Lifestyle

เรียนรู้-ปลูกป่าชายเลน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้-ปลูกป่าชายเลน ที่อุทยานนานาชาติสิรินธร

                  การเรียนรู้วงจรปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เรียนรู้เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ขยายไปสู่ความรู้เรื่องผลกระทบจากโลกที่พัฒนาจนก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับวิกฤติอย่างต่อเนื่อง สำหรับน้องๆ  โรงเรียนอนุบาลพัฒนปัญญา แล้ว กิจกรรม "การปลูกป่าชายเลน" เป็นกิจกรรมที่เปรียบเหมือนการบริจาคตามหลักคำสั่งสอนของศาสนาอิสลาม เพราะป่าชายเลนจะกลายเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์นานาชนิด

                  นูรอานูรอ เกษศิริ ครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลพัฒนปัญญา เล่าว่า ได้ค้นหาสถานที่ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เที่ยวได้ด้วย รู้ถึงวิถีชีวิตและลงมือปฏิบัติได้จริงๆ โดยเฉพาะเปิดโอกาสให้มีกิจกรรมการปลูกป่า ก็พบว่า"อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร" เป็นที่ที่เหมาะสม โดยค้นหาทางอินเทอร์เน็ต และในวันนี้ได้พาเด็กๆ มาร่วมกิจกรรม 20 คน เป็นกลุ่มเล็กๆ เพราะโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบโฮมสคูล

                  เหตุการณ์อุทกภัยก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงเรียนตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยครูนูรอานูรอ บอกว่า "คำสั่งสอนของศาสดาตามหลักของศาสนาอิสลาม เป็นคำสั่งสอนที่สำคัญและเชื่อมโยงไปสู่การใช้ชีวิตประจำวัน เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาเป็นความเสียหายที่เกิดจากมนุษย์จะทำอย่างไรให้โลกใบนี้สวยเหมือนเดิม เป็นหน้าที่ของเรา เป็นไปตามคำสอนของศาสนาอิสลาม ดังนั้นการมาร่วมปลูกป่าชายเลนกับอุทยานฯ จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้โลกน่าอยู่"

                  นอกจากการได้ลงมือปลูกป่าชายเลนด้วยฝีมือของตัวเอง น้องๆ ยังสนุกกับสัมผัสกับต้นโกงกางและพื้นดินที่ชุ่มน้ำขณะลงไปแปลงปลูกด้วย เมื่อถามว่ารู้ไหมป่าชายเลนคืออะไร "น้องอันดา" เด็กหญิงวัย 5 ขวบ บอกว่า แปลว่าป่าที่มีเลน ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่หลายคนอมยิ้มและอดหัวเราะไม่ได้

                  ครูนูรอานูรอ บอกว่ากิจกรรมครั้งนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้วยการนำแนวความคิดเรื่องการปลูกต้นไม้ไปใช้ในโรงเรียน โดยจะปลูกต้นไม้ในโรงเรียนให้มากขึ้น เพราะตอนนี้มีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมใกล้กับโรงเรียน ทำให้มีฝุ่นมากกว่าปกติ 

                  นอกจากกิจกรรมการปลูกป่าชายเลนแล้ว ภายใน "อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร" (The Sirindhorn International Environmental Park) ยังมีกิจกรรมภายในอาคาร "ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 8 สถานี เช่น  พลังงานคืออะไร ไฟฟ้ามาจากไหน สถานการณ์พลังงาน วิกฤติสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง  

                  นอกจากนี้ภายในอุทยานฯ ยังเป็นสถานที่ที่มีการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม  โดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร  บอกว่า  ภายในอุทยานฯ ได้มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้ง 2 จุด คือ อาคารศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม บริเวณอาคารจอดรถ ขนาดกำลังผลิต 28.86 กิโลวัตต์ และค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ขนาดกำลังผลิต 16.095 กิโลวัตต์

                  รวมถึงการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า 3 จุดในพื้นที่อุทยานฯ ได้แก่ บริเวณแปลงป่าบกและพื้นที่ทำการเกษตร โดยสูบได้ 21 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การติดตั้งเพื่อสาธิตการผลิตไฟฟ้าชนาดเล็ก ระบบ Mini Wind Farm จำนวน 1 ระบบ มีกำลังผลิต 3 กิโลวัตต์ บริเวณริมฝั่งทะเลปากคลองบางตราน้อย และติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 400 วัตต์ บริเวณศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม 

                  ตลอดจนการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของดินในป่า "ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม" "ห้องเรียนธรรมชาติ" และกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ภายในอุทยานฯ จะสร้างบรรยากาศการเรียนนอกตำราที่สามารถปลุกเร้าความอยากรู้อยากเห็น ตระหนักว่าสรรพสิ่งนั้นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน มนุษย์-สัตว์-ป่า เชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยวิถีพึ่งพิง

                  คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง จะพาน้องๆ หนูๆ ไป เรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ได้ทั้งความสนุกสนานและความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน  อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตั้งอยู่ที่ 1281 ค่ายพระรามหก ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.30-15.00 น. และมีบริการที่พักสำหรับผู้มาเป็นหมู่คณะและครอบครัว สอบถามได้ที่  0 3250 8405-10 และ www.sirindhornpark.or.th

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ