ข่าว

พยานอินโดฯระบุ3ปปช.พัวพันสินบนคดีปาล์ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2562

 

 

          ชาวอินโดนีเซียในฐานะพยานยืนยันมีการให้ของขวัญในคดีปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่มี “สุภา” เป็นผู้รับผิดชอบ ยันไม่ควรเกิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ระบุมี 3 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ร่วมกับผู้บริหาร ปตท. เดินทางไปอินโดฯคณะเดียวกัน

 


          กรณีที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด (พีทีทีจีอี) ลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย ต่อมาตรวจสอบพบว่า ไม่โปร่งใส และมีการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง ผู้สอบบัญชี ระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. รู้เห็น เรื่องอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งต่อมานายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีทีจีอี ผู้ถูกกล่าวหาและได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้บริหาร ปตท.และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ฐานทุจริตและเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ ร้องทุกข์ต่อ ป.ป.ช.ไปแล้วนั้น


          ล่าสุดนางแนนซี มาร์ทาสุตา อดีตรองประธานหอการค้าอินโดนีเซีย ออกมาระบุว่า เธอเป็นพยานเพียงคนเดียวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่า นายเบอร์ฮานุดดิน ได้เบิกความว่า “ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นางรสยาไม่สามารถทำเรื่องนี้ให้ฉันแน่นอนในฐานะที่ฉันรู้จักเธอมานานหลายปี และทุกวันนี้เธอเคยให้ของขวัญฉันเพียงครั้งเดียวเท่านั้น”


          สำหรับนางรสยา เป็นผู้บริหาร ปตท. และเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาและเป็นจำเลยที่นายนิพิฐยื่นฟ้องฐานทุจริตในโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย เนื่องจากเธอได้เดินทางไปอินโดนีเซียในช่วงระยะเวลาเดียวกับคณะข้าราชการป.ป.ช. วันที่ 4 สิงหาคมปี2560


          ประเด็นแถลงการณ์นี้ บ่งชี้ว่าของขวัญที่ให้กันอาจเป็นของมีค่าและการให้ของขวัญมีเป้าหมายเพื่อแลกกับการให้นายเบอร์ฮานุดดิน ซึ่งเป็นพลเมืองชาวอินโดนีเซียตอบคำถามทุกคำถามในกระบวนการสอบสวนที่อาจจะช่วยเรื่องคดีของนางรสยาให้ดำเนินไปตามแผนและบรรลุตามเป้าประสงค์แม้ว่านางรสยา จะไม่ได้ดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับนายเบอร์ฮานุดดินเลยนับตั้งแต่กระบวนการซื้อหุ้นคืนเสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2558


          อย่างไรก็ตาม นางแนนซี ระบุว่า เป็นเรื่องบังเอิญที่เธอได้เป็นพยานเพียงคนเดียวที่จะยืนยันเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุของคดีติดสินบนครั้งนี้เพราะเธอได้เข้าร่วมการหารือที่บ้านพักส่วนตัวของนายเบอร์ฮานุดดิน ช่วงเย็นวันที่ 4 สิงหาคมปี2560 ที่เป็นการหารือเกี่ยวกับเอกสารที่เป็นลิสต์คำถามของป.ป.ช.ประเทศไทย ซึ่งเป็นคำถามของนายเบอร์ฮานุดดินและนางแนนซี โดยเนื้อหาในคำถามมีส่วนเกี่ยวข้องกันอยู่


          การหารือครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะทั้งนางแนนซี และนายเบอร์ฮานุดดินต่างเป็นพลเมืองอินโดนีเซียที่ถูกกล่าวหา ใส่ร้าย และถูกตรวจสอบแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีเอกสารชี้แจงใดๆที่แสดงถึงปัญหาความขัดแย้งภายในผู้บริหารของสำนักงานปตท.และพีทีทีจีอี ในประเทศไทยและความจำเป็นของ สนง.ปปช.ในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะมีข้อห้ามรับสินบนในรูปแบบของขวัญแต่เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า มีการตั้งใจที่จะอนุญาตให้เกิดการให้ของขวัญลักษณะนี้อยู่แล้ว


          นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่านางรสยา เดินทางพร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. 3 คน หลังจากมีการสอบสวนเรื่องนี้ในอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคม ปี 2560 ในเที่ยวบินทีจี 434 จาการ์ตา-กรุงเทพฯ วันที่ 11 ส.ค.ปี2560 เหตุการณ์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ต่อเนื่องของช่วงเวลาทั้งหมดในการเดินทางไปอินโดนีเซีย การให้ของขวัญในวันที่ 4 ส.ค.ปี2560 และวันที่มีการตรวจสอบถูกวางแผนมาอย่างดี รวมถึงการปลอมแปลงเอกสารที่เป็นผลของการตรวจสอบคดีนี้ที่เป็นข้อมูลเท็จทั้งหลายที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานเท็จในกระบวนการยุติธรรมของไทย


          ท้ายที่สุด นางแนนซี กล่าวว่า เธอกลายเป็นเหยื่อการใส่ร้ายและการกล่าวหาและถูกอ้างถึงในรายงานของรัฐบาลหลายชิ้น รวมทั้งถูกอ้างชื่อตามหน้าสื่อกระแสหลัก ตลอดจนในการแถลงข่าวหลายครั้งของสำนักงานปปช. ตามผลการสอบสวนเมื่อวันที่ 7-8 ส.ค.ปี2560 เธอเป็นเหยื่อถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมคอร์รัปชันที่ทางการกำลังดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ