Lifestyle

เปิดเกณฑ์คำนวณเงินชราภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเกณฑ์คำนวณเงินชราภาพ ส่งสมทบ15ปี-อายุ55ปีรับ'เงินบำนาญ' : โดย...ธรรมรัช กิจฉลอง

               ช่วงกว่า 22 ปีที่ผ่านมาแรงงานไทยกว่า  10  ล้านคนที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการกว่า  4 แสนแห่งได้รับดูแลด้านการรักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ใน  7 กรณีได้แก่ 1.ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2.ทุพพลภาพ 3.ตาย  4.คลอดบุตร 5.สงเคราะห์บุตร 6.ชราภาพ และ7.ว่างงานผ่าน "ระบบประกันสังคม" โดยมีกองทุนประกันสังคมเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการดูแลชีวิตแรงงานไทย  ซึ่งกองทุนประกันสังคมนี้เกิดขึ้นภายใต้พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม พ.ศ.2533

               จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)  กระทรวงแรงงาน (รง.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 กองทุนประกันสังคมมีเงินกองทุนรวมทั้งหมด 991,837 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้มาจากเงินสมทบจาก 3 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างจ่ายเงินสมทบในอัตราฝ่ายละร้อยละ 5 และฝ่ายรัฐบาลจ่ายร้อยละ 2.75 ของเงินเดือนรวมทั้งหมด 716,435 ล้านบาทและผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน  275,402 ล้านบาท

               หากจำแนกลงลึกไปถึงเงินสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมแบ่งได้เป็น 4 กองทุนย่อยได้แก่ 1.กองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 862,055 ล้านบาท 2.กองทุนกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร  58,326 ล้านบาท 3.กองทุนกรณีว่างงาน 70,189 ล้านบาท และ4.กองทุนมาตรา 40 จำนวน 1,267 ล้านบาท

               นายอารักษ์  พรหมณี รองเลขาธิการสปส.ในฐานะโฆษกสปส. อธิบายว่า การเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้นมีการแยกเป็นส่วนต่างๆ โดยขอยกตัวอย่างผู้ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท  จ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 ของเงินเดือนคิดเป็นเงิน 750 บาท นายจ้างจ่ายสมทบ 750 บาท และรัฐบาลช่วยสมทบ 412.50 บาท ซึ่งเงินลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน 750 บาทแยกออกเป็นเงิน 225 บาทดูแลสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร และ 75 บาท ดูแลสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน อีก 450 บาทเป็นเงินออมกรณีชราภาพ

               ทั้งนี้ เกณฑ์การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้แก่ผู้ประกันมาตรา 33 และมาตรา 39 แบ่งเป็น 2 รูปแบบได้แก่ 1.เงินบำเหน็จชราภาพให้เป็นเงินก้อนเดียวแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนไม่ครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือตาย หรือทุพพลภาพ และ2.เงินบำนาญชราภาพให้เป็นเงินรายเดือนแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55  ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ 15  ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

               ผู้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมานาน 15 ปี แต่อายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์มารับเงินบำนาญชราภาพได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และหากผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน หรือ  5 ปีนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้เงินบำนาญชราภาพตกเป็นของลูกหลานผู้ประกันตนโดยจะได้รับในรูปแบบของเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

               หากคำนวณตามสูตรและเกณฑ์ของสปส. จะแยกเงินออมกรณีชราภาพได้ดังนี้ 1.กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน หรือ 1 ปี จะได้รับเงิน "บำเหน็จชราภาพ" ซึ่งเป็นเงินก้อนจำนวนเท่ากับเงินสมทบส่วนที่ส่งสมทบจริงกลับคืนไป ยกตัวอย่างกรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปซึ่งสมทบเดือนละ 450 บาท หากสมทบ 10 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 450 คูณ 10  เท่ากับ 4,500 บาท

               2.กรณีส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ครบ 15 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวนเท่ากับเงินสมทบส่วนที่ลูกจ้างส่งและนายจ่ายสมทบกลับคืนไปบวกดอกผลจากการลงทุนในช่วงเวลาที่ลูกจ้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามที่สปส.กำหนด

               ยกตัวอย่างกรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ 10 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 450 คูณ 2 คูณ 12 เดือน คูณ 10 ปี  คิดเป็นเงินประมาณ 108,000 บาท อาจจะได้มากกว่านี้หากรวมดอกผลจากการลงทุนของสปส.

               3.กรณีส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม จะได้รับเงิน "บำนาญชราภาพ" จ่ายเป็นรายเดือนและได้รับไปตลอดชีวิตโดยเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับคำนวณตามสูตรเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเฉลี่ย 60 เดือน หรือ 5 ปีสุดท้ายและทุกๆ 12 เดือนที่สมทบเพิ่ม (คือนับตั้งแต่ปีที่ 16 เป็นต้นไป) จะได้รับโบนัสในส่วนเพิ่มเท่ากับร้อยละ 1.5 ของเงินเดือนเฉลี่ย

               ยกตัวอย่างกรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ 15  ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 15,000 คูณร้อยละ 20 เท่ากับ 3,000 บาทต่อเดือน หรือหากส่งเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 15,000 คูณร้อยละ 20  บวก 15,000 คูณ 15 ปีที่ส่งเงินสมทบเพิ่มคูณร้อยละ 1.5 เท่ากับ  3,000 บวก 3,375 เท่ากับ 6,375 บาทต่อเดือน      

               จากการคำนวณของสปส.ตามสูตรที่กำหนดขึ้นโดยยึดฐานเงินเดือนสูงสุดที่ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท แม้ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท หรือ 40,000  บาท สปส.ก็ยึดฐานเงินเดือนดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณซึ่งพบว่า กรณีผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 9,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละประมาณ 1,800  บาท เงินเดือน 10,000 บาทได้รับเดือนละประมาณ  2,000  บาท  เงินเดือน 12,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,400 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปได้รับเดือนละประมาณ  3,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนแต่ละคนอาจจะได้รับเงินบำนาญชราภาพไม่เท่ากันโดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบและค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณการทำงาน  

                  ขณะเดียวกันในส่วนของประกันสังคมมาตรา 40  นั้นปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เกษตรกร เข้าสู่ประกันสังคมระบบนี้จำนวน 1,301,780 คน แยกเป็น ทางเลือกที่ 1 จำนวน 7,761  คนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาทโดยผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท และ ทางเลือกที่  2  จำนวน 1,294, 019 คน จ่ายเงินสมทบเดือนละ 150  บาท โดยผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท

               ทางเลือกที่  2  นั้นได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 ได้แก่  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต แต่เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณี "เงินบำเหน็จชราภาพ" ขึ้นมาอีก 1 กรณี  ซึ่งเงินบำเหน็จกรณีชราภาพนั้น จะได้รับเมื่ออายุครบ 60  ปีบริบูรณ์และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนโดยคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท 

                หากเป็นรายปีจะอยู่ที่ปีละ 600 บาทต่อคนนำมาคูณด้วยระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบและบวกด้วยเงินผลกำไรที่สปส.นำเงินส่วนนี้ไปลงทุน  แต่ถ้าผู้ประกันตนต้องการรับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท 

               "ขอยืนยันว่ายังไม่มีขยายอายุการเกิดสิทธิการรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพยังคงกำหนดไว้ที่อายุ 55 ปีบริบูรณ์เช่นเดิม เนื่องจากเป็นตัวเลขที่มีการศึกษามาดีแล้ว อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างอายุ 55 ปีบริบูรณ์และนายจ้างยังต้องการจ้างงานต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี ลูกจ้างก็มีสิทธิยังไม่ขอรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพและสามารถส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมได้ต่อไปเรื่อยๆ จนอายุ 60 ปีและขอรับสิทธิกรณีเงินชราภาพเมื่อเกษียณจากการทำงานได้" นายอารักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

................................................

(เปิดเกณฑ์คำนวณเงินชราภาพ ส่งสมทบ15ปี-อายุ55ปีรับ'เงินบำนาญ' : โดย...ธรรมรัช   กิจฉลอง)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ