Lifestyle

'ครูกฤษณ์'นายขนมต้ม2000 ศิลปะต่อสู้ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ครูกฤษณ์'นายขนมต้ม2000 ศิลปะต่อสู้ไทย...ไม่มีวันตาย : คอลัมน์มองมุมใหม่

                นิทานชาดก ชีวิตการเป็นทหารของพ่อในช่วงสงครามโลก และการสู้รบในสนามของปู่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่พ่อเล่าให้ฟังก่อนนอน ด.ช.กฤษณ์ ฤทธิ์เดชา ฟังแล้วซึมซับความภาคภูมิใจ ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ตั้งใจมั่นที่จะเก่งและรับใช้ชาติเฉกเช่นปู่และพ่อ หนทางเริ่มขึ้นเมื่อ ด.ช.กฤษณ์ ติดตามพ่อจาก จ.สมุทรสาคร มารับผลิตผลทางการเกษตรที่ปากคลองตลาด ซึ่งผ่านสี่แยกบ้านแขกและสำนักดาบพุทไธสวรรย์ จึงมีโอกาสเห็นการฝึกศิลปะการต่อสู้หลากหลายรูปแบบ ทำให้ชอบ ซึ่งครูฝึกแนะนำให้พาผู้ปกครองมาฝากตัวเป็นศิษย์ เขาขออนุญาตแม่ แต่ได้รับคำตอบว่า "จะไปฝึกเป็นนักเลงหัวไม้ทำไม"

               กระทั่งแม่เสียชีวิตและ ด.ช.กฤษณ์  อายุ 7 ขวบ พ่อได้นำมาฝากเป็นศิษย์ อ.สมัย เมษะมาน แห่งสำนักดาบพุทไธสวรรย์ เพื่อเรียนศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ และอาจารย์เห็นว่าศิษย์คนนี้สนใจเรียนรู้มากเป็นพิเศษ จึงรับไปอยู่ด้วย พร้อมถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ประจำชาติให้โดยไม่ปิดบัง ทั้งกระบี่กระบอง มวยไทยคาดเชือก และมือเปล่า ทั้งที่ระเบียบของสำนักห้ามศิษย์แต่ละคนเรียนอาวุธมากกว่า 1 ประเภท มิเช่นนั้นจะถูกไล่ออก แต่เพราะความสนใจและตั้งใจจริงของ ด.ช.กฤษณ์ ครูจึงถ่ายทอดวิชาให้ทั้งหมด ด้วยหวังจะให้เป็นผู้สืบสานและถ่ายทอดศิลปะประจำชาติแขนงนี้ต่อไป

              เมื่ออายุถึงเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ด.ช.กฤษณ์ ใช้เวลากลางวันไปเรียนหนังสือ ส่วนตอนเย็นและวันหยุดก็ไปเรียนศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ขณะร่ำเรียนจนกลายเป็นศิษย์พี่ของสำนัก ชีวิตการเป็นครูเริ่มเปิดฉากจากการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์น้อง ระหว่างนั้นมีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่ศิลปะของไทยในต่างประเทศ เกิดความสนใจและอยากเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ของต่างชาติ ด้วยยึดคำพูดที่ว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" จึงไปเรียนที่สำนักหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำมาบูรณาการกับศิลปะการต่อสู้ของไทยและถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับให้แก่ศิษย์น้อง

              ต่อมาปี 2518 ในวัย 19 ปี ได้สอบเป็นครูพลศึกษาครั้งแรก  สอนที่สำนัก และโรงเรียนต่างๆ ในเขตหนองแขม เพราะครูกระบี่กระบองช่วงนั้นหายาก ปี 2546 อ.สมัยเสียชีวิต สำนักดาบพุทไธสวรรย์ต้องยุบ ครูกฤษณ์ได้ก่อตั้งแหล่งเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติแห่งใหม่ขึ้น ที่วัดศรีนวลธรรมวิมล ภายใต้ชื่อ "ศูนย์การเรียนรู้ ค่ายพระยาตาก" บริเวณฝั่งธนบุรี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเปิดสอนแก่ทุกคนที่สนใจ เฉพาะวันอาทิตย์ทั้งวัน มีผู้สนใจเข้าเรียนอย่างน้อยวันละ 20-40 คน ส่วนวันธรรมดา ครูกฤษณ์ ในวัย 56 ปี ทำหน้าที่ถ่ายทอดศิลปะประจำชาติแขนงนี้ในโรงเรียนระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ

              วิชาที่ถ่ายทอดให้ศิษย์ คือ ศิลปะการต่อสู้ หากคนนำไปใช้ในทางที่ดีก็จะเกิดประโยชน์ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด "คุณธรรมนำวิชาการ" จึงเป็นสิ่งที่ ครูกฤษณ์ ยึดเป็นหัวใจหลักในการสอน เน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด ก่อนที่จะเรียนทุกคนต้องสวดมนต์ กล่าวคำปฏิญาณ ระลึกถึงความกตัญญูต่อพ่อแม่ และสอนให้รู้จักหน้าที่ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงเริ่มการเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เรียนสนใจมากขึ้น

              ทักษะในการแก้ปัญหาเวลาเกิดวิกฤติ เป็นวิชาแรกที่เริ่มเรียน สอนให้รู้จักการนำวัสดุติดตัวที่หยิบจับได้มาบูรณาการเพื่อป้องกันตัว อาทิ กิ๊บติดผม เข็มขัด รองเท้า เป็นต้น วิชาที่ 2 เรียนอาวุธติดตัวที่ไม่ผิดกฎหมาย ได้แก่ หมัด เท้า เข่า ศอก จะใช้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเวลาไหนเหมาะสมที่จะใช้ วิชาที่ 3 อาวุธที่เป็นไม้ 1 อัน คือ กระบี่กระบอง ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าปัจจุบันมีอาวุธอย่างปืนและระเบิด เหตุใดยังต้องเรียนกระบี่กระบอง ครูกฤษณ์บอกว่า ต้องเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพราะแม้แต่ไม้จิ้มฟัน และแปรงสีฟันก็เป็นอาวุธได้ แต่ในการจะใช้ศิลปะการต่อสู้รูปแบบใดจึงจะเหมาะสม ผู้นั้นต้องมีสติและสมาธิ หาไม่แล้วจะแก้ปัญหาไม่ได้

             "ผมเชื่อว่าศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย ทั้งมวยไทยคาดเชือก มือเปล่า และกระบี่กระบอง จะไม่ล่มสลาย จะต้องมีการสืบทอดต่อไป ดังจะเห็นจากในอดีตที่เกือบจะสูญหาย แต่รัชกาลที่ 4 ทรงฟื้นฟูให้เป็นมรดกชาติด้วยการให้พระราชโอรสทุกพระองค์เรียนมวยไทย และสมัยรัชกาลที่ 7 ครูนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้บรรจุกระบี่กระบองเป็นวิชาพลศึกษาจนถึงปัจจุบัน และตัวผมเองจะสืบสานมรดกของชาติให้ถึงที่สุด" ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา ครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 3 ภาคกลางและภาคตะวันออก ด้านศิลปกรรม (ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย) ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าว

..............................................
('ครูกฤษณ์'นายขนมต้ม2000 ศิลปะต่อสู้ไทย...ไม่มีวันตาย : คอลัมน์มองมุมใหม่)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ