ข่าว

 ปรับทัพองค์กรกลุ่มธุรกิจ"ทีซีพี."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ปรับทัพองค์กรกลุ่มธุรกิจ"ทีซีพี."

             กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP)  ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง(เรดบูล) ประกาศแผนการปรับโฉมองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดเพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติที่ขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการทุ่มงบกว่า 1,300 ล้านบาท รองรับทางการทำงานกับสาขาในต่างประเทศและการตลาดระดับโลก ผ่านแนวคิด 3C (3 Changes) คือ เปลี่ยนรูปแบบสำนักงานใหม่ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ และเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่

 

        “ในยุคที่ทุกอย่างในโลกกำลังถูก Disrupt ทุกคนต้องปรับตัว การเตรียมคนให้พร้อมเพื่อเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP)ก็เช่นเดียวกัน" สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP)กล่าวยืนยันระหว่างการแถลงข่าว 

        ด้วยวิสัยทัศน์ของกลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) ในฐานะคนไทยที่เป็นเจ้าของแบรนด์ระดับโลก ที่มีสาขาในต่างประเทศ และมีพันธมิตรทางธุรกิจอยู่ทั่วทุกมุมโลก จึงต้องทำงานอยู่บนมาตรฐานระดับโลกที่สูงที่สุดเพื่อนำพาเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย นี่จึงเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ การปรับโฉมองค์กรสู่การทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ 5 ปี ที่ได้ประกาศไว้เพื่อมุ่งหวังพัฒนาบุคลากรทุกระดับชั้นให้สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมุ่งสร้างยอดขายของกลุ่มให้โตขึ้น 3 เท่าเป็น 100,000 ล้านบาท ก้าวไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ของคนไทยอย่างแท้จริง 

         ประกรรษ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสายงานทรัพยากรบุคคลและธุรการ กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) กล่าวเสริมว่ากลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) เป็นองค์กรใหญ่ที่มีคนหลากหลาย การหลอมรวมให้คนที่มากประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่ มีความคิดและการกระทำที่คล้ายกันถือเป็นความท้าทายอย่างมาก บริษัทจึงได้ออกแบบการทำงานขึ้นมาใหม่ ภายใต้แนวคิด 3C เพื่อให้พนักงานทุกคนได้ก้าวข้ามเฟรมเวิร์คเดิมสู่นวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับกระบวนการทำงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดึงดูดคนเก่ง และคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระดับโลก 

 ปรับทัพองค์กรกลุ่มธุรกิจ"ทีซีพี."

    ประกรรษ์ จันทร์ทอง

     "ซี(C)แรกเป็นการเปลี่ยนรูปแบบสำนักงานใหม่ สู่การเป็นองค์กรแห่งการสร้างนวัตกรรม โดยในส่วนนี้กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) ได้ลงทุนราว 740 ล้านบาท สร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ติดกับสำนักงานปัจจุบัน ด้วยการออกแบบให้สอดรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ กับแนวคิด Open Office พื้นที่ทำงานจึงเปิดโล่ง พร้อมจัดสรรพื้นที่กว่า 30% เป็นพื้นที่ส่วนกลางระหว่างแผนกเพื่อใช้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งใช้จัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ให้กับพนักงาน เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงความผ่อนคลาย"

       ประกรรษ์กล่าวต่อว่านอกจากนี้ ภายในยังมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีอันทันสมัย เชื่อมต่อการทำงานกับอุปกรณ์ของพนักงานทั้งในสำนักงานใหญ่ สาขาในต่างจังหวัด และสาขาต่างประเทศได้สะดวก รวดเร็วขึ้น โดยสำนักงานใหญ่แห่งใหม่จะสร้างบนเนื้อที่ราว 6 ไร่ มีความสูง 4 ชั้น เริ่มก่อสร้างในปี 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในปี 2564 และภายหลังเปิดใช้สำนักงานใหญ่แห่งใหม่แล้ว สำนักงานปัจจุบันก็จะมีการปรับปรุงใหม่ ภายใต้แนวคิดเดียวกับสำนักงานแห่งใหม่ด้วย

         “เราคำนึงถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศในที่ทำงาน เพื่อทำให้ออฟฟิศไม่ได้เป็นแค่ที่ทำงาน แต่เป็นสถานที่ ที่ให้ทุกคนได้มาระดมความคิด มาประชุมกันแบบสบาย ๆ เปิดโอกาสให้ได้พบปะคนใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ และเมื่อสำนักงานเสร็จสมบูรณ์จะสามารถรองรับพนักงานใหม่ได้เพิ่มขึ้นอีกราว 250 คน”ประกรรษ์เผย

 ปรับทัพองค์กรกลุ่มธุรกิจ"ทีซีพี."

          สำหรับซี(C)ต่อมา ประกรรษ์แจงว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบระบบการทำงานใหม่ สร้างองค์กรยืดหยุ่นแต่ทรงพลัง  โดยใช้นวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ บริษัทจึงได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้รูปแบบการทำงานใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยจะเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถมี Virtual Office ที่เป็นเสมือนสำนักงานเคลื่อนที่ได้ 

        โดยเพียงแค่มีโน้ตบุ๊ค หรือโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถที่จะสื่อสารข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conferencing หรือ Teleconferencing) ส่งเอกสารแลกเปลี่ยนกัน และยังสามารถพูดคุยกันแบบเห็นหน้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่สำนักงาน พนักงานอาจจะทำงานที่บ้าน หรือที่ co-working space ในเมืองที่บริษัทจัดหาให้ อยู่ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ในต่างประเทศ ทำให้องค์กรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่สะดุด 

 ปรับทัพองค์กรกลุ่มธุรกิจ"ทีซีพี."

       นอกจากนั้นยังนำแนวคิดการทำงาน agile รวมทั้ง scrum มาใช้ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบ cross functional และ cross generation มุ่งหวังให้เกิดการทำงานเป็นทีมอย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการทำงานกับสาขาในต่างประเทศ หรือการตลาดโกลเบิล (Global Marketing) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับทีมการตลาดของแต่ละประเทศ อันเป็นการผสมผสานแนวทางการทำงานตามมาตรฐานระดับโลกเข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนช่วยสร้างความสำเร็จให้กับทีม

        “การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่นี้จะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่เชิงบวกให้กับพนักงาน เพิ่มความสะดวกสบาย ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น รวมถึงช่วยแก้ปัญหาให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นแต่ทรงพลังยิ่งขึ้น”ประกรรษ์ กล่าว

          สำหรับซี(C)สุดท้ายเป็นการเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things, Virtual Reality, AI, Cloud Computing หรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เหล่านี้ล้วนมีศักยภาพในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ต่างไปจากเดิมได้อย่างสิ้นเชิง ในส่วนนี้บริษัทได้ลงทุนราว 560 ล้านบาท นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการทำงานให้กับทีม ไม่ว่าจะเป็นการทำ virtual office หรือการนำ AI Chatbot มาใช้ในการสื่อสารกับพนักงาน และกับลูกค้าของบริษัท รวมถึงการจัดตั้งทีมงาน ‘Incubator’ ที่สนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้ ทดลอง และทดสอบไอเดียใหม่ๆ หรือ “ผลิตภัณฑ์หรือบริการต้นแบบ” (Prototype) ของพวกเขา อันจะนำไปสู่การคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่โดนใจลูกค้า   

 ปรับทัพองค์กรกลุ่มธุรกิจ"ทีซีพี."

      “เรามุ่งหวังให้ทีซีพี(TCP) เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา และเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถก้าวไปข้างหน้าตามเจตนารมณ์ การพัฒนาทักษะของพนักงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงลงทุนเพิ่มอีก 80 ล้านบาท ในการฝึกอบรม ช่วยเหลือ และเพิ่มพูนความรู้ให้กับทีมงาน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะไม่มีการปลดพนักงาน ตรงกันข้ามเราจะสร้างให้เขามีความมั่นคงในอาชีพ และรายได้ รวมถึงเปิดรับคนดี คนเก่ง คนรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในระดับโลกต่อไป”

      อย่างไรก็ตามสำหรับการการปรับโฉมองค์กรของกลุ่มธุรกิจทีซีพีี(TCP)ในครั้งนี้เพื่อให้การทำงานอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์ จะแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งจะช่วยเสริมรากฐานขององค์กรให้แข็งแกร่ง สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร และผลักดันให้เราก้าวไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ของคนไทยอย่างแท้จริง  

             

 เปิดอาณาจักรกลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP)

          กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) ประกอบด้วยบริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าของกลุ่ม บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบในการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นเจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และ บริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) มีพนักงานกว่า 5,000 คนในประเทศไทยและทั่วโลก

          สำหรับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของกลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวม 8 แบรนด์ คือ กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังคือ กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์ กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ คือ สปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริ้งก์ คือ แมนซั่ม กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม คือ เพียวริคุ ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน คือ ซันสแนค และกลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม คือ เรดบูลรสดั้งเดิม

          ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP)ได้ผนึกความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 มิติคือ Integrity พันธมิตรธุรกิจยั่งยืนและองค์กรธรรมาภิบาลQuality คุณภาพสินค้าและบริการ และคุณภาพชีวิตบุคคลากร และ Harmony รักษ์สิ่งแวดล้อม และชุมชนยั่งยืน เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ เพื่อมุ่งยกระดับกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) เป็นหนึ่งใน “บริษัทคนไทยที่ได้รับการชื่นชมที่สุด”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ