ข่าว

'EV 3.5' ดันใช้ รถไฟฟ้า เช็กเงื่อนไขด่วน รับ เงินอุดหนุน 1 แสน นาน 4 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดมาตรการ 'EV 3.5' ดันใช้ 'รถไฟฟ้า' เช็กเงื่อนไขด่วน รับ เงินอุดหนุน สูงสุด 100,000 บาท ดีเดย์ 2 ม.ค. 2567 ยาวนาน 4 ปี

หลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในมาตรการสนับสนุนรถไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ครอบคลุมระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่ 2 ม.ค. 2567-2570 วงเงินทั้งสิ้น 34,000 ล้านบาท ตามที่บอร์ดอีวีเสนอ โดยเป็นมาตรการสนับสนุนการใช้รถ EV ต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3.0 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2566

 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หรือ EV 3 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้นำเข้าและผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 ที่ได้ทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมสรรพสามิต จำนวน 19 ราย มีรถยนต์ที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการ EV 3 จำนวน 28,841 คัน และรถไฟฟ้าที่มีการนำเข้า แต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน จำนวน 61,436 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 2566) สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

 

 

โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค. – พ.ย. 2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 67,056 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8,483 คัน โดยผลของมาตรการ EV3 ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า

เงื่อนไขมาตรการ EV3.5

 

1. รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

 

    1.1 สิทธิเงินอุดหนุน

          1) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kWh แต่น้อยกว่า 50 kWh

              1.1) ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน

              1.2) ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน

              1.3) ปี 2569 - 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)

 

          2) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kWh  ขึ้นไป

              2.1) ปี 2567  จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน

              2.2) ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน

              2.3) ปี 2569 - 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)

 

   1.2 สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 - 2568)

   1.3 สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ในปี 2567 - 2570

 

2. รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh  ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2

 

3. รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh  ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 0 ในปี 2567 - 2568 และอัตราภาษีร้อยละ 2 ในปี 2569 - 2570

 

4. รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh  ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 1 ในปี 2567 - 2570

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) หรือผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และผลักดันไทยให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

มาตรการ EV 3.5

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

 

  1. ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) ให้เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ร่วมกับกรมสรรพสามิต
  2. เมื่อได้รับการอนุมัติสิทธิแล้ว ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีก แนะนำ และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าก่อนเริ่มขายรถรุ่นนั้น ๆ
  3. กรณีนำเข้า ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนการนำเข้า จึงจะสามารถนำยานยนต์ไฟฟ้ามาขอรับสิทธิทางภาษีได้
  4. การขอรับเงินอุดหนุน หลังจากการจำหน่ายและจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด
  5. สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขการผลิตชดเชย บทลงโทษ ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมาตรการ EV3.5 ให้เป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด

 

 

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ทันภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 และประสงค์ที่นำยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมารับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 สามารถกระทำได้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

 

  1. ผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) เพื่อเป็นผู้ได้สิทธิตามมาตรการ EV3.5 และต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าที่ก่อนเริ่มจำหน่าย
  2. หลังจากวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 ต้องยื่นหนังสือเพื่อแจ้งจำนวนคงเหลือของยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ให้กรมสรรพสามิตทราบ ก่อนลงนามข้อตกลง EV 3.5 กับกรมสรรพสามิต
  3. ยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตาม EV3 แต่ประสงค์จะนำมาเข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ตามมาตรการ EV3 แต่เงินอุดหนุนและเงื่อนไขการผลิตชดเชย ตลอดจนบทลงโทษ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้เป็นไปตามมาตรการ EV3.5

 

 

สำหรับรถไฟฟ้าที่เคยได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 และไม่ประสงค์ที่นำมารับสิทธิตามมาตรการ EV 3.5 ต่อ จะยังคงมีภาระในการผลิตชดเชยการนำเข้าตามเงื่อนไขของมาตรการ EV3 โดยไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ได้รับไปแล้ว

 

 

สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ www.excise.go.th

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ