Lifestyle

มหัศจรรย์ความงามชีวิต-ธรรมชาติ ที่บ้านอังแตง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : มหัศจรรย์ความงามชีวิต-ธรรมชาติ ที่บ้านอังแตง , เมืองเย รัฐมอญ เมียนมาร์ : โดย...มนตรี จันทวงศ์

 
                           สำหรับคนและชุมชนในสังคมเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติคือทุนแห่งการสืบสานวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม จากรุ่นชนสู่รุ่นชน ดังเช่นชาวบ้านเกือบ 500 ครัวเรือนแห่งหมู่บ้านอังแตง ในอ้อมกอดของทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ ผืนดินอันอุดม น้ำและอากาศอันบริสุทธิ์ ในระดับที่เรียกได้ว่า เป็นความมหัศจรรย์
 
                           ภูมิทัศน์ของหมู่บ้านอังแตงตั้งแต่ก้าวแรกเต็มไปด้วยต้นหมากสูงตระหง่าน พุ่มใบสีเขียวที่อยู่บนยอดต้นปกคลุมให้ความร่มเย็นแก่บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่ง ช่วงนี้จั่นดอกหมากกำลังอ้วน รอเวลาให้ดอกบานออกเพื่อเปิดพื้นที่ในการกลับมาของผลหมากสีส้ม 
 
                           พื้นที่ปลูกหมากของหมู่บ้านอังแตงมีประมาณ 5,000 ไร่ ผลผลิตหมากที่นี่คือ รายได้หลักของบ้านอังแตง ประเมินว่าอาจสร้างรายได้ในแต่ละปีให้ชาวบ้านที่นี่ได้มากกว่า 1,258 ล้านจ๊าด (ประมาณ 42 ล้านบาท) เลยทีเดียว
 
                           ในบริเวณสวนหมาก ยังมีมะพร้าว มะม่วง มะปราง ขนุน ทุเรียน มะนาวยักษ์ แซมอยู่ทั่ว ในวันหยุดก็จะมีบรรยากาศเด็กๆ ออกมาวิ่งไล่จับกันอย่างสนุกสนานระหว่างที่รอพ่อแม่เก็บผลผลิต ติดกับหมู่บ้านอังแตง คือ ทุ่งนาเขียวขจีอันกว้างใหญ่ ต้นข้าวกำลังสมบูรณ์เต็มพื้นที่ 1,200 ไร่ รอเวลาตั้งท้องและออกรวงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คราใดมีลมพัดจากทะเลผ่านทุ่งนาแห่งนี้ ใบข้าวจะพร้อมใจไหวพลิ้วประสานเสียงไปกับสายลมทั่วทั้งทุ่ง เกิดเป็นสายลมแห่งสรรพชีวิต ว่ากันว่าผลผลิตข้าวในท้องทุ่งนาของหมู่บ้านแถบนี้มีมากพอที่สามารถหล่อเลี้ยงชุมชนมอญในแถบเมืองเยได้เกือบทั้งหมดทีเดียว มูลค่าทางเศรษฐกิจของข้าวจากหมู่บ้านอังแตง ชาวบ้านประเมินว่าประมาณ 126 ล้านจ๊าด (4.2 ล้านบาท) ต่อปี
 
                           ถัดจากท้องทุ่งนาออกไปอีกคือ หาดทรายและหาดเลนที่พยายามแผ่ผืนดินออกไปให้ใกล้มหาสมุทรมากที่สุด ในช่วงฤดูฝนยามน้ำลง เราพบปูตัวเล็กเป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัวออกมาทั่วทั้งหาดเลน เพื่อหาอาหาร และยังมีปูตากลมสีแดง หอยตัวน้อย และรอยเท้านกตัวเล็กๆ เหลือเป็นร่องรอยให้ผู้มาเยือนได้ชม บางส่วนของหาดเลน มีหญ้าชนิดหนึ่งขึ้นปกคลุมไปทั่ว เรียกว่า หญ้าคมบาง ใบเรียวแข็งและคม ต้นสูงประมาณ 1 ฟุต เป็นแหล่งที่อยู่ของปูกะนาน (GaNann) หรือ Mangrove crab (Scylla serrata) ชาวบ้านในแถบนี้จะมาวางกับดักปูในช่วงเย็นๆ และมาเก็บในตอนเช้า เป็นปูที่มีราคาดีมากชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์น้ำบริเวณนี้ 
 
                           ยามน้ำลง ชาวบ้านยังใช้อุปกรณ์ดักปลาง่ายๆ โดยนำตาข่ายมาขึงไปตามแนวชายหาดยาวหลายสิบเมตร รอช่วงเวลาน้ำขึ้นให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ เข้ามาหากินและติดในตาข่าย เมื่อยามน้ำลงก็สามารถเก็บปลา ปู เป็นอาหารหรือขายได้
 
                           อังแตงอยู่ในกลุ่มหกหมู่บ้าน พื้นที่ที่ตั้งมีชื่อในภาษาท้องถิ่นว่า “พะลึง" (Phalueng) ภูมิประเทศเป็นแนวสันเขาเป็นหลังอิงให้หมู่บ้าน และลาดลงไปเป็นที่ราบสำหรับตั้งหมู่บ้านและผืนนา ต่อเนื่องด้วยหาดเลนและหาดทรายติดทะเลอันดามัน พื้นที่บางส่วนมีลำห้วยเล็กๆ หลายสายจากภูเขา ส่วนหนึ่งไหลลงทะเลโดยตรง อีกส่วนหนึ่งไหลรวมลงคลองนิเกรอะก่อนไหลลงทะเล สภาพภูมิประเทศในแถบนี้จึงเป็นป่าชายเลนและป่าจากขนาดใหญ่ อีก 5 หมู่บ้านคือ บ้านนิเกรอะ, บ้านเคลอะเคลีย, บ้านนินู่, บ้านซายแกรมและบ้านบาแลมซาย อาชีพหลักนอกจากทำสวนหมาก สวนผลไม้ และปลูกข้าวแล้ว ที่หมู่บ้านนิเกรอะและเคลอะเคลียอาชีพประมงถือเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านประเมินว่ารายได้จากการประมงต่อปีมีมากกว่า 2,000 ล้านจ๊าด (หรือ 66 ล้านบาท) ด้วยความสมบูรณ์ของผืนดิน น้ำ อากาศ และระบบนิเวศในแถบนี้ จึงเป็นเสมือนเสาหลักของความมั่นคง ให้แก่วิถีชุมชนมอญในแถบนี้มาอย่างยาวนาน  
 
                           แต่สิ่งที่เห็นอยู่ข้างหน้า อาจเป็นเพียงเรื่องราวที่ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นแค่เรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ อีกไม่กี่ปีจากวันนี้ การเกริ่นนำทุ่งนาและหาดเลนที่ว่า ก็อาจต้องเริ่มด้วย “แต่ก่อน” เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2557 บริษัทโตโย-ไทยได้เสนอแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 9.1 หมื่นล้านบาท โครงการนี้ได้สร้างความกังวลใจให้ชาวบ้านอังแตงและหมู่บ้านใกล้เคียง ด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ต้องใช้พื้นที่ตั้งโรงงาน 500 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,200 ไร่ และต้องการน้ำอย่างน้อย 2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า ตลอดปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านอังแตงและหมู่บ้านใกล้เคียง ได้แสดงจุดยืนปฏิเสธโครงการเสมอมา เพราะไม่ต้องการสูญเสียที่นาเกือบทั้งหมดไปอย่างถาวร อีกทั้งยังมีความวิตกอันใหญ่หลวงว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของพื้นที่พะลึง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบและการประมงชายฝั่ง รวมทั้งความกังวลต่อปัญหาทางสังคมที่จะเกิดติดตามมา จากคนงานก่อสร้างมากกว่า 3,000 คน ที่จะอพยพเข้ามาที่นั่น
 
                           ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของสวนหมากรายหนึ่งให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “ตอนนี้เราก็สบายๆ กันอยู่แล้ว แต่ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมา เรากลัวว่าเราจะลำบาก เขาบอกว่าจะได้ไฟฟ้า จะได้ถนน แต่ถ้าถามจริงๆ ถ้ามีโรงไฟฟ้าขึ้น ต้นไม้มันจะงอกงามเหมือนตอนนี้ไหม ตอนนี้มันไม่เป็นโรค เรากลัวว่าพอมันเป็นโรค มันจะเสีย เน่า แล้วขายไม่ได้ และถ้าขายไม่ได้ เราก็จะไม่มีกิน”
 
                           เสียงของชาวบ้านอังแตงและหมู่บ้านใกล้เคียง สะเทือนไปถึงกลุ่มคนในเมืองเย ซึ่งเป็นเมืองท่าและเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของรัฐมอญ กลุ่มและองค์กรภาคประชาสังคมของเมืองเยจึงได้รวมตัวและร่วมมือกันเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมภาพและเรื่องราวจากชุมชนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ รวมทั้งบทเรียนราคาแพงกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะของประเทศไทยด้วย
 
                           แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมอญเลือกที่จะยืนเคียงข้างเสียงของประชาชนที่คัดค้านโครงการดังกล่าว โดยประกาศไม่อนุญาตให้บริษัทโตโย-ไทย เข้าไปดำเนินการสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เนื่องจากโครงการนี้เป็นการตัดสินใจมาจากรัฐบาลกลาง การรักษาพื้นที่พะลึง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ซ้ำร้าย เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา บริษัทโตโย-ไทย ได้ลงนามในบันทึกความตกลงการลงทุน (เอ็มโอเอ) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า ประเทศเมียนมาร์ 
 
                           สำหรับบริษัทและนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย ข่าวนี้อาจเป็นข่าวที่วิเศษเพราะทำให้หุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นทันทีเกือบ 22% แต่มันคือเมฆดำทมิฬเหนือบ้านอังแตงและหมู่บ้านใกล้เคียง ปกคลุมไปทั่วทั้งทุ่งนาสวนหมาก หาดเลน ลำห้วย และป่าชายเลน ที่ชาวบ้านได้พึ่งพา ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าชะตากรรมของพวกเขาเองจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เขาอยากจะบอกนักลงทุนคือ “อย่าสร้างมันเลย อย่ามาทำที่นี่ เพราะถ้าทำ มันจะทำให้เกิดสารพิษ ทำให้บ้านเราเสียหาย ทำให้ต้นไม้เป็นโรค และทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ตอนนี้มันจะเปลี่ยนไป”
 
                           ในฐานะนักเดินทางจากประเทศไทย ผู้เป็นคนนอกของแผ่นดินมอญ เราไม่อยากเห็นชุมชนมอญแห่งนี้และธรรมชาติอันมหัศจรรย์ของพวกเราต้องเผชิญโศกนาฏกรรม ไม่ว่าราคาหุ้นจะพุ่งขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่ากำไรจากธุรกิจไฟฟ้าในอนาคตจะสูงเพียงใด มันก็คือผลประโยชน์ของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องแลกกับซากปรักหักพังของวิถีชีวิตและระบบนิเวศของพี่น้องเพื่อนบ้านเรา
 
 
 
 
 
---------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : มหัศจรรย์ความงามชีวิต-ธรรมชาติ ที่บ้านอังแตง , เมืองเย รัฐมอญ เมียนมาร์ : โดย...มนตรี จันทวงศ์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ