Lifestyle

ฟันธง!ม.วิจัยของไทยไม่มีจริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรรมการผจก.ใหญ่ปตท.ชี้ม.วิจัยของไทยไม่มีจริง แนะควรสร้างปรัชญา วางเป้าหมายทางการศึกษา อุดมศึกษาใหม่ แจงที่ผ่านมาวางไว้กลางๆ ทำให้ไทยยิ่งแย่ลง

          กรรมการผจก.ใหญ่ปตท.ชี้ม.วิจัยของไทยไม่มีจริง แนะควรสร้างปรัชญา วางเป้าหมายทางการศึกษา อุดมศึกษาใหม่ แจงที่ผ่านมาวางไว้กลางๆ ทำให้ไทยยิ่งแย่ลง ยันม.วิจัยผลิตนักศึกษาแข่งขัน เรียนและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ แย้มปตท.เตรียมตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จ.ระยอง ตั้งเป้าหมายต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศ และดีที่สุดในอาเซียน หวังเป็นตัวอย่างม.วิจัยที่แท้จริง 

          จากการประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยครั้งที่ 1 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ เมื่อเร็วๆ นี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง การวิจัยในมหาวิทยาลัยมีประโยชน์อย่างไร ตอนหนึ่งว่า โดยส่วนตัวมองว่าทุกวันนี้ ประเทศไทยยังไม่มีมหาวิทยาลัยวิจัยที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะถ้าดูปรัชญาด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย พบว่า ส่วนใหญ่ตั้งไว้แบบกลาง ๆ คือ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเพื่อสร้างคนให้เป็นคนดี ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน

          ดังนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงอยู่ในระดับกลางไปจนถึงค่อนข้างต่ำ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ไทยยิ่งแย่เข้าไปทุกที ซึ่งหากจะให้แนะนำคงต้องบอกว่ามหาวิทยาลัยควรจะสร้างปรัชญาและวางเป้าหมายทางการศึกษาใหม่ อุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต้องเป็นหน่วยงานที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับชาติไทย เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ที่ต่างกับมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่สอนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องแข่งผลิตนักศึกษาที่สามารถแข่งขัน เรียนอยู่สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งม.วิจัยต้องตอบโจทย์เหล่านี้ 

          อย่างไรก็ตาม การไม่เกิดม.วิจัยของไทย อาจมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนให้ รวมถึงระบบการทำงานที่ม.วิจัยแท้จริงต้องมุ่งทำงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมในลักษณะ Frontier Technology หรือเทคโนโลยีไร้พรหมแดน แต่ม.วิจัยของประเทศไทยที่มีอยู่ขณะนี้มีเพียงชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้ทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง 

          ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาประเทศ โดยแต่ละประเทศจะทุ่มงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยจำนวนมาก เช่นในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในปี ค.ศ.1962 ประเทศไทยเคยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มากกว่าประเทศเกหาหลีใต้ถึง 2 เท่าตัว แต่หลังจาก ปีค.ศ.1982 ประเทศเกาหลีเปลี่ยนแปลงประเทศโดยใช้การศึกษาและเทคโนโลยี เป็นตัวนำ และทุ่มเงินลงไปเพื่อพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสูงมาก ทำให้ปัจจุบันประเทศเกาหลีมี GDP สูงกว่าไทยเกือบ 10 เท่า ต่างกับประเทศไทยคือ ไม่ให้ความสำคัญเพราะกลัวว่าเอกชนจะจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ 

          นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีขึ้นมาเพราะเป็นประเทศที่ใช้การศึกษาในการพัฒนาประเทศอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญเกาหลี จะตั้งม.วิจัยจำนวนมากขึ้น และทั่วประเทศ โดยให้ทุนการศึกษา จัดหาอาจารย์ที่ดีมีคุณภาพ รวมถึงจัดหาสถานที่เรียนที่เหมาสม เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการเรียนรู้ ทำให้แต่ละแห่งจะสร้างงานวิจัยขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศได้ ทั้งที่เกาหลี ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งออกเหมือนบ้านไทยแต่เกาหลีกลับมีรายได้หรือ GDP สูงขึ้นทุก ๆ ปี

          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปตท.เป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผลกำไรสุทธิของปตท.ในปีนี้เท่ากับงบประมาณแผ่นดินทั้งประเทศ คือ 2.4 ล้านล้านบาท และมีแผนในการลงทุนทุก ๆ 5 ปี ใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท และที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ปตท.จัดสรรงบประมาณ 3% ของกำไรสุทธิ เพื่อพัฒนางานวิจัย ดังนั้นขณะนี้ปตท.จึงเตรียมที่จะตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จ.ระยอง ในพื้นที่ 200 ไร่ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศ และดีที่สุดในอาเซียน ที่ตัดสินในทำแบบนี้เพื่อจะให้เห็นตัวอย่างว่าม.วิจัยที่แท้จริง เป็นแบบใด และหวังว่าต่อไปภาคเอกชนอื่น ๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ