ข่าว

มองจีนยุคใหม่ผ่าน"สงครามการค้า"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มองจีนยุคใหม่ผ่าน"สงครามการค้า"สู่การพัฒนา"เทคโนโลยี"เปลี่ยนโลก      

     คำกล่าวที่ว่า “เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ไม่น่าจะเกินจริง การก้าวสู่ยุค 5G หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีนได้สร้างความปั่นป่วนให้คนทั้งโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้

      “หลังยุคสงครามเย็นโลกกลับเข้าสู่ยุคที่เสถียร หรือโลกาภิวัฒน์ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน  มีมหาอำนาจหนึ่งเดียวคือสหรัฐ และเป็นมหาอำนาจที่ทรงพลังมาก ใครจะไปรู้วันหนึ่งระเทศที่ประชาชนยากจนแร้นแค้น มีความล้าหลังทางเทคโนโลยีอย่างจีนกลับกลายเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวที่สุด ต้นเหตุสงครามการค้าที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความกลัวของสหรัฐที่มีต่อจีนในเรื่องนี้ เพราะใครครองเทคโนโลยีคนนั้นครองโลก”

 

         ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน  คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างการบรรยายพิเศษแก่สื่อมวลชนไทยที่เข้าร่วมโครงการ "มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอโนมา แกรนด์ ราชประสงค์

        ดร.อาร์ม ระบุว่า ในอดีตสหรัฐเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือแก่จีนใน 3 เรื่องได้แก่  สินค้า  พ่อค้าและแพลตฟอร์มต่างๆ  โดยหวังว่าสุดท้ายเมื่อเขาอยู่ดีกินดีขึ้นเขาจะเปลี่ยนการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยเหมือนกันและต้องการผนวกเอาจีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลก ซึ่งเห็นได้จากปี 2000 จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ โดยการสนับสนุนจากสหรัฐ 

           ในช่วง 10 ปีมานี้ทำให้จีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปสู่ยุค 5G หรือเอไอ ปัญหาประดิษฐ์อย่างเต็มรูปแบบ หรือ China5.0 เห็นได้จากไทม์ไลน์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของจีนจากแผนเมด อินไชน่า 2025 โดยจะมีการกำหนดสัดส่วนให้จีนถือหุ้นในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งหมายความว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะมีจีนเป็นผู้ครองโลก จากนั้นในปี 2030 จะมีการพัฒนาเทคโนเอไอ ปัญหาประดิษฐ์มีการใช้อย่างเต็มรูปแบบ

          และได้สร้างความวิตกกังวลให้สหรัฐในฐานะผู้นำโลกให้ความช่วยเหลือจีนมาก่อนกลายเป็นจุดชนวนประกายมาเป็นสงครามการค้าระหว่างกัน  แต่ในขณะมุมนักเศรษฐศาสตร์มองว่าสงครามการค้าครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะทั้งสหรัฐและจีนจะแพ้ทั้งคู่ โดยสิ่งที่สหรัฐจะได้รับผลกระทบคือผู้บริโภคสหรัฐจะต้องซื้อของแพงขึ้น บริษัทสหรัฐในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและเมื่อจีนเก็บภาษีตอบโต้เกษตรสหรัฐและธุรกิจสหรัฐได้รับผลกระทบ 

         เพราะทุกวันนี้จีนเป็นประเทศนำเข้าถั่วเหลืองอันดับหนึ่งจากสหรัฐ ที่สำคัญจะไม่มีทางที่การลงทุนจะไหลกลับมายังสหรัฐอีกต่อไป สุดท้ายสหรัฐก็ต้องซื้อของจากประเทศอื่นแทน ส่วนจีนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐจะน้อยลง รวมทั้งบริษัทของสหรัฐในจีนจะย้ายฐานการลงทุน

         สอดคล้องกับมุมมองของ หยาง หยาง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทย ที่ยืนยันชัดเจนว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะไม่เกิดขึ้นและประเทศจีนจะไม่ยอมทำสงครามกับใครใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะถูกบังคับจากสหรัฐอเมริกา เพราะสงครามการค้าไม่มีฝ่ายใดชนะ มีแต่แพ้กับแพ้ ต่างคนต่างแพ้ สุดท้ายประชาชนต้องเดือดร้อน

มองจีนยุคใหม่ผ่าน"สงครามการค้า"

   "เราขอย้ำอีกครั้งว่า เราไม่กลัว นี่คือท่าทีของจีน” หยาง หยางกล่าวย้ำ  

   พร้องยังชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก 2562 การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลดลงเหลือ 6.4% ซึ่งเป็นจุดต่ำที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจจีนยังไหว เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าจีนไม่ยอมล้ม ดูจากยอดส่งออก 7 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น จึงทำให้จีนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและยังรักษาแนวโน้มนี้ต่อไปได้เพราะจีนได้เดินหน้าเติบโตจากการเน้นความเร็วสูงเป็นเน้นคุณภาพของการเติบโต โดยเน้นกระตุ้นความต้องการภายในของประเทศเป็นหลัก

   “สัดส่วนการส่งออกแม้ลดลงจากเคยสูงสุดกว่า 60% เหลือ 33% แต่สัดส่วนการบริโภคในประเทศครึ่งปีแรกของปีนี้ (2562) มีส่วนช่วยการเติบโตเพิ่ม 60.1% แสดงว่าความต้องการภายในของจีนเป็นแรงกระตุ้นหลักของประเทศ”

    หยาง หยาง ย้ำว่า จีนไม่มีวันปิดประตูุ แต่เราต้องเปิดประตูให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้วยการออกกฎหมายการลงทุนของชาวต่างชาติ พยายามพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการลงทุน ยินดีเปิดประตูรับการลงทุนจากทุกประเทศ ล่าสุดโคสโควซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของอเมริกาก็มาเปิดสาขาแรกที่เซี่ยงไฮ้ มีสื่อมวลชนบอกว่าที่นี่มีการจัดที่จอดรถที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการยังต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมงกว่าจะได้ที่จอดรถ 

    "แสดงให้เห็นว่าจีนเราได้เปิดประเทศให้นักลงทุนทุกคน รวมทั้งบริษัทอเมริกา แม้ภายใต้สงครามการค้า เรายินดีให้นักลงทุนทุกคนมาขายสินค้าที่จีน แสดงว่ามีคนอีกจำนวนมากยังมองเห็นอนาคตที่ดีของเศรษฐกิจจีน แสดงว่าพวกเขาไม่ยอมทอดทิ้งเศรษฐกิจมโหฬารของจีน รวมทั้งอเมริกาที่ไม่ยอมปล่อยตลาดจีน”

  หยาง หยาง ย้ำด้วยว่า สงครามการค้าครั้งนี้จีนไม่ใช่เป็นคนริเริ่ม แต่เป็นฝ่ายอเมริกาต่างหากที่พยายามขยายขอบเขตของสงครามการค้า เพราะไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอเมริกาเองด้วย อาจจะอยู่ตกอยู่ในภาวะอันตราย

 “ถามว่าจีนจะเจรจากับอเมริกาหรือไม่ เราไม่ได้ปิดประตูการเจรจากับอเมริกา แต่ท่าทีของจีนยังชัดเจนตลอด การเจรจาต้องดำเนินบนพื้นฐานการเคารพผลประโยชน์ที่แท้จริงซึ่งกันและกัน จึงจะดำเนินได้ นี่คือท่าทีของจีน” ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าวย้ำทิ้งท้าย

     

       ย้อนประวัติ“จีน”จากอดีตสู่ปัจจุบัน

 

           “ถ้าเรารู้เท่าทันจีน จะเป็นโอกาสของเรา แต่ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันจีนจะเป็นภัยคุกคาม” บทสรุปของ "รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล" อาจารย์พิเศษภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนกล่าวระหว่างการบรรยายหัวข้อ "ย้อนอดีตจีนจากยุคเติ้ง (เสี่ยวผิง) สู่ยุคสี จิ้นผิง" โดยผู้นำจีนคนปัจจุบันได้ดำเนินนโยบายพยายามลดสัดส่วนอาชีพเกษตรกรโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้นเพื่อให้เกษตรกรลดลง 

      โดยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จีนทุ่มงบประมาณ 196 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่เมืองลดสัดส่วนชนบท โดยตั้งเป้าให้เหลือเพียงร้อยละ 30 จากสัดส่วนร้อยละ80- 90 ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจีนมีจำนวนประชากรมากกว่า 1,600 ล้านคน สิ่งที่จีนกังวล คือความมั่นคงทางอาหาร เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นจีนจึงมุ่งไปหาอาหารจากนอกประเทศของตัวเอง 

มองจีนยุคใหม่ผ่าน"สงครามการค้า"

       อ.วรศักดิ์ เล่าถึงสาระสำคัญของจีนในแต่ละยุค เริ่มจากจีนก่อนยุค ค.ศ.1978 ก่อนเปิดประเทศในยุคผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิว มี 3 รูปแบบบ คือ แนวทางสังคมนิยม เช่น การเมืองสังคมนิยม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม  โดยปกครองแบบพรรคคอมมิวนิสต์ ใช้อำนาจอย่างเดียว ทุกอย่างล้วนเป็นของรัฐบาล เช่น ที่ดิน ท้องนา บ้าน โรงงาน  ชาวบ้านทุกคนมีงานทำ ทั้งภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม แต่เป็นในรูปแบบคนงานของรัฐ ทำงานให้รัฐ  รัฐบาลมีสวัสดิการให้แต่เป็นในรูปแบบสังคมนิยม คือดูแลทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จึงเรียกยุคนี้ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรม ใน ค.ศ.1966-1976 

         อ.วรศักดิ์ เล่าว่า ต่อมาจีนในทศวรรษ 1980  ภาคเกษตรกรรม เป็นระบบความรับผิดชอบหรือระบบพันธสัญญา  มีการเปิดรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการยกเว้นภาษีให้เจ้าของธุรกิจ หากเจ้าของธุรกิจสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนได้ ก็จะเป็นแรงจูงใจในเรื่องภาษีอีกช่องทางหนึ่ง ขณะที่การปกครองโดยกฎหมายและวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีวาระ 5 ปีและเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัย 

        จากนั้นเข้าสู่ทศวรรษ 2000 จีนเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ มุ่งสู่การค้าเสรี การสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน โดยจีนต้องใช้เวลากว่า 15 ปีในการเข้าดับเบิลยูทีโอ และต้องชี้แจงให้ประชาชนในประเทศรับรู้เหตุผลในการเข้า ดับเบิลยูทีโอมีการเปิดเสรีภาคการเงิน  มีการขยายอิทธิพลด้วยอำนาจอ่อน (Soft power) และในทศวรรษ 2010 จีนมีความฝันใน 3 เรื่อง ได้แก่ วาระ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน 2021 ซึ่งจะถึงในอีก 2 ปี ถ้าจีนทำได้คนในประเทศจีนจะกินดีอยู่ดี วาระ 100 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน 2049 จีนตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจากข้อริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road nitiative) ทั้งด้านโลจิสติกส์ทางบกและทางทะเล 

         นี่คือเป้าหมายใหญ่และสำคัญที่สุดของจีนกับการก้าวสู่ประเทศที่ได้ชื่อว่า “พัฒนาแล้ว”

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทำท่าไม่ยุติง่ายๆ
-(คลิปข่าว) สงครามการค้าเดือดหนัก อียูเตรียมเก็บภาษีเพิ่ม 25%
-จุรินทร์ สั่งรับมือสงครามการค้า
-จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี: สำรวจแนวรบฝั่งตะวันออก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ