ข่าว

 "เศรษฐกิจหมุนเวียน"เปลี่ยนอนาคตโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "เศรษฐกิจหมุนเวียน"เปลี่ยนอนาคตโลก ยึด"บีจีซี"ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยั่งยืน

 

          "โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่มุ่งสู่บีซีจี โมเดล(BCG Model)เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศระยะยาวหรือไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ เร่งเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน"

 "เศรษฐกิจหมุนเวียน"เปลี่ยนอนาคตโลก พีทีที โกลบอล เคมิคอล ระยอง

 

         นพมาศ ช่วยนุกูล ผู้อำนวยการกองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงนโยบายรัฐต่อการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือCircular Economy ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการปรับโครงสร้างการผลิตที่จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ โดยเน้นการผลักดันให้โรงงานก้าวสู่โรงงาน 4.0 ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเสียและวัสดุเหลือใช้ในประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

 "เศรษฐกิจหมุนเวียน"เปลี่ยนอนาคตโลก

   นพมาศ ช่วยนุกูล 

         เนื่องจากปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กำลังกลายเป็นวาระสำคัญระดับโลกที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ และองค์กรธุรกิจกำลังมุ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจและธุรกิจมาสู่ในทิศทางดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมที่เน้นการบริโภค และเติบโตภายใต้ระบบการผลิตที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง แต่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและแนวโน้มโลกอาจเกิดวิกฤติการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน อันเป็นรากฐานของความมั่นคงทางอาหาร และความอยู่รอดของมนุษย์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว

          สำหรับบีซีจี โมเดล(BCG Model)นั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy)  เศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy)  ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศระยะยาวที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ โดยเห็นได้จากประเทศต้นแบบที่ประสบคงามสำเร็จในการในการเดินตามแนวทางนี้อย่างเช่นเยอรมัน เดนมาร์กและญี่ปุ่น  

       นพมาศยอมรับว่านโยบายรัฐต่อการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นจะมีส่วนสำคัญในการปรับโครงสร้างการผลิตที่จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจโดยเน้นการผลักดันให้โรงงานก้าวสู่โรงงาน4.0 ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเสียและวัสดุเหลือใช้ในประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆที่เป็นสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

       อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 6 ด้านคือ 1.นโยบายและมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐ 2.ความตระหนักรู้ของภาคเอกชน 3.การขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน 4.เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ในด้านที่เกี่ยวข้อง โดยภาคเอกชนและภาคการศึกษาต้องเข้ามามีบทบาทนำในการพัฒนาด้านต่าง ๆ 5. เครือข่ายนำร่องที่เป็นต้นแบบพัฒนา และ6.การแสวงหาพันธมิตรในการพัฒนาทั้งภายในและนอกประเทศ

          ศ.ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่าหลายประเทศได้ในนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเดนมาร์ก คาดการณ์ว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จะสามารถสร้างอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี(GDP) สูงขึ้นถึง 0.8-1.4% ได้ในปี 2578(2035) ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายการนำ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนนัก แต่ภาคธุรกิจรายใหญ่ของไทยหลายแห่งได้นำเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าสู่ระบบการปรับโครงสร้างทางธุรกิจมากขึ้น

      จะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐของไทยนั้นเอาจริงเอาจังมากขึ้น ที่จะเร่งรัดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม ด้วยการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้โดยเฉพาะการนำมาปรับเปลี่ยนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย และเมื่อหันมามองมาธุรกิจเอกชนตัวอย่างที่เด่นชัด ซึ่งได้ประกาศการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นรากฐานการพัฒนาองค์กรอย่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดย GC กำลังเดินไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ  โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตภายในโรงงานที่มีการนำหลัก 5Rs มาใช้จนสามารถลดต้นทุนในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นต้นแบบให้เกิดการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่า และประโยชน์สูงสุดเพื่อนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง ซึ่งจะผลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืนในที่สุด 

                               

         

  "พีทีที โกลบอล"ยึดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ธุรกิจยั่งยืน

           สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวถึงการนำเศรษฐกิจหมุนเวียน((Circular Economy)มาประยุกต์ใช้กับองค์กรว่าบริษัทฯมุ่งมั่นในการประกอบกิจการที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในขั้นตอนการผลิต การอุปโภคบริโภค และการกำจัดขยะและของเสียจากผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสร้างดุลยภาพระหว่างเทคโนโลยีกับชีวภาพเพื่อลดการเกิดของเสียและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน  

          ทั้งนี้บริษัทฯได้ริเริ่มการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยจัดทำโครงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และลดปริมาณการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยในปี 2561 สามารถลดการใช้น้ำจืดจากภายนอกได้ถึง 7.23 ล้านลูกบาศก์เมตร การใช้น้ำหมุนเวียนในระบบหล่อเย็นและการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถใช้น้ำหมุนเวียนและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 8.08 ล้านลูกบาศก์เมตร

           ส่วนการบริหารจัดการกระบวนการผลิตนั้น สุพัฒนพงษ์ย้ำว่าบริษัทได้ออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งการใช้วัตถุดิบอย่างรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลัก 5Rs (Reduce การลดการใช้, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่, Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้ อย่างเช่นการดำเนินโครงการลดปริมาณของเสียอันตรายให้เป็นศูนย์ โดยดำเนินการตั้งแต่การลดปริมาณการเกิดของเสีย การใช้ซ้ำ และเปลี่ยนวิธีกำจัดของเสียจากวิธีฝังกลบเป็นวิธีอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

          โดยในปี 2561 บริษัทฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์ 113 เกรดให้ได้การรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์และ 60 เกรดผลิตภัณฑ์ ได้รับการรับรองเครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลากลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) นอกจากนั้นยังได้การรับรองเครื่องหมายวอเตอร์ฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์อีก 4 ผลิตภัณฑ์ จากสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

          นอกจากนี้พีทีที โกลบอลฯยังได้จับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยในการสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในรั้วมหาลัย ผ่านหลายโครงการ อาทิ โครงการ Chula Zero Waste ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ Be Smart Be Green ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร  โครงการ Think Cycle Bank ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล 

             และยังจับมือพันธมิตรทางธุรกิจ  อาทิ โครงการความร่วมมือ “GC-MQDC Upcycling Plastic Waste”และโครงการความร่วมมือกับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และวัตถุดิบ จากพลาสติกและพลาสติกย่อยสลายได้ 

        นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมุ่งดำเนินธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลโดยอยู่ในระหว่างการศึกษาการลงทุนโรงงานรีไซเคิล พลาสติกครบวงจรมาตรฐานสากลระดับโลก ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม การแสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุน รวมทั้งการจัดหาวัตถุดิบ (Waste Collection) ที่เหมาะสม คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2562 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ