ข่าว

 บทสรุป CLMVT Forum 2019"รวมพลังอาเซียนหนึ่งเดียว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 บทสรุป CLMVT Forum2019"รวมพลังอาเซียนหนึ่งเดียว"

                แม้สงครามการค้าสองมหาอำนาจจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐและจีนเป็นหลัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศอื่นๆ ย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านความเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายเช่นนี้ยังมีประตูสู่โอกาสจากผู้นำเข้า ผู้ส่งออกและนักลงทุนทั้งในสหรัฐและจีน เริ่มหาคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงกระจายการลงทุนไปยังแหล่งผลิตอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง

 บทสรุป CLMVT Forum 2019\"รวมพลังอาเซียนหนึ่งเดียว\"

 

               อาเซียนและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที (CLMVT) จึงเป็นทางเลือกดาวเด่นสำหรับนักลงทุน ด้วยทำเลที่ตั้งบนใจกลางจุดยุทธศาสตร์และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของภูมิภาค ในช่วงเวลาที่เปราะบางเช่นนี้อาเซียนควรใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นและใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบเพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายบรรลุผลและเกิดประโยชน์สูงสุดที่ไม่เพียงเพื่อให้ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าแต่ยังช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่ภูมิภาคเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตอีกด้วย

               เสร็จจากประชุมอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 34 มาต่อที่เวทีเสวนา “ซีแอลเอ็มวีที ฟอรัม 2019”  เย็นวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน ก่อนประชุมซีแอลเอ็มวีที ฟอรัม 2019 วันที่ 24 มิถุนายน 2562 กระทรวงพาณิชย์ จัดดินเนอร์ทอล์ก ณ ห้องรอยัลมณียา บอลรูม โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ โดยเชิญวิทยากรระดับนานาชาติ ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชน ร่วมเวทีเสวนาในประเด็นผลกระทบและโอกาสที่ภูมิภาค ซีแอลเอ็มวีที กับการช่วงชิงจากสงครามการค้าของสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่

 บทสรุป CLMVT Forum 2019\"รวมพลังอาเซียนหนึ่งเดียว\"

               โดยมี ศ.คีชอร์ มาห์บูบานีมาห์ นักบริหาร นักคิด นักเขียนจากสิงคโปร์ที่โด่งดังระดับโลก อดีตทูตสิงคโปร์ประจำสหประชาชาติสองสมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส (ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์) และศาสตราจารย์ด้านการดำเนินนโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ "ฤาสหรัฐและจีนจะจบลงด้วยการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน :Are the US and China doomed to enmity?”

                 “ความขัดแย้งของสหรัฐและจีนไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่ลึกยิ่งไปกว่านั้น” ศ.คีชอร์ กล่าวเปิดประเด็น โดยมองว่าในอดีตเมื่อเกิดความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีคู่แข่งลำดับสองกำลังไล่ตามมาชิงความเป็นหนึ่ง ความตึงเครียดย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นความตึงเครียดทางการค้าที่เห็นอยู่ขณะนี้เป็นเพียงมิติหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจ

                 ศ.คีชอร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่แท้จริงของความขัดแย้งนี้อยู่ที่การเมืองหรือเศรษฐกิจ พร้อมชี้ว่าในอดีตความสัมพันธ์ที่สหรัฐจับมือกับจีนส่งผลให้อาเซียนเข้มแข็งขึ้นมา แต่ในปัจจุบัน เมื่อสหรัฐขัดแย้งกับจีนและกำลังพยายามสลัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจากจีน ผลกระทบที่ส่งต่อมาถึงภูมิภาคอาเซียนที่พึ่งพาความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจนี้ย่อมสั่นคลอนไปด้วย ดังนั้นความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะเป็นอนุสรณ์เตือนใจและอันตรายมากยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์ 52 ปีของอาเซียน

              “อาเซียนต้องเริ่มเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามจิตวิทยานี้ การพูดคุยหารือกันให้มากขึ้น เช่น การประชุมซีแอลเอ็มวีที นี้จึงจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในเวทีที่สำคัญมากที่จะช่วยนำอาเซียนให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้” ศ.คีชอร์ สรุปทิ้งท้าย

                  ขณะที่ ลี เฉิน เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนงาน สถาบันกิจการระหว่างประเทศสิงคโปร์ มีความเห็นสอดคล้องกับศ.คีชอร์ ที่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐและจีนนี้เป็นมากกว่าสงครามการค้าจะเรียกว่าการแข่งขันช่วงชิงอำนาจ หรือสงครามเย็นก็สุดแท้แต่ แต่โอกาสที่จีนจะยอมถอยเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

 บทสรุป CLMVT Forum 2019\"รวมพลังอาเซียนหนึ่งเดียว\"

                ลี เฉิน เฉิน ยังมองว่า สำหรับจีนตอนนี้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องของอำนาจอธิปไตยและศักดิ์ศรี ส่วนผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ซึ่งในระยะสั้นการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังอาเซียนตลอดจนการเข้าไปแทนที่ตลาดสินค้าจีนในสหรัฐ อาจเป็นผลบวกต่ออาเซียนในช่วงนีี้ แต่ในระยะยาวผลกระทบทางลบมีมากกว่า โดยเฉพาะการค้าที่หดตัวจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและบีบให้อาเซียนต้องตัดสินภายใต้ภาวะที่กดดัน

                 สำหรับทางออกของอาเซียนนั้น มิสลีชี้ว่าการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อโดยเฉพาะความเชื่อมโยงกันด้านโครงการพื้นฐานยังมีช่องว่างให้ภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงกันยิ่งขึ้น และอาเซียนจะต้องเร่งส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่าและฐานการผลิตโดยไม่รอช้าเพื่อให้ทันกันกระแสการเติบโต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่นอุตสาหกรรมไฮเทคและยานยนต์ แต่อาเซียนจะต้องดำเนินการปรับมาตรการ กฎระเบียบ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเกื้อหนุนเป้าหมายร่วมกัน

                  ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เห็นสอดคล้องกันว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนต่ออาเซียนจะรุนแรงมากยิ่งกว่าในอดีต เช่นในกรณีของไทย การส่งออกไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น ยกเว้นสหรัฐลดลง เพราะห่วงโซ่การผลิตได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามโอกาสของอาเซียนอยู่ที่ความร่วมมือเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตของแต่ละประเทศในภูมิภาค ซึ่งก้าวหน้าในระดับที่แตกต่างกัน จากต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เกื้อหนุนกันเพื่อเชื่อมต่อไปยังห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก

                “เราต้องคุยกันให้มากขึ้น และความร่วมมือกันคือหัวใจ” ดร.สมประวิณ กล่าวสรุป

               เช่นเดียวกับ มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มองว่าผลกระทบของสงครามการค้าที่ก้าวขึ้นไปถึงขั้นรุนแรงยิ่งกว่าแค่สหรัฐกับจีน แต่กำลังลุกลามเป็นการปกป้องทางการค้าในระดับภูมิภาค เช่น ข้อตกลง ยูเอสเอ็มซีเอ ที่ประกอบด้วยอเมริกา สหรัฐ เม็กซิโก แคนาดา ซึี่งภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังเม็กซิโกจำเป็นต้องปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์ เตรียมรับมือผลกระทบในเรื่องนี้

                  มนตรี ย้ำด้วยว่าการที่อาเชียนประกาศจะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์ซีอีพี) ให้บรรลุผลภายในปีนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐโดยตรง ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ควรผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มในการเข้าร่วมข้อตกลงสำคัญๆ ระดับโลกแทนที่จะเข้าร่วมแบบเอกเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าโลก  

                ด้าน ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงพาณิชย์รักษาราชการแทนรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานดินเนอร์ทอล์ก โดยระบุว่าท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและภูมิศาสตร์ทางการค้าที่เต็มไปด้วยความผันผวนไม่แน่นอน ภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที กลับมีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด เห็นได้จากข้อมูลระหว่างปี 2556-2560 ภูมิภาคนี้มีอัตรการขยายตัวเฉลี่ยของจีดีพี ที่ร้อยละ 4.25 และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ อัตราการขยายตัวส่งออกรายปีอยู่ที่ร้อยละ 4.6 นับว่าภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที ประสบความสำเร็จอย่างดีในด้านต่างๆ ตลอดช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษ  

                 ชุติมา ยอมรับว่าภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที ได้รับผลกระทบด้านบวกจากสงครามการค้าครั้งนี้ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารและเกษตรจะได้รับอานิสงส์เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐและจีนไปโดยปริยาย ทั้งนี้ในฐานะประเทศที่เป็นฐานการผลิตและส่งออก กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที จึงจำเป็นต้องประสานพลังความร่วมมือเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญที่เชื่อมต่อห่วงโซ่คุณค่าโลก และพัฒนาความหลากหลายของสินค้าและตลาด ร่วมกับการนำข้อได้เปรียบต่างๆ อาทิ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

   

             พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า นักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคระบุชัดว่าสงครามการค้าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าสู่อาเซียนกว่า 3 เท่า หรือกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ผ่านมาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทำให้หลายประเทศย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการส่งออกที่เกิดขึ้นกับจีนเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ทางการจีนยืนยันว่า อาเซียนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการลงทุนของจีน ซึ่งล่าสุดในปีนี้มีบริษัทจีนกว่า 4,000 บริษัท ที่เข้ามาดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 300,000 ตำแหน่ง

                พิมพ์ชนก ชี้ให้เห็นมูลค่าการส่งออกของไทยสู่ประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวีที เมื่อรวมกันแล้วมีสัดส่วนใกล้เคียงกับการส่งออกไปสหรัฐ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ตลาดในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของการเจริญเติบโตและการกระจายความเสี่ยงจากคู่ค้า ที่กำลังเผชิญผลกระทบจากสงครามการค้า เราจึงควรอาศัยโอกาสที่เกิดจากผลกระทบด้านบวกของการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนของต่างประเทศมาพัฒนาผ่าน 2 แนวทางหลัก 

               กล่าวคือพัฒนาธุรกิจที่เป็นแบบครัวเรือนไปสู่ระดับองค์กร พร้อมกับใช้เทคโนโลยีเข้ามาลดต้นทุนและปรับปรุงการบริหารจัดการให้มากขึ้นและพัฒนาช่องทางการขายแบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันเนื่องจากปัจจุบันช่องทางอีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางที่สำคัญในการซื้อขายสินค้า ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางในซีแอลเอ็มวีที ซึ่งผู้ประกอบการต้องเร่งศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

              

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ