ข่าว

เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย มองผ่าน "วิรไท สันติประภพ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จับชีพจรเศรษฐกิจโลก  เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย   มองผ่าน "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

 

       

          “การปรับลดภาษีและค่าธรรมเนียมเป็นมาตรการสำคัญของเราในการต่อสู้แรงกดดันลงต่ำทางเศรษฐกิจในปีนี้” 

          นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนกล่าวอ้างจากซินหวามาตรการนี้ออกมาหลังจากคำสัญญาเมื่อเดือนที่แล้วที่ว่าจะปรับลดภาษีนิติบุคคลและค่าประกันภัยสังคมลงเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยการปรับลดเริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา หวังกระตุ้นเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐ

 

           สอดรับการวิเคราะห์ของผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ในงานเสวนาหัวข้อ “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ที่มองว่า 

          “ถ้ามองสภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้จะมีส่วนที่ไม่ค่อยดีอยู่บ้าง  ถ้าดูจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ อยู่ในภาวะที่ชะลอตัวลง ประเทศที่มีแนวโน้นเศรษฐกิจชะลอตัวลงก็จะเป็นประเทศในสหภาพยุโรปและจีน ส่วนสหรัฐอเมริกายังมีแนวโน้นการขยายตัวค่อนข้างดี”

            ผู้ว่าการแบงก์ชาติเผยว่า สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไม่ดีส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอตัวลดการผลิตลงและปัญหาข้อตกลงแยกของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่วนจีนที่เป็นปัญหามาจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่และปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แม้จะไม่มีผลกระทบกับไทยโดยตรง แต่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกของไทยมีปัญหา

          ดร.วิรไท ย้ำว่าในอนาคตข้างหน้าเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น  การทำธุรกิจในตลาดโลกมีการเชื่อมต่อมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนจะเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีการบริหารความเสี่ยง เช่นการกระจายตลาดสินค้า ขยายคู่ค้า ไม่พึ่งพาที่ใดที่หนึ่ง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถ้าเราพึ่งผู้ใดเป็นหลักความไม่สดใสก็จะเกิดขึ้น แต่ในวิกฤติก็ยังมีโอกาส เมื่อสหรัฐอเมริกาตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีนสูงก็เป็นโอกาสของไทยในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากสินค้าจีนบางประเภทจะต้องส่งออกผ่านไทย  

           “อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ท่านอาจมีคำถามในใจเรื่องค่าเงินก็เหมือนเหรียญสองด้าน เป็นเหรียญสองด้านที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ต้องฟังธนาคารกลางสหรัฐเปลี่ยนนโยบายอย่างไรบ้าง ถ้าค่าเงินดอลลาร์เปลี่ยนก็จะมีผลกระทบค่าเงินทั่วโลก”

          ผู้ว่าการแบงค์ชาติเผยต่อว่า หากมองย้อนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ มีความผันผวนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค แต่โจทย์ใหญ่ก็คือเราไม่สามารถกำหนดค่าเงินได้จากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกเหล่านี้ได้  ยกตัวอย่างปัจจัยการเมืองอเมริกาไม่รู้ว่าวันดีคืนดี ประธานนาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตอะไรมา ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบค่าเงินได้ 

          "แทนที่เราจะตั้งโจทย์ว่าค่าเงินควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ก็มาตั้งว่าทำอย่างไรที่เราจะสามารถจัดการบริหารความเสี่ยงค่าเงินได้ดีขึ้น  ความผันผวนค่าเงินที่เกิดขึ้นที่ผ่านมามาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก จะเห็นว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินมีเครื่องมือจัดการบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น อย่างเรื่องออปชั่นช่วยชาติการซื้อสิทธิ์ประกันค่าเงินล่วงหน้า หรือแม้แต่การซื้อขายโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่นแทนการใช้ดอลลาร์ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบจำนวนไม่น้อยใช้เงินบาทเป็นเงินที่อินวอยซ์เพิ่มมากขึ้น

         “เห็นได้จากปีที่แล้วการซื้อขายสินค้าชายแดนไปลาวไปเมียนมาร์ หรือแม้กระทั่งสินค้าส่งไปออสเตรเลียก็ใช้อินวอยซ์เป็นเงินบาทเพื่อทีี่จะลดความเสี่ยงจากความผันผวนของดอลลาร์ หรืออย่างจีนเมื่อก่อนเราใช้กับบางมณฑล อย่างเช่น มณฑลยูนนาน แต่ตอนนี้เราได้ทำข้อตกลงกับธนาคารกลางจีนให้สามารถทำธุรกิจซื้อขายสินค้าโดยใช้บาทและหยวนได้ทุกมณฑล เหล่านี้เป็นการลดความเสี่ยงแทนที่จะผูกกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีความไม่แน่นอนในเรื่องค่าเงินอาจมีความผันผวนเกิดขึ้นได้” 

 

 

         ส่วนประเด็นสุดท้าย วิรไท มองว่าเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ย โดย 3 ปัจจัยที่มีผลต่อนโยบายการเงินของประเทศ เรื่องแรกคือภาวะเงินเฟ้อ  สองการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น และสามการขยายตัวเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย เมื่อมาย้อนดูความมีเสถียรภาพของระบบการเงินซึ่งมีวิกฤติจากอัตราดอกเบี้ยส่งผลทำให้ระบบการเงินเปราะบาง สำหรับเงินเฟ้อที่เรามีความกังวัลเป็นเงินเฟ้อสูงกว่ากรอบที่วางไว้ แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำก็ต้องไปดูว่าต่ำเกิดจากอะไร  ซึ่งทุกคนคิดว่ามาจากเศรษฐกิจแย่ ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย ไม่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน เพราะทุกคนคิดจะไปรอซื้อของเอาข้างหน้าอันนี้น่ากลัวมากกว่า

           “เงินเฟ้อของเราตอนนี้อยู่ในระดับ 1% ติดกรอบล่างไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่นักยังอยู่ในกรอบเป้าหมายคือกรอบล่าง การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปี 2560-2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4 ปีที่แล้วก็ 4.1 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเกินร้อยละ 4 ต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน และปีนี้เราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.8  ส่วนปีหน้าประมาณการอยู่ที่ 3.9 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศด้วย”

 

        ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้ลองมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือในปี 2009 เป็นปีที่เกิดวิกฤติการณ์การเงินโลก อัตราดอกเบี้ยขณะนั้นอยู่ที่ 1.25%  วันนั้นเศรษฐกิจโลกติดลบ เศรษฐกิจไทยจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 0.9  ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปที่ 1.25% จากนั้นเศรษฐกิจฟื้นตัวรับนโยบายทำให้อัตราดอกเบียปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งมาอยู่ที่ 1.5% เมื่อ 3 ปีที่แล้วเรามีกีฬาสีบนถนนช่วงนั้นกิจกรรมทุกอย่างชะงักหมด รายได้จากการท่องเที่ยวก็ลดลง ไม่มีใครมาเที่ยว รัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณก็ไม่สามารถใช้งานได้ 

            “วันนี้เราพูดถึงจีดีพีขยายตัว 4% ต่อเนื่องกันมา 2 ปี เรามานั่งดูว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากนโยบายคือเสถียรภาพทางการเงิน และการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานานทำให้วันนี้ทุกคนไม่คิดที่จะเอาเงินไปฝากแบงก์ แต่คิดเอาเงินไปลงทุนดีกว่า ใครชวนไปลงทุนอะไรก็ไปลงทุนโดยที่ไม่เข้าใจในเรื่องความเสี่ยง  สหกรณ์ออมทรัพย์ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเอาเงินไปฝากได้ดอกเบี้ย 4% วันนี้สหกรณ์ออมทรัพย์โตขึ้นทุกปีแล้วก็มีเงินอยู่ในระบบเกินกว่า 10%  มาตรการในการดูแลต่างๆ จะต้องเข้มงวดมากขึ้น พ.ร.บ.การเงินสหกรณ์ฉบับใหม่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังแก้ไขในรายละเอียดกฎเกณ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในระบบ”

            ไม่เพียงแค่สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น การให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีมาตรการป้องกันไว้อย่างเข้มงวดเช่นกัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่ให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัยทำได้ยากขึ้น แต่เจตนาสำคัญคือเพื่อที่จะไม่ให้คนมาใช้ช่องทางอสังหาริมทรัพย์ในการเก็งกำไร

             “ท่านคงรู้จักสินเชื่อเงินทอน  มีคนรับจ้างจัดสินเชื่อเงินทอนให้ท่านได้ บางคนซื้อบ้านพร้อมกัน 3 หลัง ราคาประกาศขาย 5 ล้าน แต่ไปซื้อจริง 4.5 ล้าน แต่เอา 5 ล้านไปขอกู้สถาบันการเงิน  สถาบันการเงินก็แข่งกันให้สินเชื่อ แทนที่จะให้ 5 ล้านก็ให้เพิ่มอีก 10% เป็น 5.5 ล้านสำหรับซื้อเฟอร์นิเจอร์ เพราะฉะนั้นผู้ซื้อ 4.5 ล้านจึงได้เงินสดมาล้านนึงเอามาใช้ฟรีๆ ซึ่งมันขัดความรู้สึก สินเชื่อบ้านจริงๆ มีเอ็นพีแอลที่ต่ำมาก เพราะทุกคนไม่อยากให้บ้านที่อยู่อาศัยของเราเองหลุดไป จึงระมัดระวังในการชำระหนี้ แต่ถ้าเป็นสินเชื่ออสังหาฯ ที่เก็งกำไรในที่สุดเกิดเอ็นพีแอล นี่เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน” ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้มุมมองทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ