Lifestyle

'ด่าออนไลน์'ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'จิตแพทย์' ชี้ 'ไซเบอร์บูลลีอิง' กลั่นแกล้งรังแกผ่านโลกออนไลน์ โดนเล่นงานถึงขั้นป่วยซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย แถมส่งภาพลามกให้ถูกบันทึกการโพสต์ สืบค้นเจอชวดงาน

 
                      พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นตะวันออกเฉียงเหนือ กรมสุขภาพจิต กล่าวในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 14 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด "สุขภาพจิตสู่คุณค่าความเป็นมนุษย์" จัดโดยกรมสุขภาพจิตที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากการนำเสนอเรื่อง "สุขภาพจิตสังคมออนไลน์ สังคมใหม่ใกล้ตัว" ซึ่งนำเสนอข้อดีและผลกระทบจากการใช้งานสังคมออนไลน์ หรือโซเชียล มีเดีย (social media) แบ่งตามช่วงวัย ในส่วนของวัยเด็ก ต้องแยกโซเชียล มีเดีย ออกจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่จะเป็นการสืบค้นข้อมูลทั่วไป แต่โซเชียล มีเดีย คือ ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยเด็กเล็กจะเริ่มใช้โซเชียล มีเดีย ประมาณ ป.6 จะเริ่มมีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเอง
 
                      ส่วนดีจะใช้ในการติดต่อสื่อสาร เข้าถึงข้อมูลที่สร้างสรรค์ ในอเมริกาให้การสนับสนุนในการค้นหาข้อมูล เรียกว่า ฟริบคลาสรูม การพัฒนาเด็กให้พร้อมกับศตวรรษที่ 21 เนื้อหาเด็กสามารถอ่านเองได้ ถ้ามีสมาร์ทโฟนระหว่างเรียนก็ค้นหาข้อมูลได้เลย การบ้านบางทีไม่ต้องทำส่งในห้องเรียน ในอเมริกาให้ส่งการบ้านในการแชร์ เพื่อให้มีคอมเม้นท์ ทำให้เด็กมีความสนุกสนานในการเรียนเด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ดี แต่ข้อเสีย จะปิดกั้นสกัดกั้นได้ค่อนข้างยาก ในกูเกิลจะมี กูเกิลเซฟแชร์ ยกตัวอย่าง ครูให้การบ้านเด็กทำเรื่อง นม พอเด็กค้นหาในกูเกิล นมก็จะขึ้นมา เป็นเรื่องนมที่เด็กจะใช้ทำรายงาน พอเป็นโซเชียล มีเดีย มันจะไม่สกัดกั้น เด็กก็จะเรียนรู้วิธีการเขียนที่จะทำให้ได้รับการกดไลค์จำนวนมาก ทุกคนก็จะเข้าใจว่าทำแบบนี้ คือ ดี ทั้งนี้ วัยเด็กจะต่างจากวัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงหาคนที่เป็นแบบอย่าง
 
                      พญ.ดุษฎี กล่าวอีกว่า สำหรับวัยรุ่น โซเชียล มีเดีย ที่มีการใช้มาก คือ เฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม ข้อดี จะเป็นการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ทำให้เจอเพื่อนเก่า เจอเพื่อนใหม่ ส่งเสริมในเรื่องของการเรียนรู้ อาจจะถามการบ้านเพื่อนในไลน์ เพราะไลน์สามารถตั้งกลุ่มได้ การเข้าถึงข้อมูลทางสุขภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ซึ่งวัยรุ่นบางคนอาจจะไม่กล้าที่จะสื่อสารกับพ่อแม่โดยตรง และมีเพจของวัยรุ่นที่มีเกี่ยวกับเรื่องความเจ็บป่วย สามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ แต่ข้อเสีย ก่อให้เกิดการกลั่นแกล้งรังแกในสังคมออนไลน์ (Cyber bullying and online harassment) การรังแกของเด็กและเยาวชนรูปแบบใหม่ ที่ทำผ่านโซเชียล มีเดีย ซึ่งข้อมูลของอเมริกา มีมากกว่า 50% ที่มีการระรานกัน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนเป็นกลุ่มมากดดัน ห้ามคุยกับเพื่อนในเฟซบุ๊ก ทำให้เขารู้สึกว่าโดนเพิกเฉย ทำให้เด็กเกิดการวิตก ซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน บางรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย
 
                     "ในประเทศไทยก็เจอกรณีการกลั่นแกล้งรังแกผ่านสังคมออนไลน์เช่นนี้เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวัยเรียนและวัยรุ่น โดยเป็นการต่อว่าหรือพูดถึงสิ่งที่ไม่ดีของคนอื่นผ่านสังคมออนไลน์ จนส่งผลให้ผู้ที่ถูกรังแกถึงขั้นไม่อยากไปโรงเรียน เกิดภาวะเครียดกังวล จนถึงป่วยโรคซึมเศร้า แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลตัวเลขอย่างชัดเจน แต่จากการที่หมอได้พูดคุยกับจิตแพทย์ส่วนใหญ่ก็เคยเจอคนไข้ที่มาเข้ารับปรึกษาที่เกิดจากกรณีถูกรังแกผ่านสังคมออนไลน์ทั้งสิ้น"
 
                      พญ.ดุษฎี กล่าวอีกด้วยว่า นอกจากนี้ ยังเกิด Sexting เป็นการส่งภาพที่ลามกอนาจาร ที่ส่งไปให้คนอื่น เช่น วัยรุ่นถ่ายภาพให้แฟน แฟนขอดูตอนที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม แฟนนำไปเผยแพร่ต่อ ทำให้คนที่ถูกแชร์ภาพเกิดความอับอาย จนต้องย้ายโรงเรียน รวมถึงสร้าง digital footprint เมื่อส่งภาพโพสต์ข้อความที่ไหนก็ตาม ผลเสียที่เกิดกับวัยรุ่น อาจไปโพสต์อะไรไว้ ถึงลบไปแล้ว สิ่งที่โพสต์ก็ยังอยู่ ยกตัวอย่างในอเมริกาเวลาไปสมัครงาน ก็มีการสืบค้นทาง digital foot print ก็อาจทำไม่ให้ได้รับงานนั้นๆ และการเสพติดที่ทำให้เล่นมากเกินไป ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้กิจวัตรประจำวันเสียไป สำหรับในวัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุ ข้อดี เผยแพร่ข้อมูลได้รวดเร็ว คนทั่วไปก็สามารถทำได้ เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สร้างสัมพันธภาพใหม่ๆ และเป็นช่องทางการติดต่อกับผู้อื่น ลดความโดดเดี่ยว ส่วนข้อเสีย ข้อมูลผิดพลาด สูญเสียความเป็นส่วนตัว มีผลเสียต่อความสัมพันธ์ในชีวิตจริง และเสียหายต่อชีวิตการทำงาน
 
                      พญ.ดุษฎี กล่าวด้วยว่า ข้อแนะนำการใช้โซเชียล มีเดีย ในเด็ก ต้องให้เด็กมี Kiddycal thinking คือ ให้เด็กคิดก่อนว่าข้อมูลที่ได้มาจากโซเชียล มีเดีย เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และผู้ปกครองมีข้อมูลมาแชร์ใหม่ เรื่องความปลอดภัย ถ้าห่วงเด็กว่าจะไปคุยกับคนแปลกหน้า มีการแนะนำว่าควรอยู่ในสายตาของผู้ปกครอง การใช้สมาร์ทโฟนก็ต้องมีกฎเกณฑ์ เช่น ก่อนที่จะซื้อสมาร์ทโฟน ก็มีการตกลงว่า สมาร์ทโฟนที่ซื้อให้คือของพ่อแม่ เป็นการให้ยืม ถ้าไม่ตามกฎที่ตกลงกันไว้ ก็จะถูกริบ หรือห้ามใช้ อันนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม วิธีป้องกันผลกระทบในวัยรุ่น โดยความสัมพันธ์ของวัยรุ่น ที่เป็นตัวของตัวเอง ติดเพื่อน ติดโทรศัพท์ พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับวัยรุ่น เมื่อสัมพันธ์ดีเขาจะฟังเรา
 
                      "คำแนะนำวัยรุ่นในการใช้สื่อออนไลน์ ห้ามให้ที่อยู่ ข้อมูลส่วนตัว ไม่นัดพบคนที่เจอผ่านสื่อออนไลน์ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่ภาพ ตัวตน ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพื่อป้องกันการถูกหลอก เพราะบางทีสั่งของ โอนเงินไปให้แล้ว ไม่ได้ของ แจ้งให้พอแม่ทราบเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือถูกข่มขู่คุกคาม และทำความรู้จักโลกในสื่อสังคมออนไลน์ของวัยรุ่น คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง พ่อแม่ต้องเรียนรู้ว่าสื่อออนไลน์อะไรที่วัยรุ่นใช้ และมีแบบทดสอบการติดสื่อออน์ไลน์ (Social Media Addiction Test) ซึ่งสามารถหาได้จากกูเกิล"
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ