Lifestyle

เด็กรามมองชีวิตคนไร้บ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เด็กรามมองชีวิตคนไร้บ้าน เรียนรู้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดย...ผกามาศ ใจฉลาด

                ในช่วงปิดเทอมนี้ น้องอุดมศึกษาหลายคนอาจจะกำลังพักผ่อนภาคฤดูร้อนกันอยู่ แต่มีน้องๆ อีกหลายคนที่ออกค่ายอาสาสำรวจพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำประโยชน์และเรียนรู้สภาพปัญหาสังคม ดังเช่นกลุ่มอาสาสมัครรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) 7 คนจับมือกันลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเบื้องต้นชุมชนคลองหลอด ใกล้กับสนามหลวงใจกลางเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ตามโครงการศึกษาปัญหา "คนไร้บ้านชุมชนคลองหลอด" โดยเฉพาะ น้องป๊อก ที่ว่างจากเรียนหนังสือและการเป็นดีเจวิทยุชุมชน 95.75 โนเรจเรดิโอ แล้ว เขาจะชักชวนเพื่อนๆ ไปค่ายอาสาในเมืองหลวงนี้

                "ทุกครั้งที่ทำค่ายทุกคนจะวิ่งไปให้ความช่วยเหลือผู้คนในชนบทห่างไกล ทุรกันดาร ทำให้ค่ายอาสาในเมืองขาดหายไป ทั้งที่ข้อเท็จจริงชนบทบางแห่งก็มีทุกอย่างครบหมดแล้ว การทำค่ายปีนี้พวกเราจึงมานั่งคิดอีกมุมกลับกันว่า กรุงเทพฯ เมืองศิวิไล เมืองที่ทุกคนคิดว่าเจริญแล้ว ผู้คนร่ำรวย แต่ด้วยการบีบรัดสังคม เศรษฐกิจ การแย่งชิงแข่งขันมากๆ ทำให้ผู้คนบางกลุ่มถูกทอดทิ้ง เกิดสลัม คนไร้บ้าน พวกเราจึงคิดทำค่ายอาสาในเมืองขึ้นกับเพื่อนๆ อาจมิได้ไปให้ความช่วยเหลืออะไรมาก แต่จะไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจต่อผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม"

                "น้องป๊อก" วีรนันท์ ฮวดศรี หนุ่มชัยภูมิ วัย 21 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ ม.ร. แกนนำอาสาสมัครโครงการกล่าวและเล่าต่อไปว่า ได้รับงบประมาณจัดทำค่ายครั้งนี้จากมูลนิธิโกมลคีมทอง สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การที่เลือกศึกษาชุมชนคลองหลอดเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพ บางคนเป็นกลุ่มที่เคยอาศัยหลับนอนที่สนามหลวง พอสนามหลวงเป็นของรัฐ ไม่สามารถเข้าไปอาศัย ไฮปาร์ค จึงย้ายมาอยู่บริเวณคลองหลอด ตนพร้อมกับเพื่อนๆ ได้เริ่มทำความรู้จักกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีผู้นำชัดเจน ต้องไปค่อยๆ พูดคุย ตอนแรกเขาจะมองพวกเราแปลกๆ ต้องเริ่มสวัสดี แนะนำตัว พวกเขาก็ยังระแวงว่าเราจะไปทำอะไร ต้องใช้เวลาสักพักถึงจะสามารถเรียนรู้พวกเขาได้

                "คนทั่วไปมองว่าคนไร้บ้านคือคนจน ไม่มีบ้าน แต่จากผลการศึกษาเบื้องต้นของกลุ่มอาสาสมัครม.ร. พบว่า บางคนมีบ้านอยู่ แต่ก็มานอนที่คลองหลอด เพราะอยากมีเพื่อน บางคนมีบ้านแต่ไม่อยากกลับบ้าน เพราะว่าไม่รู้จะอยู่บ้านไปทำไม คิดว่าน่าจะมีปัญหาครอบครัว บางคนอาชีพอยู่ที่ตลาดคลองหลอดรับจ้างเก็บขวดวันละ 100 บาท พอเก็บเสร็จก็นอนอยู่ตรงนั้น เราอาศัยพวกเขาเป็นสื่อกลางเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติจากคนในสังคมส่วนใหญ่ที่มีต่อพวกเขา จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เลวร้าย ไม่ได้ขี้เกียจ กินเหล้า อยู่ไปวันๆ บางคนขยันทำมาหากินแต่สร้างฐานะได้แค่พอเลี้ยงตัวเอง เราได้เห็นว่าทุกสังคมมีคนดี คนไม่ดีปะปนกันไป อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัว" น้องป๊อก วิเคราะห์

                ขณะที่สุขภาวะอนามัย ห้องอาบน้ำ ห้องสุขาของพวกเขาไม่เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ เทียบกับบางงานที่จัดที่สนามหลวงมีรถสุขามาบริการให้ตลอด ครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้จากเขา เพื่อที่จะให้เพื่อนของเราได้เรียนรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองความเหลื่อมล้ำที่ยังมีให้เห็นในเมืองใหญ่ๆ

                "ผมเชื่อว่าการที่เรานักศึกษาที่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาด้านกฎหมาย เมื่อเห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงแล้วว่า เกิดจากอะไร ต่อไปในภายภาคหน้า ได้มีโอกาสเข้าไปบริหารบ้านเมือง ก็จะรู้ช่องทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของชุมชน และลดช่องว่างระหว่างประชาชนคนในชาติได้"น้องป๊อกเล่าถึงประโยชน์ที่มาทำกิจกรรมค่ายนี้

                น้องป๊อก กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการนี้ได้ลงสำรวจพื้นที่จริงมาแล้ว และจะลงไปศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคมนี้อีกครั้ง สมาชิกชมรม 7 คนจะร่วมกันจัดกิจกรรมให้ความรู้ชาวชุมชนในการดูแลสุขภาพอนามัย เนื่องจากกลุ่มคนไร้บ้านนี้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการจากรัฐน้อยและสภาพความเป็นอยู่แบบนี้เอง จึงทำให้บางคนหาทางออกเพื่อดำเนินชีวิตด้วยการขายบริการทางเพศ สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การแจกถุงยางอนามัยน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพอนามัย เป็นการเรียนรู้สภาพของปัญหาแท้จริงและหาทางช่วยเหลือ

                ด้าน น.ส.วีรินทร์วดี สุนทรหงส์ ผู้จัดการโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิโกมลคีมทอง กล่าวว่า ค่ายอาสาแต่ละค่ายนอกจากจะทำให้เด็กได้เรียนรู้จิตอาสาแล้ว ยังทำให้เด็กเห็นอีกมุมที่เป็นข้อเท็จจริงของสังคม เช่น ปัญหาคนเร่รอนบริเวณคลองหลอด เด็กและเยาวชน หรือแม้แต่สังคมอาจจะมองว่าพวกคนเหล่านั้นเป็นคนจน เป็นคนไม่ดี ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาเหล่านั้น อาจจะเป็นคนดี แต่ไม่มีที่อยู่อาศัยเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ต้นเหตุของปัญหาคนไม่มีที่อยู่อาศัย การค้าประเวณี ว่ามีอยู่จริง

                "เยาวชนเหล่านี้ จะได้รับความรู้ที่ไม่มีในห้องเรียน รวมทั้งได้มีโอกาสสร้างสังคมสุขภาวะดีให้แก่ผู้เร่ร่อน อาทิ การให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แจกถุงยางอนามัย ที่สำคัญเด็กและเยาวชนจะได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งเมื่อได้มาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ก็จะได้มาช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด" วีรินทร์วดี ทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ