Lifestyle

'มหิดล'ตั้งเป้าม.วิจัยระดับโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดวิสัยทัศน์ : 'มหิดล' ตั้งเป้าม.วิจัยระดับโลก - สนองนโยบายเมดิคอล ฮับ : โดย ... ชุลีพร อร่ามเนตร

          มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาไทยที่มีวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย โดยเริ่มจากการเป็นโรงศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทยากร โรงเรียนราชแพทยาลัย เป็นเพียงคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้รับสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ.2512 ภายใต้ปณิธาน “การเป็นปัญญาของแผ่นดิน”

          “ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” อธิการบดี มม.คนใหม่ รับตำแหน่งวันที่ 9 ธันวาคม 2554 มีนโยบายจะผลักดัน "มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกเพื่อสังคม" เพื่อเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งในด้านวิจัยมุ่งตอบโจทย์สังคม ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับชุมชนให้มากยิ่งขึ้น ผลักดันพัฒนา มม.ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก 

          อย่างงานวิจัยความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย ซึ่งมีผู้สูงอายุมากขึ้น วัยทำงานน้อยลง ผู้สูงอายุก็เจ็บป่วยมากขึ้น โดยสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ หรืองานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยทำการวิจัยระยะยาวในบุคลากรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นเวลา 26 ปี เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในคนไทย ซึ่งพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงจากรอบเอวเพิ่ม หรือ พุง ต้องลดน้ำหนัก คุมอาหาร ซึ่งงานวิจัยนี้นำไปสู่โครงการคนไทยไร้พุง ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างส่งเสริมสุขภาพ (สสส.)

          “มม.ได้มีการวางนโยบายเพื่อส่งเสริม ผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่สังคมไทย และสังคมโลก โดยจะดำเนินการผ่านพันธกิจการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น เน้นผลิตบัณฑิตที่เป็นคนดี มีปัญญา นำพาความสุข ซึ่งการก้าวสู่มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกนี้ ไม่ได้มองแค่ตัวเอง แต่ช่วยให้มีเครือข่ายในระดับโลกที่สามารถต่อยอดความรู้ ความสามารถที่เรามี ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้มากขึ้น เพราะองค์ความรู้บางอย่างเกิดขึ้นต่างประเทศ เมื่อจะนำมาใช้กับคนไทยหรือเอเชียจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ใหม่”

          อนาคต ศ.นพ.รัชตะ บอกว่า จะผลิตงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพ การแพทย์ และสังคมผู้สูงอายุ เพราะต่อไปสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยผู้หญิง 77 ปี ผู้ชาย 70 ปี จึงควรต้องมีการเตรียมการตั้งรับสถานการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยด้านภาษาท้องถิ่นภาคใต้ 3 จังหวัด สามารถเป็นต้นแบบความปรองดองได้ การวิจัยเกี่ยวกับชุมชนศาลายา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอันเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และเกื้อกูลระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย และงานวิจัยชิ้นต่อไปคือ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นไทย ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค และเป็นอันดับ 2 ของโลก หากปล่อยปัญหานี้ต่อไปจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ

          ปัจจุบัน มม.มีอาจารย์ประจำ นักวิจัย และบุคลากรที่ทำงานวิจัย 3,692 คน มีโครงการวิจัยทั้งหมด 1,744 โครงการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยทั้งหมด รวม 1,298 ล้านบาท ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวน 2,201 เรื่อง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ มม.ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอันดับที่ 34 ของอาเซียน ใน QS Asian University Rankings 2011 

          อธิการบดี มม.เล่าต่อว่า มม.สนับสนุนการทำวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ เตรียมพร้อมอาจารย์ บุคลากร เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 เน้นการแลกเปลี่ยนแลกเปลี่ยนอาจารย์นักศึกษาระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น จากเดิมที่ มม.มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในอินโดนีเซียและมาเลเซีย อนาคตจะส่งนักศึกษาไปศึกษาในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน เพื่อฝึกทักษะภาษาควบคู่กับการศึกษาและเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน และได้กำหนดให้ทุกคณะใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนมากขึ้น

          "มม.ได้วางแผนการพัฒนาไว้ระหว่างปี 2554-2558 จะใช้องค์ความรู้ที่มีในการผลักดันให้เกิดนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในไทย ขณะเดียวกันจะใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและบริการสุขภาพสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคทางวิชาการ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค หรือเมดิคอล ฮับ โดยไม่กระทบต่อการบริการสุขภาพของรัฐ ผลิตบัณฑิตที่เป็นคนดี ไม่คดโกง มีคุณธรรม รู้จักการแสวงหาความรู้ มีปัญหา พร้อมออกไปรับใช้สังคม" ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

 

 

----------

(หมายเหตุ : เปิดวิสัยทัศน์ : 'มหิดล' ตั้งเป้าม.วิจัยระดับโลก - สนองนโยบายเมดิคอล ฮับ : โดย ... ชุลีพร อร่ามเนตร)

----------

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ