Lifestyle

เปิดโลกการศึกษามุสลิม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตอน: เจาะ“ครุศาสตร์อิสลาม”ม.อัลอัซฮัร : คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม

                   “การมีโอกาสได้ศึกษาต่อ สามารถต่อเติมชีวิตให้กับคนยากไร้ เสมือนเทียนไขที่ได้ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากส่องประกายให้ตัวเองแลัว ยังสามารถที่จะส่องแสงสว่างให้คนรอบข้าง สังคม ได้อีกด้วย”  “แบแม”  หนุ่มปัตตานี ผู้ซึ่งมีฝันและไม่เคยท้อถอยกับการใช้ชีวิตในประเทศอียิปต์ จะมาฉายภาพ คณะ “อัตตัรบียะห์ หรือครุศาสตร์”  ม.อัลอัซฮัร อย่างละเอียด

                    แวดือราแม เจะดอเลาะ หรือแบแม จบประถมจาก ร.ร.ชุมชนบ้านกรือเซะ และจบด้านศาสนาระดับซานาวี ม.ปลาย จาก ร.ร.จงรักสัตย์วิทยา (จ.ร.ว ) อ.เมือง จ.ปัตตานี  บิดาชื่อ แวสมาย เจะดอเลาะ มารดาชื่อ แมะซง ดอเฮง เป็นลูกชายคนโต ในพี่น้อง 7 คน ในครอบครัวนักปั่นขายผัก ที่ชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงจะคุ้นตาเป็นอย่างดี และยังรับจ้างทำงานทั่วไป

                    แบแม อยู่กับคุณยายตั้งแต่อายุ 8 ขวบ หลังจากแม่เขาเสียชีวิต และยังต้องดูแลน้องสาวอายุห่างกันสามขวบ ตามคำสั่งเสียของแม่ “ช่วยแม่ดูแลน้องให้ดีๆ ด้วยนะลูก” จากนั้นไม่นานพ่อก็แต่งงานใหม่และมีน้องๆ เพิ่มอีก 5 คน แบแม เดินทางไปอียิปต์ ปี 2004 ปัจจุบันอยู่ปี 4 เข้าศึกษาคณะครุศาสตร์ เอก ศึกษาศาสตร์อิสลาม วิทยาเขตไคโร เป็นนักศึกษาทุนของมหาวิทยาลัย ซึ่งคนที่จะเข้าเรียนต่อคณะนี้ ผลการเรียนต้องได้มากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

                    ปี 1 มี 16 วิชา คือ 1.วจนะและความรู้เกี่ยวกับวจนะศาสดา (อัลอาดิษวัลอูลูม) 2.เอกภาพวิทยา (เตาฮีด) 3.อรรถาธิบายกรุอ่าน (ตัฟซีร) 4.ความรู้เกี่ยวกับอัลกุรอ่าน (อูลูมกูรอ่าน) 5.วจนะศาสดา (อัลฮาดิษ) 6.พื้นฐานวิชาสังคม (อาซัซอิจญ์ติมะ) 7.หลักนิติศาสตร์จากอัลกุรอ่านและวจนะศาสนดา (ฟิกกีตาบวัสสุนนะห์) 8.หลักการปฏิบัติศาสนกิจ (ฟิกกีตาบ) 9.จริยธรรมศึกษา 10.ไวยกรณ์อาหรับและการผันคำ 11.พฤติกรรมศาสตร์ 12.หลักสูตรอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน 13.วิชาบทความวิจัย 14.อัลกุรอ่าน 15.ภาษาอังกฤษ 16.ครุศาสตร์ 
                    ปี 2 มี 15 วิชา คือ 1.ชีวประวัติเชิงวิเคราะห์ 2.เอกภาพวิทยา 3.อรรถาธิบายกุรอ่าน 4.ศาสนาเปรียบเทียบ 5.วจนะและความรู้เกี่ยวกับวจนะศาสดา (อัลอาดิษวัลอูลูม) 6.นิติศาสตร์อิสลามภาคเศรษฐศาสตร์ 7.การสอดแทรกในอัลกุรอ่าน 8.ครุศาสตร์อิสลาม 9.วรรณกรรมและวาทศาสตร์ 10.ปรัชญาและจริยธรรม 11.นิติบุคคลว่าด้วยเรื่องแบ่งมรดก 12.จิตวิทยาในกรพัฒนา 13.แนวคิดครุศาสตร์อิสลาม 14.ภาษาอังกฤษ 15.อัลกุรอ่าน

                    ปี 3 มี 20 วิชา และปี 4 มี 18 วิชา ส่วนใหญ่ จะเน้นรายวิชาเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับต่างๆ แนวทางการสอน จิตวิทยา เรื่องไอที สุขศึกษา และพลานามัย ที่สำคัญต้องไปฝึกสอนในระดับมัธยมตอนต้น และมัธยมตอนปลาย ใน โรงเรียนที่อยู่ภายใต้สังกัดมหาวิทยาอัลอัซฮัรอีกด้วย

                   “แบแม” เคยรับตำแหน่งประธานชมรม 2 สมัยและได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสมาคมนักเรียนไทยฯ เป็นบรรณารักษ์ ปี 2552-2553 และเป็นที่ปรึกษานายกสมาคมฯ ได้รับใช้สังคมไทยในต่างแดน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน รู้รัก สามัคคี ฉันพี่น้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปพัฒนาสังคม

                  "ความยากลำบากสมัยอยู่กับยายในอดีตที่ต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง ทำให้การอยู่ในอียิปต์เป็นเรื่องปกติสำหรับผม เรื่องอาหารการกินในอียิปต์สะดวกสบาย ถ้าเราถ้าทำตัวง่ายๆ และไม่เลือกมากมาย การเดินทางก็สะดวก อาหารการกินก็สมบูรณ์ ปัจจุบันนี้ผมออกมาอยู่บ้านเช่ากับเพื่อนๆ ค่าเช่าเดือนละห้าร้อยห้าสิบ ปอนด์ (ประมาณสามพันบาท) เขตรุกซี่ ห่างจากมหาวิทยาลัยไม่ไกลหนัก ปกติทางบ้านจะส่งเงินมาให้เดือนละสองถึงสามพันบาท บางเดือนคนในหมู่บ้านจะร่วมสมทบทุนให้จำนวนหนึ่ง ช่วงปิดเทอมได้เข้าเรียนต่อ กศน.ไคโร จนได้ประกาศนียบัตร ทั้ง ม.ต้น และม.ปลาย เพราะสมัยเรียนที่เมืองไทย ภาคเช้าผมเรียนด้านศาสนาอย่างเดียว ส่วนภาคบ่ายออกทะเลและรับจ้างทั่วไปจึงไม่ได้เรียนต่อด้านสามัญ

                  "แบแม" บอกว่า ความหวังหลังจบการศึกษาอยากเป็นครูอย่างที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น และการเรียนต่อปริญญาโท ด้านบริหารจัดการการศึกษา และการจัดตั้งกองทุนเด็กดีศรีหมู่บ้าน เพราะเด็กดีในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้าโดยเฉพาะเด็กยากจนที่ต้องการศึกษาแต่ไม่มีโอกาส ซึ่งนี่คือสิ่งที่เขาต้องการทำเป็นที่สุดสิ่งที่อยากเห็นการศึกษาบ้านเรามากที่สุดนอกจากความรู้ในและนอกตำราเรียนแล้ว อยากจะให้ส่งเสริมและปลูกฝังในเรื่อง มารยาท คุณธรรม จริยธรรม มโนธรรม สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ หัวใจ ความอดทน และความหวัง ถ้ามีสามสิ่งนี้ ทุกอย่างไม่ยากเกินไป 

.......................................
( ตอน: เจาะ“ครุศาสตร์อิสลาม”ม.อัลอัซฮัร : คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ