Lifestyle

เสียงสะท้อนใช้'โอเน็ต'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงสะท้อนใช้'โอเน็ต'ตัดสินครูยกระดับการศกึษา หรือทำร้ายครู : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร

                ทุกครั้งที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพการศึกษาของนักเรียน “ครู” กลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา และต้องเร่งแก้ไข พัฒนา จนปัจจุบันก่อเกิดระบบการพัฒนา อบรม ประเมินคุณภาพครูมากมาย ทว่าบทบาทหน้าที่ของครูและการทดสอบมาตรฐานในศตวรรษที่ 21 ยังคงเป็นรูปแบบเดิมหรืออย่างไร?
 

                สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงจัดเสวนาโต๊ะกลมนานาชาติทางการศึกษา ครั้งที่ 1 (An Inaugural Thailand Education Roundtale:1 TIER) โดยเชิญครู บุคลากรด้านการศึกษา มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติถึงแนวทางบทบาทครูในอนาคต

                ประเดิมด้วย สุปราณี  ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพฯ กล่าวว่า โรงเรียนเห็นถึงความจำเป็นของการจัดการทดสอบมาตรฐานชาติ แต่การทดสอบดังกล่าวเปรียบเหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี โดยผลกระทบจากการนำแบบทดสอบมาใช้จะส่งผลต่อนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ซึ่งมีความตระหนักและตระหนก อาทิ การนำผลสอบโอเน็ตมาใช้ในการคัดเลือกเข้า ม.1 และ ม.4 ทำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปติว ทำให้เด็กเครียดและกดดันสูง อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตถึงมาตรฐานของข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ซึ่งพบว่ายังมีข้อผิดพลาด ส่วนข้อเสนอที่จะให้นำผลสอบโอเน็ตมาประเมินผลงานครู เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะตัวป้อนของนักเรียนแต่ละโรงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การประเมินด้วยคะแนนโอเน็ตจะไม่เป็นการยุติธรรมต่อครู

                ด้าน ศุภโชค ปิยะสันติ์  ผอ.ร.ร.ห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กล่าวว่า การใช้ผลสอบโอเน็ตควรใช้เพื่อช่วยเหลือหรือพัฒนาการศึกษามากกว่าใช้เป็นตัวตัดสินว่าครูดีหรือไม่ดี และครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนชายแดนควรมีวิทยฐานะหรือซีที่สูงกว่าครูในเมือง เห็นว่าหากใช้ผลสอบโอเน็ตเชื่อมโยงกับการเลื่อนวิทยฐานะครู ควรมีเกณฑ์ที่หลากหลาย และดูที่พัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ เช่น ครูสุขศึกษา สามารถสอนให้เด็กที่มีน้ำหนักน้อยให้มีน้ำหนักเพิ่ม หรือเด็กอ้วนให้มีน้ำหนักลดลง เป็นต้น และควรใช้คะแนนโอเน็ตเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ควรถือเป็นส่วนหนึ่ง สำหรับตน สอนนักเรียนชาวเขา เริ่มต้นจากเด็กป.1 ที่เข้ามาเรียนวันแรก ไม่ยอมใช้ภาษาไทย แต่เมื่อเด็กเรียนชั้น ป.2 ขณะนี้สามารถดูละครไทยเข้าใจแล้ว ถือว่าตนพัฒนาเด็กได้ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเอาโอเน็ตมาวัด

                ขณะที่ โรงเรียนศรีอยุธยา ผอ.เกรียงไกร สกุลประเสริฐศรี กล่าวว่า การทดสอบมาตรฐานทั้งโอเน็ต ความถนัดทั่วไป (แกต) และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (แพต) รวมไปถึง การประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ หรือเอ็นที ทำให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับคะแนน ไม่สนใจว่าเด็กจะสามารถคิดนอกกรอบได้หรือไม่ มีคุณธรรมจริยธรรมเพียงใด เด็กที่เข้าสู่กระบวนการกวดวิชาก็จะพบกับสิ่งแวดล้อมอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมการสอนเน้นเนื้อหาเพื่อสอบ และส่วนตัวเชื่อว่าการทดสอบมาตรฐานไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหาคุณภาพของเด็กและการศึกษาชาติ ควรนำผลสอบมาพิจารณาว่าเด็กจะพัฒนาด้านใดเพิ่มเติมบ้าง

                ตบท้ายด้วย รมยชนก เข็มเจริญ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนประชาอุทิศ กล่าวว่า การนำผลสัมฤทธิ์ของเด็ก อย่างการสอบโอเน็ตมาใช้ในการประเมินคุณภาพของครูนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในแต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เด็กที่โรงเรียนรับเข้ามาก็ต่างกัน บางคนมาจากครอบครัวที่สมบูรณ์ ขณะที่บางคนความต้องการพื้นฐานยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ต่อให้เอาซูเปอร์ดอกเตอร์มาสอน แต่เด็กไม่รับก็ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพเด็กได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคุณภาพครูควรมีระบบที่ชัดเจน ไม่ใช่รัฐบาลมีนโยบาย ต้องการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพเด็ก การศึกษาก็โยนมาให้ครู ทำให้ครูต้องออกจากห้องเรียนไปอบรม ไม่ได้อยู่กับเด็ก ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนเด็กอย่างเต็มที่

               ....................................................
(เสียงสะท้อนใช้'โอเน็ต'ตัดสินครูยกระดับการศกึษา หรือทำร้ายครู : โดย...ชุลีพร  อร่ามเนตร)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ