ข่าว

นำร่องรีไฟแนนซ์บัตรเดรดิตรัฐหวังกระตุ้นแบงก์ดูแลลูกหนี้ชั้นดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันที่ 23 พฤษภาคมนี้ กระทรวงการคลัง พร้อมด้วย 3 สถาบันการเงินของรัฐ จะเปิดตัวแคมเปญรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต ที่มีการผลักดันออกมาค่อนข้างรวดเร็ว และเริ่มเดินหน้าโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้

 และน่าจะทำให้สถาบันการเงินมีการตื่นตัวขึ้น หลังจากเป็นเสือนอนกินดอกเบี้ยสูงมานาน โดยโครงการนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดของ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ที่ต้องการลดภาระให้ลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนชำระดีมาตลอด แต่ไม่เคยได้รับประโยชน์จากสถาบันการเงินและต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด 20% มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นธรรมหากให้ลูกหนี้ที่ดีต้องรับภาระเท่ากับลูกหนี้ที่ไม่รักษาประวัติของตัวเอง นอกจากนั้น ยังมองว่า ที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง

นำร่องโครงการหมื่นล้านบาท

 สำหรับธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยกระทรวงการคลังเพิ่งตกลงรายละเอียดของเงื่อนไข คุณสมบัติ อัตราดอกเบี้ย วงเงินและระยะเวลาการชำระคืนได้ เพื่อจะใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มแรกนายกรณ์มีแนวคิดจะให้ดำเนินการเพียง 2 แบงก์ คือ ออมสิน กับกรุงไทย เพราะเป็นโครงการที่แบงก์ต้องใช้เงินตัวเองและรับความเสี่ยงเอง รวมทั้งตั้งวงเงินรีไฟแนนซ์ไว้ถึง 5 หมื่นล้านบาท

 ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันพบว่า มีหนี้บัตรเครดิตทั้งระบบประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ที่มีประวัติดี 1.5 แสนล้านบาท และมีลูกหนี้ที่ผ่อนชำระดอกเบี้ยหรือจ่ายชำระขั้นต่ำ 10% ในแต่ละเดือนสัดส่วนประมาณ 35% ซึ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการช่วยเหลือ จึงคิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่ภายหลังอยากให้แบงก์มีการปรับตัวยื่นเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า เพื่อดึงลูกค้าเอาไว้มากกว่า จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีลูกหนี้เข้าโครงการรีไฟแนนซ์ประมาณ 20% หรือคิดเป็นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

 นายกรณ์ระบุว่า ธนาคารรัฐ 3 แห่ง จะเป็นผู้รับภาระรับโอนหนี้บัตรเครดิตจากสถาบันการเงินต่างๆ และเปลี่ยนสถานะเป็นหนี้ส่วนบุคคลที่มีเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ยาวขึ้นและอัตราดอกเบี้ยต่ำลงจากเดิม และมองว่าธนาคารรัฐอาจไม่ต้องเตรียมวงเงินรองรับถึง 5 หมื่นล้านบาท เพราะมั่นใจว่าสถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะต้องเสนอเงื่อนไขเข้ามาแข่งขันเพื่อรักษาฐานลูกค้าที่ดีกลุ่มนี้ไว้

 "บัตรเครดิตถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญ แต่ก็มีโทษมหันต์หากผู้ใช้บัตรไม่มีวินัย ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องการจากมาตรการนี้คือ กระตุ้นให้สถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตพิจารณาสถานะลูกหนี้ในกลุ่มนี้ใหม่ เนื่องจากเป็นลูกหนี้ที่ดี แต่กลับคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงถึง 20% จึงควรจะปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อจะไม่ต้องสูญเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไป"

 เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมศึกษาโครงการระบุว่า การกำหนดวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2554 หรือจนกว่าแต่ละแบงก์จะรับเต็มวงเงิน โดยออมสินจะรับไป 4,500 ล้านบาท กรุงไทยรับไป 4,500 ล้านบาท และไอแบงก์รับไป 1,000 ล้านบาท ซึ่งไอแบงก์น่าจะหมดก่อน เพราะวงเงินน้อย โดยทุกแห่งจะคิดดอกเบี้ยเท่ากันที่ 10% และจำกัดวงเงินต่อรายไม่เกิน 3 แสนราย ซึ่งจะเป็นลักษณะของต่างคนต่างทำ ไม่ต้องมีการขึ้นทะเบียนลูกหนี้ที่แบงก์ใดแบงก์หนึ่ง

 ส่วนรายที่มีหนี้บัตรเครดิตมากกว่านี้ก็สามารถยื่นได้ แต่จำกัดแค่ 3 แสนบาท เช่น มีบัตร 5 ใบ แต่ยื่นขอรีไฟแนนซ์แค่ 4 ใบ ซึ่งสอดคล้องกับก่อนหน้านี้ ที่นายกรณ์ระบุว่า อาจเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะเข้าโครงการยังถือบัตรเครดิตไว้ได้ 1 ใบ เผื่อรองรับเหตุฉุกเฉินเพื่อเพิ่มความคล่องตัวของมาตรการ หรือหากจะทำบัตรเครดิตใหม่ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแบงก์ที่รับรีไฟแนนซ์ให้ได้ระยะหนึ่งก่อน ซึ่งอาจเป็นระยะ 6 เดือน หรือ 1 ปีหลังจากนั้น

 เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะรับรีไฟแนนซ์เฉพาะลูกหนี้บัตรเครดิตที่ผ่อนชำระขั้นต่ำและมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี ไม่รวมสินเชื่อเงินสด ส่วนบุคคลที่พบว่ามีบัญชีสินเชื่อดังกล่าวในระบบค่อนข้างมากและไม่รวมบัตรกดเงินสดต่างๆ โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระ 3-5 ปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพราะถือเป็นลูกหนี้ที่ดีมีความเสี่ยงต่ำอยู่แล้ว

 สำหรับเงื่อนไขผู้เข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นจะต้องหักบัตรเก่าทิ้งเพื่อเข้าสู่กระบวนการชำระหนี้กับธนาคารใหม่ โดยต้องนำใบแจ้งหนี้มายื่นขอกู้เพื่อรีไฟแนนซ์และเลือกเอาแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยสถาบันการเงินของรัฐจะเป็นผู้จ่ายเงินไปยังสถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิตเอง

 อย่างไรก็ตาม โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตวงเงิน 1 หมื่นล้านบทนั้น คงต้องประเมินผลอีกครั้ง เพื่อดูความต้องการของลูกหนี้ หากพบว่ามีความต้องการวงเงินสูงกว่านี้ก็อาจจะขยายวงเงินได้ และในอนาคตก็อาจจะดูรวมไปถึงการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบุคคลด้วยในเฟสต่อไป เพื่อให้มีภาระการผ่อนชำระต่ำลง

2แบงก์พร้อมมองความเสี่ยงต่ำ

 ด้าน นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า ออมสินพร้อมจะดำเนินโครงการเพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน และเห็นว่าวงเงิน 4,500 ล้านบาทนั้น ไม่สูงมากนัก เพราะก่อนหน้านี้มีการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบยังใช้เงินไปหลายหมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นจะให้กู้ต่อรายสูงสุด 2-3 แสนบาท ระยะเวลา 3-5 ปี อัตราดอกเบี้ย 10% เท่ากับอีก 2 แบงก์ ซึ่งมองว่าน่าจะมีความเสี่ยงต่ำ เพราะคุณสมบัติสำคัญต้องเป็นลูกค้าดีมีประวัติดี ไม่มีหนี้ค้างชำระเกิน 30 วัน โดยสามารถตรวจสอบได้จากเครดิตบูโรอยู่แล้ว ซึ่งอาจตรวจสอบย้อนหลังไป 1 ปี เป็นต้น

 “การรีไฟแนนซ์จะช่วยให้ลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยได้ครึ่งต่อครึ่ง เพราะดอกเบี้ยปติ 20% หากเป็นหนี้ 1 แสน ดอกเบี้ย 2 หมื่นบาท เฉลี่ยต้องจ่ายเดือนละ 1,800-2,000 บาท ถ้าเข้าโครงการจะเหลือดอกเบี้ยเดือนละ 800-1,000 บาท ก็จะช่วยให้ลูกหนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้"

 ด้าน นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการไอแบงก์ กล่าวว่า ไอแบงก์มีความพร้อม ที่ผ่านมาก็มีแคมเปญสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตอยู่แล้ว แต่การดำเนินโครงการนี้เพิ่มก็จะแยกบัญชีเป็น 2 ส่วน เพราะคนละเงื่อนไขกันทั้งคุณสมบัติและอัตรากำไร ซึ่งหากยื่นเข้าโครงการก็จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด โดยเฉพาะการเป็นลูกหนี้ที่มีประวัติดี ไม่เคยมีหนี้ค้างชำระและให้วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาทต่อราย และคิดอัตรากำไรที่ 10% ซึ่งธนาคารยังรับไหว แม้จะต่ำกว่าแคมเปญเดิม เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าแบงก์มีการประเมินเครดิตมาแล้วและเป็นกลุ่มที่มีรายได้แน่นอน

 “เชื่อว่าวงเงินพันล้านบาท น่าจะช่วยลูกหนี้ได้ไม่น้อย และน่าจะช่วยขยายฐานลูกค้าได้ แต่หากคุณสมบัติไม่ผ่านก็สามารถไปใช้แคมเปญปกติของธนาคารได้ ซึ่งมีความผ่อนปรนกว่าทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล โดยให้กู้มากกว่าถึง 5 แสนบาทต่อราย แต่ต้องมีคนค้ำประกันและผ่อนได้นานกว่าถึง 7 ปี”
 
 ขณะที่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย ยอมรับว่า โครงการนี้อาจกดดันให้ธนาคารพาณิชย์หันมาลดดอกเบี้ยให้ลูกค้ามากขึ้น และจากการตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตที่เข้าข่ายเงื่อนไขโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท และมีการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน พบว่ามีเพียงคนกลุ่มน้อยเพียงหยิบมือเดียวที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ ส่วนใครมีหนี้ก็ต้องก้มหน้าก้มตาใช้หนี้กันต่อไป อย่าหวังจะให้รัฐบาลช่วยเหลือ หากไม่อยากสร้างหนี้ก็ต้องมีวินัยในการใช้เงินน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ