Lifestyle

'ปฏิรูปปท.ไทย'ต้อง'ปฏิรูปการศึกษา'ก่อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ปฏิรูปประเทศไทย' ต้อง 'ปฏิรูปการศึกษา' ก่อน : ทีมข่าวการศึกษา ... รายงาน

 

                           นักวิชาการแถวหน้า "หมอประเวศ-นพ.วิจารณ์-ดร.อาจอง-ดร.สุมน" หนุนเดินหน้า “ปฏิรูปประเทศไทย” สำคัญอันดับ 1 ต้อง "ปฏิรูปการศึกษาก่อน" : หัวใจสำคัญ ต้อง “ปฏิรูปการสอนของครู เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก”

 

                           เวทีเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 24 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ในหัวข้อ "ยกระดับคุณภาพครู...เพิ่มการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน" จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนำกรณีศึกษาจาก 3 จังหวัด คือ ชัยภูมิ เพชรบุรี และกำแพงเพชร ที่ สสค.สนับสนุนโครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัดให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนที่มีท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ

                           ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานการเสวนา กล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่องค์กร สถาบัน หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์ตรงกัน คือ ต้องการปฏิรูปประเทศไทย แต่การปฏิรูปประเทศไทยเรื่องใหญ่ที่ต้องทำก่อนนั่นคือการปฏิรูปการศึกษา โดยการปฏิรูปการสอนไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้เกิดทุกพื้นที่ในชีวิต มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้ แต่ว่าที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ศักยภาพในการเรียนรู้ เพราะไปมุ่งที่การสอนหรือการบอกความรู้ ไม่ใช่การสอนให้ผู้เรียนรู้จักการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

                           "หากมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดีจะถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษย์ โดยเปลี่ยนฐานการเรียนรู้จากการใช้วิชาเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนเป็น เอาชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ทำให้เห็นว่าการศึกษาสามารถแก้ไขได้ทุกอย่างแม้กระทั่งความยากจน ด้วยการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ มีอาชีพ มีศิลปะ มีกีฬา ปฏิบัติจริงเป็นฐาน" ศ.ดร.ประเวศ กล่าว

                           การจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ในเวลาที่รวดเร็วนั้น ศ.ดร.ประเวศ ชี้ว่า ต้องใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งทุกจังหวัดมีสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้อยู่แล้ว จึงควรไปจัดทำแผนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลของพื้นที่ ใครทำอะไรดีที่ไหนก็เข้าไปช่วยส่งเสริมต่อยอดให้เข้มแข็ง ให้เป็นจังหวัดแห่งการปฏิรูปการเรียนรู้ก็เชื่อว่าคุณภาพการศึกษาของเราจะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

                           ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยทั่วโลกยอมรับตรงกันว่า ถ้าจะยกระดับคุณภาพการศึกษา ต้องพัฒนาครูเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่หลักสูตร ต้องระวังว่าหลักสูตรคือสิ่งที่อยู่ในกระดาษ อาจจะไปไม่ถึงห้องเรียน และครูที่ดีในยุคนี้คงไม่เหมือนครูที่ดีในสมัยก่อน ครูที่ดีในยุคนี้ต้องเป็นครูที่ไม่ทำหน้าที่สอนแบบถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองเหมือนเป็น "โค้ช" ที่คอยให้คำแนะนำแก่นักกีฬา เน้นตั้งคำถาม ตอบคำถาม ชวนคิดไตร่ตรองสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง

                           "ครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ และต้องกล้าที่จะตอบเด็กว่าไม่รู้ เพราะครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ต้องรู้จักแนะนำแหล่งค้นหาความรู้ให้แก่ผู้เรียน และที่สำคัญการเรียนในยุคนี้ ไม่ใช่แค่ได้ความรู้ แต่ต้องสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตการทำมาหากินและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วย แต่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะผู้ใหญ่ในวงการศึกษาส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าการศึกษาที่ดีต้องเป็นรูปแบบที่ตัวเองเคยได้เรียนมาในอดีต จึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน ทั้งที่โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก" ศ.นพ.วิจารณ์ ระบุ

                           ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยและคิดว่าเหมาะสมที่สุดในการที่จะปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ แต่ขอเสนอเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จะต้องปฏิรูปคือการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง เนื่องจากทุกวันนี้ ไม่รู้ว่าตนเองคือใคร เกิดมาเพื่ออะไร อยู่บนโลกใบนี้ทำไม ดังนั้นการเรียนรู้แบบนี้ครูต้องเป็นต้นแบบ เพราะครูมีความสำคัญเป็นแม่พิมพ์ของชาติ โดยครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ไม่เน้นวิชาการ แต่ใช้การฝึกสมาธิ เด็กไม่ต้องพยายามเป็นคนเก่ง แค่เข้าใจวิธีการ ขั้นตอนของการเรียนรู้ รู้จักพิจารณาตัวเอง เข้าใจตัวเอง เด็กก็จะเก่งได้เอง

                           ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส.กล่าวว่า การปฏิรูปการเรียนรู้จะทำไม่ได้ถ้าไม่ทำให้ตรงกับความหมาย จึงต้องคิดกลับทางออกจากกรอบคิด ติด ยึดที่ทำไว้เดิม และต้องเข้าใจว่า การพัฒนาครูไม่ใช่การไปแก้ปัญหาครู หนี้ครู ความสุขทุกข์ของครู ซึ่งไม่ใช่ ต้องให้เด็กและครูเรียนรู้ไปพร้อมกัน การแก้ปัญหาของเด็กทำให้ครูมีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา เราไม่ได้ปฏิรูปการสอน แต่เราปฏิรูปการเรียนรู้ และหลงว่าการปฏิรูปหลักสูตรคือการแก้เนื้อหาของหลักสูตรโดยส่วนกลาง ซึ่งไม่ใช่

                           "ดิฉันขอยืนยันการแก้หลักสูตรเป็นแนวดิ่ง ทำให้การปฏิรูปหลักสูตรช้า ยากและสื่อสารลำบาก ฉะนั้นจำเป็นจะต้องจับสาระการเรียนรู้ที่เด็กอยากรู้ แต่ไม่ได้เรียน ที่ผ่านมาเราปฏิรูปมาตรฐานคุณภาพการศึกษาโดยดูที่คะแนนสอบ แต่ไม่เคยดูที่ชีวิตของเด็ก ทำให้ไม่ได้เห็นคุณภาพชีวิตอีกหลายด้าน ซึ่งส่วนกลางจะดูไม่ตลอด จำเป็นต้องให้จังหวัดดูคุณภาพชีวิตเด็กของพื้นที่ตนเองเป็นอย่างไร เนื่องเพราะความรู้ที่แท้จริงอยู่ที่สติ ปัญญา ความคิดและความสามารถ" ศ.กิตติคุณ สุมน กล่าว

                           ศ.กิตติคุณ สุมน กล่าวต่อว่า ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการปฏิรูปการศึกษาคือ ความสำเร็จของการแก้ปัญหาการศึกษา ที่ต้องกระจายอำนาจการศึกษาลงไปที่จังหวัด, ลงไปที่เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งไม่ใช่กระจายพลังอำนาจ แต่เป็นการกระจายอิสระในการบริหารจัดการ (Autonomy) ฉะนั้นอยากเสนอให้ 10 จังหวัด คือ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยภูมิ น่าน เพชรบุรี ภูเก็ต ยะลา ลำพูน สุรินทร์ และอำนาจเจริญ สร้างกระบวนการสืบสมบัติทางปัญญาแต่ละจังหวัดรุ่นต่อๆ ไป มิฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาแบบ Autonomy จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครสืบทอด

 

 

--------------------------

('ปฏิรูปประเทศไทย' ต้อง 'ปฏิรูปการศึกษา 'ก่อน : ทีมข่าวการศึกษา ... รายงาน)

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ