ข่าว

 ผสาน"นวัตกรรม"ผสมอัตลักษณ์ไทย ตอบโจทย์"ผู้บริโภค"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ผสาน"นวัตกรรม"ผสมอัตลักษณ์ไทย ตอบโจทย์"ผู้บริโภค"หลากไลฟ์สไตล์         

 

             การผนวกงานแสดงสินค้าทั้ง 3 งานเข้าด้วยกัน เป็นการตอบสนองต่อแนวโน้มไลฟ์สไตล์ของโลกที่เปลี่ยนไป ตอบรับกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดเวลา และลดการเดินทางมาสั่งซื้อสินค้า นับเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อได้พบสินค้าที่หลากหลายและครบครันภายในงานเดียว สำหรับงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2019 ระหว่างวันที่ 17 -21 เม.ย. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Crenovative Origin”สะท้อนแนวคิดในการผสานความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นนวัตกรรม และอัตลักษณ์ไทยอันโดดเด่นไว้ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์

 ผสาน"นวัตกรรม"ผสมอัตลักษณ์ไทย ตอบโจทย์"ผู้บริโภค"

 

          "สิ่งหนี่งที่ทำให้งาน STYLE Bangkok มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากงานแสดงสินค้าอื่นๆ คือสินค้าไลฟ์สไตล์ที่นำมาจัดแสดงล้วนแล้วแต่มีคุณภาพยอดเยี่ยม เติมแต่งด้วยความคิดสร้างสรรค์ ในรูปแบบที่ทันสมัย ผสมผสานอย่างลงตัวกับอัตลักษณ์ฝีมือเชิงช่างของไทยซึ่งไม่เป็นสองรองใครในโลก จนได้รับการยอมรับและชื่นชมในนานาประเทศ" 

           บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน เมื่อวันที่ 17 เม.ย. โดยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าปลีก, คอนเซ็ปต์สโตร์, ตัวแทนจัดซื้อ นักออกแบบ, มัณฑนากร, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ห้างสรรพสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการขยายโอกาสทางการค้าของผู้ร่วมแสดงสินค้าที่จะได้พบผู้ซื้อและคู่ค้าใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น

           ทั้งนี้งานแสดงสินค้า STYLE Bangkok คือผลสำเร็จ อันเกิดจากการผนวกความยิ่งใหญ่ของ 3 งานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์นานาชาติ ได้แก่ งานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง หรือ BIFF & BIL งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน หรือ BIG+BIH และงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ หรือ TIFF ซึ่งแต่ละงานได้มีการจัดต่อเนื่องมายาวนานกว่า 20 ปี  โดยกระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดย ส่งเสริมผู้ผลิตและผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน พัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้เชิงธุรกิจแก่ผู้ประกอบการขนาดย่อม ตลอดจนสร้างเวทีขยายโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทย 

           "งานแสดงสินค้า STYLE Bangkok เป็นหนึ่งในเวทีการค้าและช่องทางการตลาดสำคัญ ที่กระทรวงฯ ใช้ในการสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ให้ขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศและเจาะตลาดใหม่ๆ ได้สำเร็จ” 

 ผสาน"นวัตกรรม"ผสมอัตลักษณ์ไทย ตอบโจทย์"ผู้บริโภค"

           ขณะที่ บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP กล่าวเสริมว่างานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Crenovative Origin’ ซึ่งสะท้อนแนวคิดในการผสานความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นวัตกรรม (Innovation) และอัตลักษณ์อันโดดเด่น (Origin) ไว้ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ของไทย ทำให้สินค้าที่นำมาจัดแสดงล้วนแล้วแต่มีคุณภาพยอดเยี่ยม สร้างสรรค์ ทันสมัย ผสมผสานอย่างลงตัวกับอัตลักษณ์ฝีมือเชิงช่างของไทยซึ่งไม่เป็นสองรองใครในโลก จนได้รับการยอมรับและชื่นชมในนานาประเทศ ซึ่งกรมมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาให้งานแสดงสินค้า STYLE Bangkok เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติแถวหน้าของภูมิภาค และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ของภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และระดับโลกต่อไป 

            “ภายในงาน ไม่เพียงแต่นำเสนอผลงานของผู้ประกอบการไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสินค้าของผู้ผลิตนานาชาติ ทั้งจากจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน กานา อินโดนีเซีย และประเทศกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาวเมียนมา และเวียดนาม รวมกว่า 900 บริษัท จัดแสดงใน 1,700 คูหา ที่สำคัญ กว่าร้อยละ 90 ของบริษัทที่ร่วมแสดงสินค้าล้วนเป็นผู้ผลิตตัวจริง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์และความแตกต่างของงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้พบปะและเจรจาการค้ากับผู้ผลิตโดยตรง ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 45,000 จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกเดินทางมาชมงาน”อธิบดีบรรจงจิตต์ กล่าว

               อย่างไรก็ตามนอกจากสินค้าไลฟ์สไตล์อันหลากหลาย ครอบคลุม และครบครันที่สุดแล้ว ภายในงานยังมีนิทรรศการแสดงสินค้าโดดเด่นและนำเทรนด์น่าสนใจกว่า 20 นิทรรศการ อาทิ โซนแสดงสินค้าของผู้ประกอบการหน้าใหม่ในโครงการ The New Faces และผู้ประกอบการ SMEs ว่า 130 รายจากทั่วประเทศ กลุ่มนิทรรศการสินค้าแนวดีไซน์และสินค้าเจาะตลาดเฉพาะ (Niche) และนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เช่น Functional Textile นิทรรศการนำเสนอแนวโน้มการใช้วัสดุต่างๆ ในการสรรค์สร้างสินค้าไลฟ์สไตล์ (Material Solution) เป็นต้น  

             “อีกไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ กิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ที่น่าสนใจกว่า 15 หัวข้อ ครอบคลุมตั้งแต่เทรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ มาตรฐานสิ่งทอ ไปจนถึงการพัฒนาตลาดออนไลน์ออฟไลน์ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งในงาน STYLE Bangkok ครั้งนี้ CEO และดีไซเนอร์ชื่อดังจากแบรนด์ Eponine London จะมาร่วมสัมมนาสร้างแรงบันดาลใจเรื่องการพัฒนาผ้าผืนไทยให้ไปไกลระดับโลกอีกด้วย”

              อย่างไรก็ตามจากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุการส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ในปี 2561 ที่ผ่านมามีมูลค่าราว 12,165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6 และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่าราว 1,619 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าที่มีอัตราการส่งออกขยายตัวสูง ได้แก่ ถุงมือผ้า(ร้อยละ 46) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง(ร้อยละ 44) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว(27.5%) ของเล่น (20%) โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร 

              สำหรับงาน STYLE Bangkok 2019 ครั้งที่4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 เมษายน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยเปิดเป็นวันเจรจาธุรกิจ 17-19 เมษายน เวลา 10.00-18.00 น. และเปิดสำหรับประชาชนทั่วไป วันเสาร์ที่ 20 และวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน เวลา 10.00-21.00 น. สนใจข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ www.stylebangkokfair.com หรือโทรสายตรงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 1169  

 

                                  ยกระดับ“สิ่งทอไทย”สู่มาตรฐานสากล

          ไชยยศ รุ่งเจริญชัย นายกสมาคมพ่อค้าผ้าไทย ตลาดสำเพ็งกล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าของนวัตกรรมสิ่งทอ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันเป็นที่สนใจในตลาดโลก โดยเฉพาะการพัฒนาสิ่งทอให้มีคุณสมบัติพิเศษ หรือ Functional Textile เช่น ผ้ามีคุณสมบัติกันแมลง กันน้ำ ต้านการลามไฟ และการพัฒนาเทคโนโลยียับยั้งแบคทีเรียได้ตลอดอายุการใช้งาน โดยการพัฒนาสินค้าทั้งในรูปแบบสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่ม บูรณาการผู้ผลิตผ้า Functional Textile ร่วมกับนักออกแบบ เพื่อให้ได้ผ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับฟังก์ชั่นการใช้งานและดีไซน์ทันสมัย เช่น ผ้าสำหรับชุดยูนิฟอร์ม เครื่องแบบกีฬา ชุดบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่สามารถยับยั้งแบคทีเรีย ระบายอากาศได้ดี เคลื่อนไหวสะดวก  

     “ปัจจุบันธุรกิจสิ่งทอมีการแข่งขันสูงขึ้น ผู้ประกอบการจำต้องปรับตัว พัฒนาแนวคิด ทั้งรูปแบบและเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆสำหรับสิ่งทอของไทย เพื่อยกระดับคุณภาพ สร้างความแตกต่าง และสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ให้กับสิ่งทอไทย”นายกสมาคมพ่อค้าผ้าไทยกล่าว  

         วิภาวัส ดาราพงศ์สถาพร เจ้าของบริษัท ขนุนแอนด์เฟรนด์ จำกัด ผู้ประกอบเอสเอ็มอี ผู้ผลิตกระเป๋าอเนกประสงค์หลากหลายสไตล์ ภายใต้ยี่ห้อ TA THA TAหรือตถตา เป็นภาษาบาลีแปลว่าเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งเพิ่งมาร่วมออกงานนี้เป็นปีแรกเผยว่ารู้สึกดีใจที่มีโอกาสในการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นไอเดียของตัวเองที่ผลิตขึ้นมาจำหน่ายในงานนี้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำตลาด   ซึ่งได้รับการตอบรับพอสมควรทั้งในและต่างประเทศ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ชอบไอเดียการออกแบบและใช้ได้สารพัดประโยชน์   

 ผสาน"นวัตกรรม"ผสมอัตลักษณ์ไทย ตอบโจทย์"ผู้บริโภค"

         "ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ให้โอกาสผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ มาร่วมจัดแสดงสินค้าในงานนี้  อยากให้มีการจัดงานระดับนานาชาติแบบนี้บ่อย ๆ เพื่อจะเป็นเวทีของผู้ประกอบการไทยในการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ เป้ามหายไม่ใช่แค่การขายสินค้าเท่านั้นแต่ยังเป็นเวลทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ประกอบการด้วยกันเองด้วย"วิภาวัสกล่าวย้ำทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ