Lifestyle

มรภ.บุรีรัมย์'ศูนย์เรียนรู้ภาษาอาเซียน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มรภ.บุรีรัมย์ เดินหน้า 'ศูนย์เรียนรู้ภาษาอาเซียน' : เรื่อง / ภาพ ... ปัญญาพร สายทอง

 

                         "เพื่อให้นักศึกษารวมถึงอาจารย์มีความกระตือรือร้นทางด้านภาษามากยิ่งขึ้น ได้สร้างแรงจูงใจ ด้วยการระบุว่าหากสามารถทำคะแนนได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จะได้สิทธิพิเศษไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่าง เวียดนาม กัมพูชา ส.ป.ป.ลาว"

                         มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ได้เตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งในระดับบุคลากรอย่าง อาจารย์ นักศึกษา รวมไปถึงการต่อยอดลงถึงชุมชน ให้มีความสามารถเรียนรู้ภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ จึงได้จัดตั้งศูนย์อาเซียนขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีศูนย์เขมรศึกษา ศูนย์เวียดนาม ศูนย์จีน และศูนย์ลาว ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านภาษาอาเซียน ที่มีบุคลากรจากประเทศนั้นๆ มาเป็นวิทยากร

                         รศ.มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวต่อ "คม ชัด ลึก" ว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีเวลาเหลืออีกเพียง 1 ปีเท่านั้น ในการเตรียมตัว และเนื่องจากมรภ.บุรีรัมย์ ติดกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา ส.ป.ป.ลาว เวียดนาม ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงเตรียมพร้อมอาจารย์ พนักงานสายสนับสนุน หรือแม้แต่นักศึกษา ทางด้านภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้สามารถสื่อสารในประเทศอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                         "มีการอบรมสำหรับอาจารย์ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษหลายครั้ง รวมถึงนักศึกษาที่ต้องมีประเมินความสามารถทางภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นปี 1 เนื่องจากนักศึกษามีพื้นฐานความรู้ที่ไม่เท่ากัน มาจากโรงเรียนที่ต่างกัน เพื่อให้นักศึกษารวมถึงอาจารย์มีความกระตือรือร้นทางด้านภาษามากยิ่งขึ้น จึงได้สร้างแรงจูงใจ ด้วยการกำหนดว่าหากสามารถทำคะแนนได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จะได้สิทธิพิเศษไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่าง เวียดนาม กัมพูชา ส.ป.ป.ลาว" รศ.มาลิณี  กล่าว

                         รศ.มาลิณี กล่าวต่อว่า ยังบรรจุภาษาอังกฤษในรายวิชาในภาษาทั่วไป โดยเพิ่มหน่วยกิตจาก 6 เป็น 9 และ 12 หน่วยกิตในปัจจุบันนี้ เน้นการพูดเป็นหลัก เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำเอ็มโอยูกับหลายประเทศ อาทิ กัมพูชา ลาว และที่กำลังดำเนินการ คือ เวียดนาม จะมีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน

                         ผลจากการทำเอ็มโอยูกับทางประเทศเพื่อนบ้าน รศ.มาลิณี  กล่าวต่อว่า ทำให้มีนักศึกษาจากลาว กัมพูชา เข้ามาเรียนที่ มรภ.บุรีรัมย์ โดยเฉพาะนักศึกษากัมพูชาจากทุนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เข้ามาเรียนหลายรุ่น มหาวิทยาลัยจึงได้ตั้งศูนย์การสอนภาษาไทยอยู่ที่ประเทศกัมพูชาแล้ว เพื่อทำงานร่วมกันและเป็นการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ และเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดงาน "ราชภัฏมหกรรมสมบัติอีสานใต้สู่อาเซียน" เป็นความร่วมมือด้านวัฒนธรรม จากลาว เวียดนาม กัมพูชา จีน หรือแม้แต่ประเทศพม่า และประเทศบังกลาเทศที่ให้การตอบรับ เป็นกิจกรรมเนื่องถึงปี 2558 ซึ่งเป็นปีสู่การเป็นอินเตอร์ และได้เตรียมโรดแม็พชายแดนกัมพูชา เพื่อเปิดกว้างให้ชาวกัมพูชามาเรียนที่ มรภ.บุรีรัมย์ได้ โดยไม่ต้องใช้ทุนการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยจะอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นการจัดรถไปรับ-ส่งที่ชายแดน

                         รศ.มาลิณี กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยยังได้เสริมทักษะทางด้านภาษาอังกฤษใน7 วิชาชีพ ที่แลกเปลี่ยนการทำงานในอาเซียนได้ เช่น งานบัญชี ปีนี้จึงได้ให้งบประมาณกับห้องปฏิบัติการบัญชี เพื่อเน้นเชิงรุกอย่างเข้มข้น ทำให้มีนักศึกษาให้ความสนใจกับวิชาการบัญชีเป็นจำนวนมาก ซึ่งสภาวิชาชีพการบัญชีได้ตอบรับมหาวิทยาลัยแล้ว ทั้งนี้ภาษาเพื่อนบ้านอย่าง ลาว เวียดนาม จีน กัมพูชาก็ไม่ทิ้ง  มรภ.บุรีรัมย์มีศูนย์การเรียนรู้อาเซียน ที่รวบรวมทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ อาหาร รวมถึงข้อมูลต่างๆ ฯลฯ

                         "กำลังจะสร้างศูนย์ศึกษาอินโดนีเซีย เนื่องจากมีพระจากประเทศอินโดนีเซียมาบวชที่วัดทุ่งโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ เกือบ 20 รูป เน้นการใช้วิทยากรท้องถิ่นจริงๆ เพื่อที่จะเรียนรู้ภาษาอินโดนีเซียอย่างแท้จริง ทุกโครงการจะลงสู่ชุมชน อาจารย์ของเราและมหาวิทยาลัยต้องกลืนไปด้วยกันกับชุมชนถึงจะเป็นวัฒนธรรมอาเซียนจริงๆ" รศ.มาลิณี กล่าว

                         รศ.มาลิณี กล่าวด้วยว่า สำหรับภาษาอังกฤษนักศึกษาอาจจะยังพูดได้น้อย แต่ภาษาเพื่อนบ้าน เช่น ภาษากัมพูชา  ชาว จ.บุรีรัมย์ หลายอำเภอ หลายตำบล สื่อสารภาษากัมพูชารู้เรื่อง เพราะที่ติดชายแดนกัมพูชา อีกทั้งนักศึกษากัมพูชามาเรียนที่ มรภ.บุรีรัมย์ ด้วย มหาวิทยาลัยจึงเชิญมาเป็นวิทยากรที่ศูนย์อาเซียนทางด้านภาษา เพราะถึงแม้ชาวบุรีรัมย์สื่อสารภาษากัมพูชาได้บ้าง แต่ก็เป็นภาษาท้องถิ่น หากมีการเรียนรู้จากเจ้าของภาษาจริงๆ จะสามารถเรียนรู้ทางด้านภาษา การเขียน การพูด ที่บางคำอาจจะไม่ตรงกันได้มากขึ้นและยังเป็นการแลกเปลี่ยนภาษาไทย-กัมพูชาด้วย

 

 

----------------------

(มรภ.บุรีรัมย์ เดินหน้า 'ศูนย์เรียนรู้ภาษาอาเซียน' : เรื่อง / ภาพ ... ปัญญาพร สายทอง)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ