ข่าว

 บีโอไอรุก"อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 บีโอไอรุก"อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต"ใช้"ซับคอนไทยแลนด์"ดึงต่างชาติลงทุน

 

          กล่าวสำหรับ “อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต” ของประเทศไทยได้รับการกล่าวถึงและยอมรับจากทั่วโลก ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

          โดยเป็นผลมาจากปัจจัยบวกต่างๆ ได้แก่ นโยบายส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี แผนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบรางและอากาศ เป็นต้น 

 บีโอไอรุก"อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต"      ดร.บงกช อนุโรจน์(กลาง) รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 บีโอไอรุก"อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต"

 

               ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลบวกต่อการขยายตัวด้านการส่งออก และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของผู้บริโภคและการลงทุน ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของการลงทุนในไทยคืออุตสาหกรรมสนับสนุนหรืออุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต จากการเติบโตของการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่งานซับคอนไทยแลนด์ (SUBCON THAILAND 2019) เป็นงานประจำปี (ANNUAL EVENT) จัดคู่ขนานไปกับงานอินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ (INTERMACH - MTA 2019) 

              "ที่ผู้ประกอบการชั้นนำจากประเทศต่างๆ เลือกที่จะปักหมุดให้เป็นงานสำคัญที่จะแสวงหาหุ้นส่วนในการทำธุรกิจเพื่อต่อยอดการผลิตได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย กลายเป็นงานสำคัญที่สร้างเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเชื่อมโยงโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสู่การเป็นผู้รับช่วงการผลิตระดับภูมิภาคและระดับโลก"

             ดร.บงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวระหว่างเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน "ซับคอนไทยแลนด์ 2019" เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว โดยระบุว่าอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทยมีอัตราการเติบโตในทุกปีและมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี นับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ด้วยความสำคัญดังกล่าวทางบีโอไอ จึงมีแผนที่จะสนับสนุนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยและบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่จากทั้งในและประเทศต่างๆ ทั่วโลก และสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

 บีโอไอรุก"อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต"

                "งานซับคอนไทยแลนด์ 2019 ปีนี้มุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน” โดยมีกิจกรรมสนับสนุนมากมาย อาทิ งานแสดงนิทรรศการของอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทย การจับคู่ธุรกิจ นำผู้ซื้อจากกว่า 400 บริษัท 30 ประเทศ โดยความร่วมมือของสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศมาพบกับผู้ผลิตภายในงาน การจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ รวมทั้ง Buyers’ Village ที่จะนำผู้ซื้อชิ้นส่วนจากกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve กว่า 15 ราย อาทิ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ออสเตรีย สวีเดน เกาหลี เนเธอร์แลนด์ จีน อินเดีย เข้าร่วมงาน” ดร.บงกช กล่าว

                   สำหรับไฮไลท์ปีนี้บีโอไอได้จัดให้มีโซนพิเศษขึ้น คือโซน Innovation to Business ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นการเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน ระบบราง และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เข้าร่วมแสดง นอกจากนี้ในส่วนของสมาคมเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทยจะมีการนำเสนอ TARA Showcase นำเสนอการทำงานในไลน์การผลิตของระบบ Automation and Robotic รวมทั้งอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องแพทย์และสุขภาพ ที่พร้อมนำเสนอนวัตกรรมด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยงานซับคอนไทยแลนด์ในปี 2019 ได้มีการตั้งเป้าที่จะจับคู่ธุรกิจกว่า 8,000 คู่ และคาดว่าจะเกิดธุรกรรมทางธุรกิจมูลค่าไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาท 

 บีโอไอรุก"อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต"

                  ทั้งนี้ยอดของการจับคู่ทางธุรกิจผ่านงานซับคอนไทยแลนด์ในปีที่ผ่านมา (2018) สามารถจับคู่ทางธุรกิจได้ถึง 7,211 คู่ ก่อให้เกิดธุรกรรมกว่า 12,706 ล้านบาท ซึ่งยอดการจับคู่นั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดผู้ซื้อจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าร่วมเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินชั้นนำกว่า 40 ราย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ซึ่งมาจากการเชิญของสำนักงาน BOI ในและต่างประเทศทั้ง 14 แห่ง 

             มนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริหารบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) และเจ้าภาพการจัดงานครั้งนี้กล่าวเสริมว่า งาน อินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ 2019 จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 36 โดยมีงานซับคอนไทยแลนด์จัดคู่ขนานกับงานอินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ 2019 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13  โดยงานอินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ 2019 เป็นงานแสดงนวัตกรรมเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต รวบรวมเทคโนโลยีจาก 1,200 แบรนด์จาก 45 ประเทศ และมีประเทศผู้ผลิตนำผลงานมาจัดแสดงในรูปแบบพาวิลเลียนจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน และจีน 

              นอกจากนี้ยังจัดให้มีการสาธิตระบบการผลิตอัจฉริยะที่รวบรวมเทคโนโลยีการผลิตจากแบรนด์ชั้นนำในโซน (RO) Bots Hub มาทำงานร่วมกันด้วยซอฟต์แวร์ที่ออกแบบใหม่เพื่อการประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับไลน์การผลิตและเครื่องจักรที่มีอยู่ต่างชนิดได้อย่างลงตัว โดยบริษัท โรบอท ซีสเท็ม จำกัด (ROBOTSYSTEM) บริษัทของผู้เชี่ยวชาญชาวไทย หรือเจ้าของฉายาไอรอนแมนเมืองไทย ที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับสากลมาจัดแสดงการใช้งานจริงเพื่อให้ผู้สนใจได้สัมผัสอีกด้วย 

          ด้าน เกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เผยว่า ทางสมาคมนั้นมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐผลักดัน อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)  ซึ่งผู้ประกอบการจะเกิดการต่อยอดไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านการขนส่งและโลจิสติกส์อย่างระบบรางและอากาศยาน โดยขณะนี้ทางสมาคมเองก็ได้มุ่งเน้นการให้ความรู้ให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนสายการผลิตใหม่ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ อาทิ ระบบออโตเมชั่น เป็นต้น

                “สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2019 นอกจากเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เรายังได้นำกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมภายในงาน เช่น เครื่องมือแพทย์ การป้องกันประเทศ ระบบรางและอากาศยานจัดแสดงควบคู่ไปกับการจัดสัมมนา คาดว่าจะทำให้ภายในงานเกิดความคึกคักและได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวไทยและอาเซียน” เกียรติศักดิ์ กล่าวเสริม

             อย่างไรก็ตามงานซับคอนไทยแลนด์ 2019 งานแสดงอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและงานจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นการร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะจัดร่วมกับงานอินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ 2019 จัดขึ้นระหว่างวันพุธที่ 8-เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา  

                                                           

 

                              ให้สิทธิพิเศษ“เอสเอ็มอี”การผลิตหุ่นยนต์

             หลังจากรัฐบาลออกมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุน โดยมุ่งเน้นให้ทุกจังหวัดยกเว้น กทม.เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนในปีแห่งการลงทุน 2562 นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้สานต่อและเริ่มดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้น ซึ่งมีเป้าหมายที่เข็มแข็งในการ “ขยายตัวของการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

              กาญจนา นพพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เผยว่ามาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในช่วงปีแห่งการลงทุนในปี 2562 นี้ ทางบีโอไอได้เพิ่มสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปี โดยมาตรการนี้ให้มีผลบังคับใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 ธันวาคม 2562 โดยทิศทางการส่งเสริมการลงทุนใหม่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนั้นยังคงมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต อาทิ การแพทย์ครบวงจร ยานยนต์สมัยใหม่ อาหารแห่งอนาคต และการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งเสริมกิจการเป้าหมายในพื้นที่พิเศษ อีอีซี รวมถึงผลักดันการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอีกด้วย

              วิวัฒน์ พันธ์สระ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 (ศูนย์ชลบุรี) กล่าวเสริมว่า ทางบีโอไอมีการส่งเสริมการลงทุนเฉพาะกลุ่มผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาจะต้องครอบคลุมในเรื่องของการประหยัดพลังงาน การนำพลังงานทดแทนมาใช้ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญจะต้องมีการปรับปรุงเครื่องจักรในสายการผลิต เช่น การติดตั้งหุ่นยนต์ชุดป้อนวัตถุดิบอัตโนมัติหรือการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ทำให้คุณภาพผลิตภัณฑ์ดีขึ้นหรือการนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

              สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ เมื่อปรับปรุงการการผลิตเดิมเป็นออโตเมชั่นหรือลงทุนสายการผลิตใหม่โดยใช้ระบบออโตเมชั่นจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี โดยวงเงินยกเว้นไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติ ทั้งนี้อีกหนึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญ คือเรื่องการวิจัยและพัฒนาจะต้องมีการลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรก นับจากวันที่ยื่นขอรับการส่งเสริม 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ