Lifestyle

ปล่อย'นีโม่'คืนถิ่นปลูกสำนึกรักษ์บ้านเกิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวนเยาวชนสตูล ปล่อย 'นีโม่..คืนถิ่น' ปลูกสำนึกใส่ใจธรรมชาติรักษ์บ้านเกิด : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร

 

                          นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยอาจไม่รู้ว่า สัตว์ทะเลน้อย ใหญ่ สวยงามตระการตาที่ดำน้ำลงไปดูนั้น อาจมีบางสายพันธุ์ บางชนิดที่ลดน้อยลงไปทุกวัน..ทุกวัน นักศึกษาสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย รุ่นที่ 111 (สจว.111) ซึ่งเป็นบุคลากรจากภาครัฐและเอกชน จัดโครงการ “นีโม่..คืนถิ่น” ปล่อยพันธุ์ปลาการ์ตูนกว่า 400 ตัวกลับคืนสู่ธรรมชาติ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติตะรุเตา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล กรมประมง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.สตูล และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดภาคใต้ ช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชนในพื้นที่ จ.สตูล บนหมู่เกาะอาดัง ราวี และหลีเป๊ะ

                          นิติธร วงศ์ยืน ประธานนักศึกษาหลักสูตร สจว.111 เล่าว่าขณะนี้ปลาการ์ตูน หรือปลานีโม่ ในหมู่เกาะ จ.สตูล กำลังสูญพันธุ์ ทั้งที่เป็นสัตว์ทะเลที่สวยงาม มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมธรรมชาติที่หมู่เกาะจ.สตูล เพราะธรรมชาติทะเลภาคใต้ เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ โครงการปล่อยพันธ์ปลาการ์ตูนคืนสู่ธรรมชาติ ที่นอกจากเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และหน่วยงานภายนอกแล้ว ยังเป็นสร้างสมดุลให้กับสภาพธรรมชาติที่กำลังจะสูญเสียไปให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต

                          ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันหวงแหน ดูแลรักษาเอาไว้ เพราะถ้ามนุษย์หลงใหลความสวยงาม แต่ลืมใส่ใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปณพล ชีวะเสรีชล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล กล่าวว่าระบบนิเวศบริเวณหมู่เกาะ จ.สตูล มีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีหลายหน่วยงานเข้ามาให้การดูแลรักษา รวมถึงศึกษาวิจัยพัฒนาชายฝั่ง เพราะที่ผ่านมาโดยเฉพาะปี 2555 มีปัญหาเรื่องปะการังฟอกขาว

                          ซึ่งปะการังถือเป็นแหล่งอาหาร ที่พักพิงของสัตว์น้ำ หากมีการรักษาแนวปะการังไว้ได้ก็เท่ากับเป็นการดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาเป็นดังเดิมอีกครั้ง การปล่อยปลาการ์ตูน โดยร่วมกับคนในท้องถิ่น เด็กและเยาวชนเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยทำให้เกิดกระบวนการดูแลระบบนิเวศที่สำคัญของท้องทะเล และยังช่วยปลูกฝังให้เด็กเยาวชนได้เห็นความสำคัญในการร่วมรักษ์ หวงแห ดูแลบ้านเกิดท้องถิ่น ธรรมชาติท้องทะเล

                          ผู้พิทักษ์แนวปะการังที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เป็นคนนอกพื้นที่ แต่ต้องเป็นคนในพื้นที่ คีนัน พัทลุง เจ้าหน้าที่กลุ่ม Reep Guardian (รีฟ กาเดี้ยน) จ.สตูล เล่าว่าในแต่ละเดือนจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวหมู่เกาะหลีเป๊ะ อาดัง ราวี มาดำน้ำดูปลาสวยงาม ปลาทะเลและแนวปะการังที่สมบูรณ์ หรือมีบางพวกที่มาจัดโครงการรณรงค์ร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลใต้ มาปล่อยปลาจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งสายพันธุ์ปลาที่มาปล่อย กับปลาที่ต้องมาอาศัยอยู่ในท้องทะเลนั้นแตกต่างกัน จึงอยากให้ทุกหน่วยงานที่มาปล่อยปลา หรือร่วมดูแลรักษ์ท้องทะเล ให้ศึกษาข้อมูล และประสานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้การดูแล หรือร่วมอนุรักษ์ก่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

                          “การปล่อยปลาลงทะเลไม่ใช่เป็นเพียงนำมาปล่อย แต่ต้องมีการศึกษาข้อมูล เพราะน้ำทะเลกับน้ำที่ปลาเคยอาศัยมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน หรือสายพันธุ์ปลาต่างกัน ต้องเรียนรู้ธรรมชาติ และทำความเข้าใจ ประสานกับคนในพื้นที่ ที่สำคัญควรดึงนักเรียน เด็กเยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อปลูกฝังให้พวกเขารู้จักรักษ์ หวงแหนแหล่งข้าวแหล่งน้ำ แหล่งธรรมชาติท้องทะเลบ้านเกิดของตนเอง เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อโตขึ้นหลายคนมักทิ้งความศิวิไลซ์ทางธรรมชาติ ไปสนใจศิวิไลซ์ของนักลงทุนในเมือง ทั้งที่ธรรมชาติท้องทะเลใต้เป็นทุนธรรมชาติที่เด็กในท้องถิ่นมีมากกว่า และควรค่าแห่งการดูแลอนุรักษ์ไว้”

                          เช่นเดียวกับ "น้องกาฟิล" คมชาญ ชนะกุล และ "น้องมิมิ" สายธาร ทะเลลึก นักเรียน ม.3 โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมดำน้ำไปปล่อยปลานีโม่ในโครงการนี้ เล่าว่า ดีใจมากที่พี่ๆ สจว.รุ่น 111 ได้มาปล่อยปลานีโม่ ปลาการ์ตูนที่นอกจากจะช่วยรักษาความสมดุลทางท้องทะเลไว้แล้ว ยังเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมดูแลท้องทะเลบ้านเกิดของตนเอง เพราะตลอดการเรียนในโรงเรียนแม้ครู โรงเรียนจะมีวิชาอัตลักษณ์ สอนให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมบ้านเกิดของตัวเอง และสอนความเป็นมัคคุเทศก์น้อย ที่สามารถหารายได้เสริมระหว่างเรียนอีก

                          ทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความเป็นอยู่ธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวของบ้านเราอีกด้วย สนใจเที่ยวทะเล ดำน้ำชมปะการัง ฝูงปลาน้อยใหญ่สวยงาม ติดต่ออุทยานแห่งชาติตะรุเตา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล 91110 โทรศัพท์ 0-7478-3597 อีเมล  [email protected] กลุ่มรีฟ กาเดี้ยน โทร.08-3169-3239

 

 

-------------------------

(ชวนเยาวชนสตูล ปล่อย 'นีโม่..คืนถิ่น' ปลูกสำนึกใส่ใจธรรมชาติรักษ์บ้านเกิด : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ