Lifestyle

ผ่าตัดใหญ่ประกันสังคมครอบคลุมบูรณาการ-โปร่งใส-เป็นธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่าตัดใหญ่ประกันสังคมครอบคลุม บูรณาการ-โปร่งใส-เป็นธรรม : ปฏิญญา เอี่ยมตาล ทีมข่าวรายงานพิเศษ

         ย้อนหลังไปเมื่อปี 2533 ไทยนำหลักประกันสังคมมาใช้กับคนทำงานในสถานประกอบการหรือแรงงานในระบบเป็นครั้งแรก ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 1 พ.ศ.2533) จนทุกวันนี้ผ่านมา 25 ปีแล้ว การบริหารจัดการระบบประกันสังคม ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ “สำนักงานประกันสังคม“ ยังเป็นไปในรูปแบบเดิมๆ ไม่ปรับแก้ไขให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

           ทั้งที่กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่ที่สุดในประเทศ มีเงินมหาศาลถึง 1.37 ล้านล้านบาท มีผู้ประกันตนทั้งหมด  41.1 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มคนทำงานในระบบ ได้แก่ แรงงาน ลูกจ้าง พนักงาน ในโรงงาน  สถานประกอบการ บริษัท ห้างร้านต่างๆ จำนวน  11 ล้านคน อยู่ในสถานประกอบการ 4.2 แสนแห่ง

           กลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือคนทำงานอาชีพอิสระ เช่น ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าทำงานอยู่บ้าน รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป ฯลฯ มีมากถึง 25.1 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนทำงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งขณะนี้เป็นผู้ประกันตนอีกกว่า 4 ล้านคน

           แม้ว่าภาพรวมกองทุนประกันสังคมจะประสบความสำเร็จในด้านการระดมเงินที่ผู้ประกันตน จ่ายรายเดือน กรณีของแรงงานนอกระบบหรือหักจากเงินเดือน ณ ที่จ่าย ในส่วนของแรงงานในระบบก็ตาม แต่ไม่สามารถจับต้องนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติดูแลผู้ประกันตนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเครือข่ายที่ล่าช้าจ่ายยาไม่ตรงกับโรค การรักษาที่ไม่ครอบคลุมโรคร้ายแรง อาทิ เบาหวาน ความดันโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ เป็นต้น

           การบริหารจัดการระบบประกันสังคมที่ผ่านมา มีความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมผู้ประกันตน  ส่งผลให้เกิดการรวมตัว 14 องค์กรเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน หรือ “คปค.” ประกอบด้วย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อนหญิง

           สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

           รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปประกันสังคม “ผ่าตัดใหญ่บริหารจัดการโครงสร้างใหม่” โปร่งใส เป็นอิสระ ชัดเจนเป็นธรรม ตรวจสอบได้และให้ประชาชนมีส่วนร่วม

           ทั้งนี้ผลศึกษาวิจัยจากสถาบันวิชาการทั้งในประเทศและนอกประเทศระบุปัญหาคล้ายคลึงกันว่า ระบบหลักประกันสังคมไทยยังล้าหลังทั้งวิธีคิดและนโยบายไม่ครอบคลุมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันแบบถ้วนหน้า

           ถึงเวลาแล้วที่สำนักงานประกันสังคมต้องคืนความสุขให้ประชาชนปรับระบบนโยบายให้ก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมนานาประเทศลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิที่ประชาชนผู้ประกันตนควรได้รับ

           ขณะนี้ 14 องค์กรเครือข่ายสังคมคนทำงาน เรียกร้องรัฐผลักดันการปฏิรูปประกันสังคมอย่างจริงจัง  โดยยึดหลัก 4 ประการ คือ  1.ครอบคลุมคนทำงาน 2.อิสระและบูรณาการ 3.โปร่งใสและมีส่วนร่วม 4.ยืดหยุ่นและเป็นธรรม

           “มนัส โกศล“ ประธาน คปค.ยืนยันว่า หลักสำคัญปฏิรูปประกันสังคม ต้องเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขคืนความสุขถ้วนหน้าต้องเป็นอิสระในการบริหารจัดการปราศจากการแทรกแซงจากรัฐและการเมืองมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ไม่ยึดติดโครงสร้างบังคับบัญชาแบบแนวดิ่งตามลำดับชั้นและกฎระเบียบราชการมากเกินไป

           “25 ปีที่ผ่านมาผู้ประกันตนเสียโอกาสไปมากแล้ว โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงสิทธิในหลายเรื่อง  เช่น เงินออมชราภาพ ควรเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนรายได้ให้สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ  สิทธิในการตรวจสอบเงินของผู้ประกันตนในกองทุนว่านำไปใช้จ่ายในทางที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะเงินส่วนใหญ่เป็นของลูกจ้างและนายจ้าง แต่กลับไม่มีสิทธิเข้าไปตรวจสอบ” มนัส กล่าว

           “ภาคภูมิ สุกใส“ ประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ทุกวันนี้จะเริ่มใช้กฎหมายหลักประกันตน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 แต่ยังมีปัญหาเกิดขึ้นกับผู้ประกันตนหลายเรื่อง เช่น ถูกปฏิเสธการรักษาเมื่อเจ็บป่วย ทั้งที่เงินที่จ่ายไปก็เป็นเงินของเราเอง ไปโรงพยาบาลทีไรก็ได้แต่ยาแก้ปวดกลับมาทุกครั้ง

           “แสดงให้เห็นว่าประกันสังคมไม่มีความจริงใจ ยกตัวอย่างกรณีคนงานในโรงงานผม เป็นมะเร็งระยะ 3 โรงพยาบาลประกันสังคมไม่ได้รักษาอะไรเลย ให้นอนรอความตาย จนสุดท้ายญาติทนไม่ไหว พาไปโรงพยาบาลที่เสียเงินเอง กลับได้รับการดูแลที่ดีกว่าจนอาการดีขึ้น ทำให้มองเห็นชัดเจนว่า การรักษาของประกันสังคมกับ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่แตกต่างกันเลย” ภาคภูมิ เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานที่ผ่านมา

           สิ่งที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกับ “เกวลิน ศรีสถาน”  วัย 45 ปี หนึ่งในแรงงานในระบบที่จ่ายเงินประกันสังคม ระบายความในใจให้ฟังว่า เวลาป่วยไปโรงพยาบาลนั่งรอนานกว่าครึ่งวันยังไม่เรียกชื่อ บริการไม่ดี พอเรียกเข้าไปพบหมอตรวจไม่ถึง 1 นาที จ่ายยาพาราฯ จ่ายยาไม่ตรงกับโรค เช่น ปวดท้อง จ่ายยาแก้ปวดหัว ทั้งที่ถูกหักเงินทุกเดือน เดือนละ 488 บาท อยากให้มีการปฏิรูปจริงจัง อยากเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ไตและโรคเกี่ยวกับสุขภาพปาก การทำฟันด้วย ขอเพิ่มจากปีละ 600 เป็น 1,000-1,200 บาท จะได้ไหม”

           สอดคล้องกับ ประนอม สุนทรสุข พนักงานบริษัทวัย 40 ปี ผู้เห็นด้วยกับการปฏิรูปสังคม อยากให้เพิ่มสิทธิเงินค่าคลอดบุตร การรักษาพยาบาลกรณีนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล อยากให้เพิ่มสิทธิอยู่ห้องพิเศษที่สะดวกสบายกว่า หรือให้ผู้ประกันตนจ่ายส่วนต่างค่าห้องในราคาน้อยที่สุด นอกจากนี้อยากเรียกร้องเรื่องเงินสงเคราะห์บุตร เพราะทุกวันนี้ได้ 400 บาท อยากให้ปรับเพิ่มเช่นเดียวกับคนพิการที่ได้ 800 บาท เนื่องจากค่าครองชีพและข้าวปลาอาหารแพงขึ้น

           ปัจจุบันผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานในระบบ หรือลูกจ้างในสถานประกอบการ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ต้องอยู่ในระบบประกันสังคม ภาคบังคับตามมาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ เจ็บป่วยประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน

           เงินเดือนถูกหักเงิน ณ ที่จ่าย 5 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดไม่เกิน 750 บาท ส่วนที่เหลือนายจ้างออก 5 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลออก 2.5 เปอร์เซ็นต์

           ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบไม่มีนายจ้าง ต้องจ่ายเงินผู้ประกันตนเองภาคสมัครใจ มาตรา 40 เดือนละ 100 ได้สิทธิเพียง 3 กรณี คือ ทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยทุพพลภาพ และค่าทำศพเท่านั้น

           “ทีมข่าวคม ชัด ลึก” ลงพื้นที่สอบถามความเห็นแรงงานนอกระบบ พบว่าส่วนใหญ่อยากได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ให้เท่าเทียมคนอื่นๆ แม้ต้องควักเงินจ่ายเพิ่มก็ยินยอม

           “แม่ค้าขายขนม” วัย 57 ปีบอกว่า ทุกวันนี้จ่ายเงินประกันสังคมเดือนละ 100 บาท หากรัฐต้องการให้จ่ายเพิ่มเป็น 200 หรือ 300 บาท ยังพอมีกำลังจ่าย เพื่อจะได้สิทธิประกันตนเองมากขึ้น อาจจะได้ไม่เท่าทั้ง 7 กรณีก็ไม่เป็นไร อยากได้มากที่สุดคือ เงินชดเชยการขาดรายได้ กรณีเจ็บป่วยออกไปขายของไม่ได้ต้องนอนอยู่บ้านไม่มีรายได้ ต้องนอนโรงพยาบาลถึงจะจ่ายชดเชย อยากฝากให้ช่วยในส่วนนี้ด้วย

           “เด้ง” หนุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างย่านสุขสวัสดิ์  บอกว่า เป็นผู้ประกันตน ส่งเดือนละ 100 บาท อยากได้สิทธิเพิ่ม เรื่องเงินค่าทำศพ ขอให้รัฐบาลปรับจาก 2 หมื่น เป็น 4หมื่น เพราะอาชีพที่ทำมันเสี่ยงอันตรายบนถนน มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา หากวันไหนตายไปลูกเมียจะได้มีเงินทำศพ เพราะ 2 หมื่นบาทสมัยนี้ ไม่พอจัดงานสวดคืนเดียวก็หมดแล้ว 

           “โกวิท สัจจวิเศษ“ รองเลขาฯ ประกันสังคม ในฐานะตัวแทนภาครัฐแสดงความเห็นด้วยกับการปฏิรูปกองทุนประกันสังคม ให้โปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ตามข้อเรียกร้อง ซึ่งบางเรื่องทำได้เลย แต่บางเรื่องต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบในรูปแบบของคณะกรรมการ ส่วนการผลักดันให้เป็นองค์กรอิสระนั้น สามารถทำได้เพียงบางหน่วย เช่น หน่วยลงทุนประกันสังคม เท่านั้น

           “คปค.” ขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคมต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 แม้ว่าหน่วยงานรัฐและสำนักงานประกันสังคมยังไม่มีท่าทีชัดเจนต่อข้อเสนอและการเรียกร้อง 4 ประการข้างต้น

           3 กันยายน 2558 ถือเป็นวันครบรอบประกันสังคม 25 ปี มีการคาดหวังว่า จากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงสู่ประกันสังคมยุคใหม่ ที่โปร่งใสเป็นธรรมอย่างแท้จริง
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ