Lifestyle

เงินสะพัด200ล้านสอบทุจริตครูผู้ช่วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เงินสะพัด 200 ล้าน สอบทุจริตครูผู้ช่วย ส่อมวยล้ม!! : โดย...สุพินดา ณ มหาไชย

                 ช็อก!!วงการวิชาชีพครูไทย เมื่อ "หวานใจเจ๊เบียบ"เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) หอบเอกสารสำคัญให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบการสอบบรรจุครูผู้ช่วยทั่วประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 แนะนำไปสู่การตรวจสอบ แต่ส่อเป็น"มวยล้ม"

               "ทุจริตสอบครูผู้ช่วย" กลายเป็น "มะเร็งร้าย" ที่ฉุดให้เนื้องาน ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องสนองนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร" ต้องยุ่งอีนุงตุงนัง แถมยังเกิดวิกฤติศรัทธาต่อวิชาชีพครูตามมาอีกด้วย

               ว่ากันว่า ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา) เคยพูดไว้ในวงประชุมวิชาการแห่งหนึ่งว่าการสอบคัดเลือกครูครั้งหนึ่งที่ออกข้อสอบโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) มีผู้มาเข้าสอบ 1.9 แสนคน  แต่สอบผ่านเพียง 3,000 คน หรือประมาณ 1.5% เท่านั้น

               แต่ในการสอบครูผู้ช่วยครั้งอื้อฉาวมีผู้เข้าสอบแค่ 9,242 คน กลับมีผู้ปัญญาเลิศทำคะแนนเกือบเต็ม 4 วิชา หรือบางวิชา จำนวนถึง 514 คน ในจำนวนนี้เข้าเส้นชัยได้รับการบรรจุแล้วหรือรอการบรรจุเป็นข้าราชการครูอยู่จำนวน 486 คน กระจายอยู่ใน 129 เขตพื้นที่การศึกษา ครอบคลุม 68 จังหวัด 

               คะแนนที่สูงผิดปกตินี้ เป็นหลักฐานที่ฝ่ายการเมืองใช้ตอกย้ำบ่อยครั้งให้สาธารณชนจินตนาการออกว่า การสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้มีการ "ทุจริตจริง" คะแนนดังกล่าวยังถูกใช้เป็นหลักฐานเด็ดในการสอบสวนด้วย  

               การสอบสวนทุจริตสอบครูผู้ช่วยชัดเจนขึ้นเมื่อ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ หอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือ เหตุพิเศษ ว 12 ของสพฐ. ส่งต่อให้ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบเชิงลึกตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทุจริตครูผู้ช่วย ที่มี "พิษณุ ตุลสุข"  ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธาน พบพฤติกรรมทุจริตสอบใน 3 ลักษณะ คือ มีการนำข้อสอบและคำเฉลยออกมาจำหน่าย มีการใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในขณะสอบ และมีการให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทน

                หลังการเปิดเกมของ เสริมศักดิ์ สถานการณ์ดูจะร้อนแรงขึ้น มีการ "ตีปี๊บ" รายวัน ทั้งจากดีเอสไอและกรรมการสอบของ ศธ.ว่า พบหลักฐานเด็ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โพยเฉลยข้อสอบ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ สถานที่ติวข้อสอบ พิรุธในการ เปลี่ยนแปลงระบบจัดสอบ พร้อมวิเคราะห์ว่า การทุจริตจัดสอบครั้งนี้เป็น ขบวนการ ที่รู้เห็นโดยคนใน สพฐ.ในส่วนกลางเชื่อมโยงไปถึง "กลุ่มนายหน้า" จัดหาลูกค้าในพื้นที่ ทั้งนี้ การสอบสวนจะเดินเรื่องโดยใช้ "คะแนนสอบที่ผิดปกติ" เป็นตัวคลำทาง เรียกเจ้าของคะแนนมาให้ปากคำ เพื่อหาข้อมูลสาวไปถึงตัวการใหญ่

               ทว่า หลักฐานเด็ดทั้งหมดนี้ยังไม่เคยถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณชน ขณะที่การสอบสวนก็ไม่ก้าวหน้าไปสู่การซัดทอดแก๊งผู้ค้าสักที มีแต่จับผู้ซื้อโชว์รายวัน หลักฐานเด็ดถูกเก็บงำไว้เหมือนรออะไรอยู่ ท่ามกลางการคิดคำนวณว่า วงเงินที่สะพัดในการสอบบรรจุครูครั้งนี้พุ่งสูงสุดกี่ร้อยล้านบาท และท่ามกลางกระแสข่าว แก๊งผู้ค้าวิ่งล็อบบี้ผู้ใหญ่ในพรรครัฐบาลให้ช่วยปิดเกมนี้ และแน่นอนคงไม่มีใครล็อบบี้มือเปล่า

               ในที่สุด ผลสอบของดีเอสไอสรุปว่าพบหลักฐานการทุจริตสอบชัดเจนใน 4 เขตพื้นที่การศึกษาและเสนอให้บอร์ด ก.ค.ศ.ยกเลิกการสอบในพื้นที่ดังกล่าว คือ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษา (สพป.) สพป.อุดรธานี เขต 3 สพป.ยโสธร เขต 1 สพป.นครราชสีมา เขต 2 และ สพป.ขอนแก่น เขต 3

                ทุกสายตาจับจ้องมาที่การประชุม บอร์ด ก.ค.ศ. วันที่ 22 มีนาคม ที่ใช้เวลาระดมสมองเกือบ 5 ชั่วโมงเต็ม  บอร์ด ก.ค.ศ. เลือกเข้าสู่โหมด "ลอยตัว" อ้างกฎหมายว่า อำนาจการบริหารงานบุคคลในพื้นที่เป็นของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ไม่ได้เป็นของบอร์ด ก.ค.ศ. จึงโยนให้ "อ.ก.ค.ศ." เป็นผู้สอบสวนและ "สอย" คนโกงสอบเอง  ส่วนกลางแค่ทำหน้าที่ส่งพยานหลักฐานข้อมูลให้ อ.ก.ค.ศ.เท่านั้น  โดยให้เวลา อ.ก.ค.ศ.ทำงาน 15 วัน

               มีการวิเคราะห์การกระทำของบอร์ด ก.ค.ศ.ไปต่างๆ นานา ว่ามีผลประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท เพราะมีเสียงเล่าลือว่า เฉพาะราคาขายข้อสอบพร้อมเฉลย ก็ปาเข้า 200 ล้านบาท เพื่อให้นายหน้าไปหาลูกค้ามาติวข้อสอบ โดยเสียค่าดำเนินการเป็นหลักแสน เงินสะพัดที่มากมายขนาดนี้ อาจสามารถจบปัญหาได้ รวมถึงทำให้กระบวนการตรวจสอบต่างๆ "หัวเทียนบอด" ขึ้นมาดื้อๆ ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวลือ การเมืองพัวพันผลประโยชน์ในธุรกิจโกงการสอบด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "บอร์ด ก.ค.ศ." เลือก "หลบฉาก" ออกจากความยุ่งยาก

               ว่ากันว่า  อ.ก.ค.ศ. หลายพื้นที่ เริ่มออกอาการปฏิเสธ "เผือกร้อน" นี้  และในความเป็นจริง อาศัยแค่คะแนนที่ผิดปกติคงยากจะพิสูจน์ให้เห็นคาหนังคาเขาได้ว่า "ใครเก่ง ใครโกง"  จึงเป็นเรื่องลำบากที่ อ.ก.ค.ศ.จะกล้าไปยกเลิกการบรรจุข้าราชการในรายใด ยังไม่รวมถึง อ.ก.ค.ศ.บางเขตพื้นที่ที่อาจมีหัวการค้า  พลิกแพลงหาทาง "ขุดทอง" จากคนผิดได้เช่นกัน

                จับตาเมื่อครบ 15 วัน (ก่อนสงกรานต์) จะมีกี่คนที่มีความผิดและได้รับโทษ จากจำนวนผู้มีคะแนนผิดปกติ 514 ราย แต่ประเด็นหนึ่งที่คงไม่ต้องรอคือไม่มีผู้บริหารของสพฐ.คนไหน ได้รับทลงโทษจากการทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งนี้   

 

 .............................................

(เงินสะพัด 200 ล้าน สอบทุจริตครูผู้ช่วย ส่อมวยล้ม!! : โดย...สุพินดา ณ มหาไชย )

 

 

                

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ