Lifestyle

ทางออกปัญหาเขตอนุรักษ์ กับสิทธิในที่ทำกินของ 'ชาวเล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ทางออกปัญหาเขตอนุรักษ์ กับสิทธิในที่ทำกินของ 'ชาวเล' : โดย...ปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท / วิโชติ ไกรเทพ และชาญวิทย์ สายวัน ... ภาพ

 
                     กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล มอแกน มอแกลน อูรักราโวย เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยในอยู่แถบอันดามันมายาวนานกว่า 300 ปี ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าชายฝั่งทะเลอันดามัน มีชนพื้นเมืองกลุ่มนี้อาศัยอยู่
 
                     ชาวเล เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่นิยมมีเรื่องกับใคร พอเพียง เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องทะเล หาอยู่หากินในทะเล ริมหาด ชายฝั่งและป่าแถบนั้น โดยใช้เครื่องมือประมงแบบดั้งเดิมที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไร้มลพิษ เพราะพวกเขาต้องพึ่งพาอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ผ่านมาหลายร้อยปี
 
                     ช่วงเกิดสึนามิ ชาวเลเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ จากการสำรวจพบว่ามีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เพราะที่ดินที่อยู่มานานไม่ได้มีการออกเอกสารสิทธิ และถูกคนนอกมาออกเอกสารสิทธิทับชุมชนชาวเล ได้ทำการฟ้องขับไล่ชาวเล
 
 
ทางออกปัญหาเขตอนุรักษ์ กับสิทธิในที่ทำกินของ 'ชาวเล'
 
 
                     จากข้อมูลพบว่า มีชาวเล 43 ชุมชน ไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยถึง 28 ชุมชน ในจำนวนนี้มีทั้งอาศัยในที่ดินรัฐ เช่น ป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ป่าสงวน อุทยาน ฯลฯ และมีที่ดินชุมชนชาวเลที่เอกชนอ้างสิทธิ์ อย่างน้อย 5 แห่ง
 
                     ขณะเดียวกันนโยบายการท่องเที่ยวในอันดามัน ที่มีรายได้เข้าประเทศจำนวนกว่าแสนล้านบาทต่อปี ก็ส่งผลกระทบต่อการแย่งชิงทรัพยากรทั้งที่อยู่อาศัย ชายหาดและทรัพยากรทางทะเล เพราะทุกพื้นที่มีการกว้านซื้อและกันไว้ให้นักท่องเที่ยว เช่น การห้ามผู้หญิงชาวเลหาหอยติบตามโขดหินริมหาดที่มีโรงแรม รีสอร์ท ห้ามดำน้ำหาปลาในเขตที่มีนักท่องเที่ยวเล่นน้ำ เป็นต้น
 
                     นอกจากนี้ยังมีปัญหาเขตหากินดั้งเดิมในทะเล ถูกรัฐประกาศเป็นเขตสงวนหวงห้าม เป็นเขตอุทยาน ฯ ซึ่งจากข้อมูลศึกษาวิจัยพบว่า มีแหล่งหากินดั้งเดิมของชาวเลตามเกาะแก่งต่างๆ ตลอด 6 จังหวัดอันดามันมากกว่า 27 แหล่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แหล่ง จึงส่งผลให้ชาวเลต้องออกหากินไกลขึ้น ต้องดำน้ำลึกขึ้น ทำให้เกิดโรคน้ำหนีบ (อัมพาตจากการดำน้ำ) ไม่สามารถออกทะเลได้ ชีวิตต้องเป็นหนี้เป็นสิน ประกอบกับปัญหาอื่นๆ อีกรอบด้าน ทำให้ชาวเลยากจนลง คุณภาพชีวิตตกต่ำ
 
 
ทางออกปัญหาเขตอนุรักษ์ กับสิทธิในที่ทำกินของ 'ชาวเล'
 
 
                     กระบวนการพัฒนาในพื้นที่อันดามันตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวละเลยชนพื้นเมืองและชาวบ้านที่เป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน พบว่าหลังจากเกิดสึนามิปี 2547 มีชุมชนทั้งที่เป็นชาวเลและไม่ใช่ชาวเลมีปัญหาที่ดินถึง 122 ชุมชน ซึ่งแสดงว่าปัญหาที่ดินมีมานานแล้ว ชุมชนที่ประสบภัยได้รวมกลุ่มกัน เป็น “เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน” ผลักดันให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ องค์กรต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และมูลนิธิชุมชนไท เสนอให้มีการคุ้มครองทางวัฒนธรรมแก่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
 
                     จึงเกิดมติคณะรัฐมนตรีในการฟื้นฟูวิถีชาวเล เมื่อปี 2553 ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สิทธิพื้นฐาน การฟื้นฟูทางวัฒนธรรมและการศึกษาของชาวเล โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลขึ้น
 
                     หลังมติคณะรัฐมนตรี เครือข่ายชาวเล มีความพยายามในการพัฒนาระบบการดำเนินงานของตนเอง โดยมีการประชุมสัมมนา การอบรม การจัดทำข้อมูล จัดทำแผนที่ การจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลทุกปี เพื่อสื่อสารเผยแพร่และผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาในระดับนโยบายอย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเกิดขึ้นกับชาวเลในพื้นที่ต่างๆ เป็นระยะ เช่น ชาวเลบ้านราไวย์ ภูเก็ต ถูกฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่กว่า 100 ครอบครัว ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง เกาะราวี ถูกอุทยานแห่งชาติประกาศทับที่ และถูกเอกชนฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่ ไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัยมากกว่า 200 ครัวเรือน ชาวเลที่ออกหาปลาในทะเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจับกุม ถูกยึดเรือและเครื่องมือประมง ต้องขึ้นศาลนานนับปี ทำให้เป็นหนี้และต้องยอมความเพราะไม่มีเงินไปศาล รวมทั้งในหลายพื้นที่ไม่มีระบบให้ชาวเลเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น
 
 
ทางออกปัญหาเขตอนุรักษ์ กับสิทธิในที่ทำกินของ 'ชาวเล'
 
 
                     ผ่านมา 5 ปี หลังมติคณะรัฐมนตรี กระบวนการแก้ปัญหาซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ เครือข่ายชาวเลและภาคีที่เกี่ยวข้อง มีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมขึ้น เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรีมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแบบมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายทั้งชาวเล นักวิชาการ นักพัฒนา ภาครัฐ ฯลฯ โดยมี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล เพื่อให้เกิดการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพประมงของชุมชนชาวเล โดย นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 เป็นประธานอนุกรรมการ
 
                     มีการประชุมปรึกษาหารือในระดับพื้นที่ระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนชาวเล และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ต่างๆ ประเด็นที่น่าสนใจของการปรึกษาหารือคือ การที่ใช้ข้อเท็จจริงในพื้นที่จากชาวเลบนหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างเหมาะสม เช่น การใช้เครื่องมือประมงแบบดั้งเดิมของชาวเลและไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ การกำหนดฤดูกาลหรือช่วงระยะเวลาในการผ่อนปรนทำประมง ตลอดจนการขึ้นทะเบียนชาวเลที่ทำอาชีพประมง โดยที่ประชุมมอบหมายให้วัฒนธรรมจังหวัดและผู้แทนชาวเลแต่ละจังหวัด ทำการสำรวจรายชื่อของชาวเลที่ยังคงออกทะเล เพื่อออกบัตรประจำตัวในการทำประมงของชาวเลให้ชัดเจนต่อไป
 
 
ทางออกปัญหาเขตอนุรักษ์ กับสิทธิในที่ทำกินของ 'ชาวเล'
 
 
                     จะเห็นได้ว่า ปัญหาของชนพื้นเมือง อย่างกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน ที่ได้รับผลกระทบจากโยบายการท่องเที่ยว การประกาศเขตอนุรักษ์ของรัฐ หรือแผนพัฒนาต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากนโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุล มุ่งพัฒนาการหารายได้เข้าประเทศ จนละเลยและเบียดขับคนดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของอันดามันอย่างแท้จริง ซึ่ง นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นความรุนแรงอีกชนิดหนึ่งของสังคมไทย องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะแก้ไขโดยลำพังไม่ได้เพราะมันยากและละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย
 
                     กรณีความพยายามในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยภาคีที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งศูนย์บริการประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี กรมอุทยานแห่งชาติ เครือข่ายชาวเล เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ มูลนิธิชุมชนไท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ฯลฯ ในการหาแนวทางคลี่คลายปัญหา
 
                     มติ ครม.การฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวเลผ่านไป 5 ปี จึงพบทางออกที่จะนำสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เป็นการรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของท้องทะเลอันดามัน ซึ่งหมายถึงการออกจากความขัดแย้งและสร้างความร่มเย็นเป็นสุข ที่ทั่วโลกแสวงหา ดั่งที่ นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กล่าวว่า “เมื่ออุทยานและชาวเลจับมือกัน หาหนทางให้ชาวเลหากินได้ สามารถอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ และทำการท่องเที่ยวได้ งานนี้ถือว่าทุกฝ่ายมีเกียรติร่วมกัน”
 
 
 
 
----------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ทางออกปัญหาเขตอนุรักษ์ กับสิทธิในที่ทำกินของ 'ชาวเล' : โดย...ปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท / วิโชติ ไกรเทพ และชาญวิทย์ สายวัน ... ภาพ)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ