และธงเต่า กล่าวคือ 1.ธงจระเข้ หมายถึง ความโลภ (ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม) ใช้ประดับในการแห่ มีตำนานว่า เศรษฐีเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย 2.ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง (เสน่ห์แห่งความงามที่ชวนหลงใหล) ใช้ประดับงานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาว ตามความเชื่อว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์จะมีรูปงาม

           3.ธงตะขาบ หมายถึงความโกรธ (พิษที่เผ็ดร้อนเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิต) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่นเลย ไม่ต้องเสียเวลามาถาม และ 4.ธงเต่า หมายถึง สติ (การระวังรักษาอายตนะทั้ง 6 ดุจเต่าที่หดอวัยวะซ่อนในกระดอง) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว จะปลดลงในวันเพ็ญเดือน 12 โดยในปัจจุบันจะเห็นเพียงธงจระเข้ และธงนางมัจฉา ที่จะปรากฏในงานกฐิน ส่วนธงตะขาบและธงเต่าพบเห็นได้น้อย จะมีเป็นบางวัดที่ยังคงรักษาธรรมเนียมเก่าอยู่เท่านั้น

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ