ข่าว

 ทีโอทีลุยเต็มสูบ"เน็ตชายขอบ" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ทีโอทีลุยเต็มสูบ"เน็ตชายขอบ"  เร่งเชื่อมสัญญาณก่อนส่งมอบกสทช. 

 

            โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบหมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) หรือโครงการ USO Net ของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ชนะการประมูลประกวดราคา 3 สัญญา วงเงินรวม 6,486,399,926 บาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ประกอบด้วย 1.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคเหนือ มูลค่าโครงการ 2,103,800,000 บาท 2.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าโครงการ 2,492,599,999 บาท และ 3.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) มูลค่าโครงการ 1,899,999,927 บาท 

     

 

        ทั้งนี้ ทีโอทีได้มีการบริหารและดำเนินโครงการ USO Net ตามสัญญาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และประสงค์ที่จะดำเนินการตามสัญญาต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อโครงการและประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาการดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนดก็ตาม หลังครบกำหนดสัญญาโครงการไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา เพราะเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลที่หวังกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ห่างไกล และสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 และเป็นโครงการที่ได้รับการโหวตจากเวทีสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ให้เป็น 1 ใน 5 โครงการที่เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเข้าถึงประชาชนทุกอณูของพื้นที่ได้ดีที่สุด 

                ถึงแม้การดำเนินการจะล่าช้าทั้ง 3 สัญญา แต่ก็มีบางส่วนบางพื้นที่ที่ทีโอทีได้ส่งมอบบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงสาธารณะ (ฟรีไวไฟ)ไปแล้วจำนวน 1,704 หมู่บ้านและติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 567 หมู่บ้าน แต่ในส่วนที่เหลือเมื่อทีโอทีได้ทำการสำรวจและเข้าดำเนินการแล้วพบข้อจำกัดในการดำเนินโครงการต่างๆ มากมาย  ภายใต้ข้อจำกัดที่หลากหลายเหล่านี้ ทีโอทีจึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการประสานงานและติดตามความชัดเจนจากหลายภาคส่วน รวมทั้งต้องระมัดระวังให้การดำเนินโครงการฯถูกต้องตามระเบียบและสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

              “ข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าว อย่างเช่นข้อจำกัดของพื้นที่บริการ จุดติดตั้งที่อยู่ในเขตวนอุทยานแห่งชาติ สภาพพื้นที่ไม่อำนวย ข้อมูลบริการในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีพื้นที่เหมาะสม ตลอดจนข้อจำกัดสภาพภูมิประเทศภูมิอากาศ ความไม่สงบในพื้นที่บริการและอื่น ๆ”

              ก่อนหน้านี้ ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที แจงรายละเอียดปัญหาที่ทำให้การดำเนินงานของทีโอทีล่าช้าว่า ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังกสทช.เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาในจดหมายได้ชี้แจงถึงอุปสรรคในการเข้าถึงพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินโครงการได้ตามกำหนด ได้แก่ จุดติดตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานแห่งชาติ ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ นอกจากนี้มีปัญหาการกำหนดประเภทโครงข่ายและหรือสื่อของจุดติดตั้งไม่เหมาะสม เช่น ระบุไว้เป็นประเภท 2 สื่อ FTTX แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่มีแนวเสาไฟฟ้าพาดผ่าน, ระบุชนิดสื่อไว้เป็นดาวเทียม แต่พื้นที่อยู่ใกล้เคียงโครงข่ายของ USO Network, ระบุเป็นโครงข่ายประเภท 3 แต่เป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้ให้บริการ และจุดติดตั้งไม่เหมาะสม

             และมีการกำหนดตำแหน่งมีปัญหาหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว อีกทั้งพบว่าบางจุดติดตั้งคับแคบ, จุดติดตั้งไม่อยู่ในแหล่งชุมชนหรือพิกัดไม่ตรง, พื้นที่ไม่เพียงพอในการติดตั้งอุปกรณ์ที่กำหนดไว้หลายจุดและย้ายไปหมู่บ้านอื่นไม่ได้เพราะไม่มีที่ติดตั้ง ตลอดจนบางพื้นที่ แม้ว่าทีโอทีได้รับอนุมัติจุดติดตั้งแล้วก็ตาม แต่ในการทำประชาพิจารณ์ปรากฏว่า ชุมชนไม่ขอรับบริการ

                 ทั้งนี้หลังจากวันที่ 7 เมษายน 2562 เป็นต้นไปจะสั่งการให้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของทีโอที ทั้ง 7 คน ลงพื้นที่พร้อมกันเพื่อเร่งงานสร้างศูนย์ USO NET ให้ทันตามแผนที่ได้เสนอต่อกสทช.ภายในกลางเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ ยกเว้นจุดติดตั้งในพื้นที่เขตวนอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทีโอทียืนยันว่าทีโอทีต้องการเดินหน้าโครงการต่ออย่างแน่นอน

               บอสใหญ่ บมจ.ทีโอที เผยความคืบหน้าล่าสุด หลังได้มอบหมายให้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมทีมงานส่วนกลางและทีมงานในพื้นที่ผนึกกำลังทำงานกันอย่างเต็มสูบเพื่อเร่งดำเนินงานสร้างอาคารศูนย์ USO Net และติดตามงานอย่างใกล้ชิด และหากพื้นที่ใดติดปัญหาให้ร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน รวมถึงเพื่อให้กำลังใจทีมงานในการร่วมแรงร่วมใจทุ่มเทสุดกำลังเพื่อให้สามารถส่งมอบโครงการฯ ได้สำเร็จโดยเร็วที่สุด โดยทีมผู้บริหารได้จัดแบ่งทำงานแบบดาวกระจายเป็น 7 ทีม ประกอบด้วย ทีมที่ 1 มี ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ นำทีม ลงพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว อ.สูงเนิน อ.ห้วยแถลง อ.ครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

               ส่วนทีมที่ 2 มี มรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาองค์กร วุฒิดนัย ฐิตะกสิกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและอินเทอร์เน็ตภาครัฐ นำทีม พร้อม ดร.พงศ์ธิติ พงศ์ศิลามณี ประธาน สรท. ลงพื้นที่ อ.หนองกรุงศรี อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ อ.เต่าเอย จ.สกลนคร อ.ดงหลวง อ.เมือง จ.มุกดาหาร อ.เมือง จ.สกลนคร ทีมที่ 3 มี ดร.กำธร ไวทยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน นำทีมลงพื้นที่ อ.บัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา อ.แวงใหญ่ อ.ชนบท อ.หนองสองห้อง อ.บ้านฝาง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น

              ทีมที่ 4 มี รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย นำทีมลงพื้นที่ อ.ศรีเทพ อ.วิเชียรบุรี อ.ท่าตะโก อ.ตาคลี อ.แม่วงก์ จ.เพชรบูรณ์ ทีมที่ 5 มี สมศักดิ์ มหาวิริโย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจขายและบริการลูกค้า ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก นำทีมพร้อมบุญเหลือ เฟื่องชุ่ม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ลงพื้นที่ อ.หนองบัวแดง อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.ภูเขียว อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

               ส่วนทีมที่ 6 มี เรืองศักดิ์ ชินะโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจขายและบริการลูกค้า ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำทีมลงพื้นที่ อ.น้ำหนาว อ.หล่มเก่า อ.นครไทย อ.เนินมะปราง จ.เพชรบูรณ์และสุดท้ายทีมที่ 7 มี วรรณพร ลีฬหาชีวะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจขายและบริการลูกค้าองค์กร นำทีมพร้อมวันชัย ศศิมหศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ลงพื้นที่ อ.สีชมพู อ.เขาสวนกวาง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

        

  

 

            บอสใหญ่ บมจ.ทีโอทีย้ำว่า การลงพื้นที่พร้อมๆ กันของผู้บริหารและทีมงานทั้งส่วนกลางและพื้นที่ในครั้งนี้ จะทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหาร ที่จะให้ข้อแนะนำแนวทางการดำเนินงาน พร้อมให้ทีมงานสามารถโทรหารือและรายงานผลได้โดยตรง และเมื่อรวมกับความชำนาญของทีมงานของพื้นที่ จะสามารถร่วมกันประมวลหาแนวทางที่รวดเร็วเหมาะสมได้ทันที นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ทีมงานในการเดินหน้าเร่งดำเนินการตามแผนงานที่เสนอ กสทช.ให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ