Lifestyle

'สถูปพระเจ้าอุทุมพร'จุดประกายค้นหาชาวอยุธยาในพม่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย'สถูปพระเจ้าอุทุมพร' จุดประกายค้นหาชาวอยุธยาในพม่า : ผกามาศ ใจฉลาด 0 รายงาน

               การค้นพบสถูปที่เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือกรมขุนพรพินิต) พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 32 แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ณ บริเวณสุสานลินซินกง หรือสุสานล้านช้าง เมืองอมรปุระ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 หรือประมาณ 3 ปีก่อน จนกระทั่งบัดนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันในวงการนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่ไม่อาจสรุปได้ว่า สถูปองค์ดังกล่าวเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิจริงหรือไม่ เพราะยังมีหลักฐานไม่ชัดเจนพอ และยังพบหลักฐานใหม่ที่ต้องรอการพิสูจน์อีกว่า สถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรอาจไม่ได้อยู่อมรปุระ แต่อยู่ที่เมืองสะกายก็เป็นได้

               เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของพม่า ที่ขณะนี้กำลังเฟื่องฟู ทำให้คณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์มีแผนปรับสภาพพื้นที่สุสานลินซินกง ซึ่งมีสถูปที่เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จนกระทรวงการต่างประเทศของไทยตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถูป ตลอดจนติดต่อประสานงานเพื่อขอให้รัฐบาลพม่าชะลอการรื้อถอนสถูปไว้ก่อน ด้วยการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของพม่า จนในที่สุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 นายอู ออง เมียง นายกเทศมนตรีเมืองมัณฑะเลย์ แจ้งว่า เทศบาลเมืองมัณฑะเลย์ระงับแผนการพัฒนาพื้นที่สุสานลินซินกงก่อนและพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยในการศึกษา

               งานนี้โต้โผใหญ่ที่เชื่อได้ว่าสถูปของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรตั้งอยู่ที่เมืองอมรปุระ วิจิตร ชินาลัย สมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งเป็นสถาปนิกอำนวยการโครงการอนุรักษ์โบราณสถานและอุทยานประวัติศาสตร์เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร ทำการในนามสมาคมจิตพรรณ กล่าวว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 พระองค์ยังทรงอยู่ในสมณเพศ และถูกนิมนต์มาอยู่ที่เมืองอังวะพร้อมกับพระวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ รวมทั้งราษฎรไทยที่ถูกกวาดต้อนมา พระองค์ทรงจำพรรษาที่เมืองอังวะและอมรปุระจนถึงปี พ.ศ.2339 และสวรรคต ณ เมืองอมรปุระ

               “เราได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์เรียบร้อยแล้ว เริ่มขุดค้นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 จนถึงปัจจุบันมีหลักฐานแวดล้อมที่เชื่อว่า สุสานลินซินกง ในเมืองมัณฑะเลย์แห่งนี้ เป็นที่ตั้งสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อันได้แก่ การพูดคุยกับชาวบ้านในย่านนั้น การค้นพบฐานเจดีย์ที่เป็นบริเวณถวายพระเพลิงของกษัตริย์ต่างชาติในประเทศราช พระองค์เดียวที่พระเจ้าผดุง พระมหากษัตริย์พม่าจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพให้ และมีการสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิอุทิศถวาย หลังจากนั้นเมืองอมรปุระก็ล่มสลายไป การค้นพบภาชนะทรงบาตรบรรจุพระบรมอัฐิ รัดประคดห่อหุ้มด้วยจีวร ไม่นับรวมหลักฐานของนักโบราณคดีชาวพม่าอย่างหม่องวิน ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในการขุดค้นโบราณคดีด้วย” วิจิตร กล่าว

               อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เรื่องดังกล่าวกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมศิลปากร ซึ่งมี นางโสมสุดา ลียะวณิช เป็น อธิบดีกรมศิลปากร ขณะนั้น ได้แจ้งต่อกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า สถูปยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงพอและเมื่อวิเคราะห์ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแล้ว ในเบื้องต้นเห็นว่า ไม่ใช่รูปแบบศิลปะไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มีความเห็นว่ายังไม่ควรรื้อสถูป ซึ่งจะเป็นการทำลายหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ สมควรที่จะศึกษาสำรวจแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการระหว่างนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีของไทยและพม่า

               ขณะเดียวกัน นายสุทธิพันธ์ ขุทรานนท์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า กรณีพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เคยพูดกันมาแล้วตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปรากฏในบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพม่า ซึ่งทรงบันทึกเมื่อคราวเสด็จเมืองพม่าเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2478 ขณะประทับที่ปีนัง ทรงพระนิพนธ์ว่า เมื่อเสด็จกลับมาถึงปีนังจึงทรงทราบว่าเสียโอกาสไปอย่างหนึ่ง ด้วยเคยทรงทราบแต่ในรัชกาลที่ 5 ว่า เขาพบที่บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินสยาม คือ พระเจ้าอุทุมพร หรือ ขุนหลวงหาวัด ซึ่งไปสวรรคตที่เมืองพม่า

               “ทรงสืบถามตั้งแต่ที่เมืองย่างกุ้งไปจนถึงเมืองมัณฑะเลย์ก็ไม่พบผู้รู้ว่ามีพระเจดีย์องค์นั้น พวกกรมตรวจโบราณคดีก็ยืนยันว่า ที่เมืองอังวะเขาตรวจแล้วไม่มีเป็นแน่ แต่ครั้นเมื่อเสด็จกลับถึงปีนังทรงเปิดหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีบันทึกว่า พม่าให้ไทยที่กวาดไปครั้งเสียกรุงนั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองจักกาย หรือสะกาย นั่นเอง”

               นายสุทธิพันธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ใน พ.ศ.2545 นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร ให้ความเห็นสรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร และเสนอความเห็นว่า พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรควรตั้งอยู่ที่เมืองสะกาย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองรัตนะบุระอังวะ มากกว่าเมืองมัณฑะเลย์ รวมไปถึง ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ก็มีบทความของ ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร เรื่อง การสืบค้นร่องรอยโยเดียในพม่า และจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดมหาเตงดอจี เมืองสะกาย เป็นหลักฐานล่าสุดเกี่ยวกับชาวอยุธยาในพม่าสมัยราชวงศ์หญ่าวยัน (พ.ศ.2140-2284) ซึ่งศึกษาร่วมกับ รศ.ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการศึกษาเรื่องชาวอยุธยาในพม่า

               ทั้งนี้ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เห็นว่า ด้วยหลักฐานและเอกสารยังไม่ชัดเจน จึงไม่อาจสรุปได้ว่า สถูปองค์ดังกล่าวเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิหรือไม่ ควรจะมีการศึกษาให้รอบด้านก่อน และเห็นว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์มากไปกว่านั้น ได้เกิดการจุดประกายให้มีการตื่นตัวศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนชาวอยุธยาในพม่า ซึ่งมีแนวทางสืบค้นหาครอบครัวเชื้อสายไทยที่ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่โดยไม่อพยพไปอยู่ที่อื่น รวมไปถึงตรวจสอบเอกสารจากหอจดหมายเหตุในมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง อินเดีย และอังกฤษ ให้ละเอียดรอบคอบก่อนสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง

.......................

(หมายเหตุ : ย้อนรอย'สถูปพระเจ้าอุทุมพร' จุดประกายค้นหาชาวอยุธยาในพม่า : ผกามาศ ใจฉลาด 0 รายงาน )

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ