ข่าว

แบงก์รัฐจ่อนำ'หั่นดอกเบี้ย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562

 

 

          กนง. หั่นดอกเบี้ยเซอร์ไพร์สตลาด 0.25% หลังประเมินเศรษฐกิจไทยชะลอแรง ส่งผลการเติบโตส่อต่ำกว่าศักยภาพ ย้ำดอกเบี้ยที่ลดลงแค่ซื้อเวลา หากต้องการให้เศรษฐกิจโตยั่งยืน ต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้าง ขณะ “แบงก์รัฐ” ส่อปรับดอกเบี้ยตาม ด้านเงินบาทไม่สะเทือน อ่อนค่าลงแค่เล็กน้อย ส่วนภาคเอกชนแห่ขอบคุณ กนง. ลดดอกเบี้ย

 

 

          ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วานนี้(7ส.ค.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สวนการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่ 2 เสียง เสนอให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงสู่ระดับ 1.5% จากเดิม 1.75% โดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกรอบ 4 ปี 3 เดือนนับจากวันที่ 29 เม.ย.2558


          ดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงสวนการคาดการณ์ของตลาด ส่งผลให้ค่าเงินบาทวานนี้ อ่อนค่าลงทันทีมาอยู่ที่ 30.90 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงก่อนหน้าเคลื่อนไหวในระดับ 30.78 บาทต่อดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น และมาปิดตลาดที่ระดับ 30.82 บาทต่อดอลลาร์


          เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ
          นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ กนง. เสียงส่วนใหญ่ให้ลดดอกเบี้ย เพราะประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าระดับศักยภาพ 


          ขณะที่การส่งออก มีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 0% จากเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกชะลอลง ซึ่งเป็นผลจากการกีดกันการค้าที่รุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น เช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง


          “ปัญหาการกีดกันการค้า แม้จะรับรู้ผลกระทบไปบ้างแล้ว แต่ผลกระทบมีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งยังมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ทำให้ระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น”

 



          ดีมานด์ในประเทศชะลอ
          นอกจากนี้อุปสงค์ในประเทศชะลอลง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ที่ชะลอตัวตามรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย โดย กนง. จะพิจารณาปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจใหม่ในการประชุมเดือนก.ย.


          นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ยังเป็นสิ่งที่ กนง. ทุกคนให้ความเป็นห่วง เพราะเป็นปัจจัยที่อาจสร้างความเปราะบางต่อระบบการเงินในอนาคต จึงจำเป็นต้องติดตามการก่อหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ การก่อหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ดังนั้นการกำกับในอนาคต ยิ่งต้องใช้เครื่องมือมาตรการไมโครพลูเด็นเชียล และแมคโครพลูเด็นเชียลเพื่อดูแลเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า ธปท.จะดำเนินการเพิ่มเติมอย่างไร


          “การพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการมุ่งเน้นพิจารณาจาก 3 ด้าน เงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน และการขยายตัวเศรษฐกิจ แต่ย้ำว่า คณะกรรมการทุกท่านมีความกังวลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย แต่อัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เป้าหมายหลักในการตัดสินนโยบายการเงินครั้งนี้”


          อย่างไรก็ตาม การที่คณะกรรมการส่วนใหญ่ มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลง มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง ในภาวะที่การดำเนินนโยบายการคลังยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการออกกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมีข้อจำกัดการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเป็นการซื้อเวลา หรือมีผลระยะสั้นเท่านั้น แต่หากจะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้าน


          นายทิตนันทิ์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนอีก 2 เสียง ที่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจามองว่า การลดดอกเบี้ย อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งมองว่าควรเก็บความสามรถในการดำเนินนโยบายการเงิน(Policy space) ไว้ใช้ในยามจำเป็นดีกว่า เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต


          แบงก์รัฐจ่อลดดอกเบี้ยตาม
          นายฉัตรชัย ศิริไลกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ในฐานะประธานสมาคมแบงก์รัฐกล่าวว่า หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%จากนี้ ไปทางสมาคมคงต้องหารือถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของแบงก์รัฐว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่า จะมีการประชุมร่วมกันในเร็วๆ ซึ่งแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์รัฐคงจะต้องปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ในส่วนของธอส.เอง ก็คงจะพิจารณาปรับลดลงเช่นกัน


          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ต้องติดตามการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากประจำ ของระบบธนาคารลดลง โดยเฉพาะ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตามการปรับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการปรับครั้งนี้อาจจะมาจากการขอความร่วมมือให้ลดดอกเบี้ยลดลงได้ เนื่องจากหากดูข้อมูลในอดีต เมื่อมิ.ย. ปี 59 และมิ.ย.ปี 60 พบว่า แม้กนง.ไม่มีมติลดดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ มีการปรับดอกเบี้ยลง รอบละ 1 ครั้ง ดังนั้นหากดอกเบี้ยมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจเห็นการขอความร่วมมือให้มีการลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง ในระยะอันใกล้นี้ด้วย


          เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย
          นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. แม้จะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด แต่มีผลต่อค่าเงินบาทในวงจำกัด เพราะเงินบาทอ่อนค่าลงแค่เล็กน้อยเท่านั้น โดยเงินบาทยังแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากการที่เรามียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก 


          “การลดดอกเบี้ยเพื่อดูแล การส่งออกอาจทำได้ชั่วคราว ถือเป็นการพิสูจน์เครื่องมือดอกเบี้ยไม่มีประสิทธิผลนัก แต่เข้าใจว่า ธปท. เผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังรุนแรง ดังนั้นมองว่ามาตรการทางการคลัง ควรมาช่วยสนับสนุนไปพร้อมกับมาตรการทางการเงิน ที่กระสุนเริ่มตรึงตัว”


          อย่างไรก็ตามในสัปดาห์นี้ ยังคงมองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70-31บาทต่อดอลลาร์ และสิ้นปีนี้ยังแข็งค่าที่ระดับ 30.5 บาทต่อดอลลาร์


          นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยรอบนี้ อาจหยุดการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวต้องระวังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง


          “มองว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ตอบรับกับการลดดอกเบี้ยของเฟดในช่วงต้นเดือนได้ แต่ในระยะยาวต้องระวังว่าเฟดยังคงมี policy space มากกว่ากนง. ในระยะยาว ถ้าต้องการให้เงินบาทแข็งค่าช้าลงก็อาจต้องหามาตราการที่เหมาะสมเพิ่มเติมด้วย”


          อย่างไรก็ยังคงมองเงินบาทปลายปีนี้ระดับเดิมที่ 30.25 บาทต่อดอลลาร์ และแนวโน้มเงินบาทในไตรมาสนี้ยังคงอ่อนค่าได้จากตลาดการเงินที่ผันผวนแต่เงินบาทจะแข็งค่าต่อในช่วงปลายปี


          ‘สุริยะ’ถกธปท.13ส.ค.นี้
          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันที่ 13 ส.ค.นี้จะเดินทางไปพบผู้ว่าการธปท.เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกที่เจอเงินบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้ขีดความสามารถผู้ส่งออกไทยลดลง และจะทำให้ทราบถึงแนวทางช่วยเหลือที่ไม่ขัดกฎหมายหรือเป็นการแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะที่ผ่านมาสหรัฐออกมาชี้ว่าจีนแทรกแซงค่าเงินหยวนแล้ว รวมทั้งธปท.เป็นหน่วยงานอิสระในการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ


          'เอกชน'เสนอ10มาตรการดูแลศก.
          นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่าวันนี้ (8 ส.ค.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)จะหารือกับธปท.ถึงแนวทางการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งจะเสนอมาตรการ10 ข้อให้ ธปท.พิจารณาเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งรวมทั้งการใช้มาตรการทางการเงินด้วย


          ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยเป็น 1 ในมาตรการที่จะเสนอ ธปท.และเมื่อลดดอกเบี้ยแล้วก็ต้องขอขอบคุณ กนง.ซึ่งการลดดอกเบี้ย 0.25%ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอีกทั้งช่วยเงินบาทให้อ่อนค่าลงและชะลอการไหลเข้าของเงินที่จะมาลงทุนระยะสั้น


          นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนเรียกร้องมานานแล้วท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% ถือเป็นเรื่องที่ดีตรงกับความต้องการของเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว การลดดอกเบี้ยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่ารวดเร็วและทำให้อ่อนค่าลงได้บ้าง


          แบงก์ชาติอินเดียลดดอกเบี้ย
          นอกจาก ธปท. ที่ลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ในวานนี้ ธนาคารกลางอินเดีย มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดีย (เอ็มพีซี) ได้ทบทวนนโยบายการเงินรายสองเดือนครั้งที่สาม และในการประชุมครั้งนี้ ธนาคารกลางอินเดียได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงในช่วงปี 2562-2563 ลงสู่ระดับ 6.9% จากระดับ 7%


          เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (โอซีอาร์) 0.50% สู่ระดับ 1.00% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมวานนี้ ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่า ธนาคารจะปรับลดดอกเบี้ยลงเพียง 0.25%

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ