ข่าว

 "ดุสิตผนึกซีพีเอ็น"เปิดตัวอสังหาฯ"มิกซ์ยูส"ใจกลางกรุง     

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ดุสิตผนึกซีพีเอ็น"ตอบโจทย์คนเมือง เปิดตัวอสังหาฯ"มิกซ์ยูส"ใจกลางกรุง          

 

            หากย้อนไปเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2513 "ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่ได้รับการยกย่องในเวทีโลก ได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญด้วยการก่อตั้งโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวขึ้นแห่งแรกในประเทศไทย บนถนนสีลม-พระราม 4 ย่านใจกลางกรุง ภายใต้ชื่อ “โรงแรมดุสิตธานี” 

 "ดุสิตผนึกซีพีเอ็น"เปิดตัวอสังหาฯ"มิกซ์ยูส"ใจกลางกรุง     

          กาลเวลาเปลี่ยนไปทำให้ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง โรงแรมดุสิตธานีถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งด้วยการจับมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ร่วมสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ภายใต้โครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” โครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ บนเนื้อที่ 23 ไร่เศษ ภายใต้แนวคิด “Here for Bangkok” ที่ผสานการใช้ชีวิตทุกรูปแบบ ประกอบด้วย โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงานและศูนย์การค้า มูลค่าโครงการรวมกว่า 36,700 ล้านบาท

 

            “เราจะสร้างศูนย์กลางการใช้ชีวิตแห่งใหม่สำหรับคนกรุงเทพฯ" 

            วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารซีพีเอ็น กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวการจับมือระหว่างสองกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจโรงแรมและการบริการ “ดุสิตธานีและเซ็นทรัลพัฒนา” เมื่อวันที่ 1 เมษายน ณ ล็อบบี้โรงแรมดุสิตธานี ภายใต้แบรนด์ “เซ็นทรัล พาร์ค” สอดคล้องกับแนวคิด “Here for Bangkok” ซึ่งประกอบไปด้วย “เซ็นทรัลพาร์ค ออฟฟิศเซส และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพาร์ค”   

                โดยมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ บนเนื้อที่กว่า 23 ไร่ ตรงมุมถนนสีลม-พระราม 4 นี้ มีพื้นทีี่รวมกว่า 440,000 ตร.ม. มูลค่าโครงการกว่า 36,700 ล้านบาทนั้น เป็นการเติมเต็มไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ อย่างครบวงจร สะท้อนวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาโครงการที่ดีที่สุดเพื่อคนเมืองหลวงใน 4 ด้าน ได้แก่ Here for Heritage & Innovation นำการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมผสานนวัตกรรมมาใช้ในโครงการ, Here for Unrivalled Connectivity เป็นโครงการมิกซ์ยูสเดียวในกรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงทุกย่านสำคัญและระบบคมนาคมทุกระนาบของกรุงเทพฯ, Here for a Lush Quality of Life เพื่อชีวิตคุณภาพใกล้ชิดธรรมชาติ เนื่องจากอยู่ใกล้สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดหรือปอดของกรุงเทพฯ อย่างสวนลุมพินี ทั้งยังเต็มไปด้วยสีสันทั้งกลางวันและกลางคืน และสุดท้าย Here for Meaningful Experiences ที่เชื่อมโยงรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทันสมัยควบคู่กับการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ มุ่งสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและพื้นที่สีเขียว

               “โครงการนี้เป็นมาสเตอร์พีซระดับเวิลด์คลาสที่คงความเป็นไทย เพราะออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกอันดับหนึ่งของไทยที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก และยังมีที่ปรึกษาด้านสถาปนิกชื่อดังระดับโลกมาร่วมสร้างสรรค์”

               วัลยา ยืนยันว่า สิ่งที่ซีพีเอ็นและดุสิตกำลังร่วมกันทำนี้จะเป็นมากกว่าการสร้างมิกซ์ยูสทั่วไป แต่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะบุกเบิกและพลิกโฉมกรุงเทพฯ ด้วยการสร้างซูเปอร์คอร์ซีบีดี ซึ่งจะเป็นหมุดหมายหรือจิ๊กซอว์สำคัญที่เชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญจาก 4 ทิศของกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่ใจกลางเดียว ได้แก่ ย่านราชประสงค์ทางทิศเหนือ เจริญกรุงทางทิศใต้ สุขุมวิททิศตะวันออก และเยาวราชทิศตะวันตก ทำให้เกิดศูนย์กลางแห่งใหม่ (The New Junction) ที่เชื่อมโยงทุกย่านสำคัญของกรุงเทพฯ และยิ่งกว่านั้นคือการเชื่อมให้ทุกย่านที่สำคัญให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับผังเมืองกรุงเทพฯ ให้เชื่อมต่อกันอย่างลงตัวที่สุด พร้อมทั้งยังเป็นการยกระดับพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของโลกเช่นเดียวกันมหานครใหญ่ระดับโลกอย่างลอนดอนหรือนิวยอร์ก 

                ขณะที่ ศุภจี สุธรรมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือดีทีซี ยังย้ำว่า ด้วยความตั้งใจของกลุ่มดุสิตฯ และซีพีเอ็นที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณมุมถนนสีลม-พระราม 4 ให้กลายเป็นทำเลมีศักยภาพใจกลางกรุง ผ่านโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค” ซึ่งเป็นโครงการแบบผสมผสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยการเชิดชูความเป็นไทยบนมาตรฐานสากล เหมือนกับที่ดุสิตธานีเคยสร้างการจดจำระดับโลกในฐานะสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ มาแล้วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

                 “ความโดดเด่นที่ต่างจากโครงการอื่นๆ คือเราเป็นมิกซ์ยูสแห่งเดียวในประเทศไทยที่เชื่อมต่อกับการจราจรทุกระนาบทั้งระบบขนส่งมวลชน เพราะมีทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ตลอดจนการจราจรบนถนนและที่สำคัญทุกอาคารสามารถมองเห็นวิวสวนลุมพินีได้อย่างชัดเจน ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่มองหาความสะดวกสบายและการใช้ชีวิตอย่างมีระดับ”

                 ศุภจี ยังแจงรายละเอียดในส่วนของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่เป็นโรงแรมขนาด 250 ห้อง มีความสูง 39 ชั้น โดยยังคงองค์ประกอบของโรงแรมดุสิตธานีเดิมไว้อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหรือการนำชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่างๆ มาใช้ในโครงการ โดยเฉพาะความภาคภูมิใจในการนำเสนอการบริการที่น่าประทับใจแบบไทยๆ ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 และจะเปิดให้บริการก่อนส่วนอื่นๆ 

                  ในส่วนของที่พักอาศัยเป็นการตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองครั้งใหม่ ผ่านการนำเสนอความเหนือระดับด้วยวิวแบบพาโนรามาของสวนลุมพินี และวิวสวยงามของมหานครกรุงเทพฯ ที่มีความสูง 69 ชั้น จำนวน 389 ยูนิต บนพื้นที่ 80,000 ตร.ม. โดยแบ่งเป็น ดุสิตเรสซิเดนท์ จำนวน 159 ยูนิต มีทั้งขนาด 2-4 ห้องนอน และเพนท์เฮ้าส์ มีพื้นที่ตั้งแต่ 120-600 ตร.ม. และดุสิต พาร์คไซด์ จำนวน 230 ยูนิต ประกอบด้วยห้องชุดขนาด 1-2 ห้องนอน พื้นที่ตั้งแต่ 60-80 ตร.ม. เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ทำงานในเมือง โดยเป็นอาคารที่พักแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาวหรือลีสโฮลด์ โดยจะเริ่มเปิดให้จองเร็วๆ นี้

 

                                       

 กว่าจะถึงวันนี้"ศุภจี สุธรรมพันธุ์"

              ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในผู้บริหารที่มีความสามารถในระดับแนวหน้าของประเทศ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและได้รับการยอมรับจากองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็น Certified Executive Coach จาก Berkeley Executive Coaching Institute มีความตั้งใจในการเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมุ่งมั่นที่จะนำดุสิตให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับโลก

             ศุภจี สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท สาขาการเงินและการบัญชีระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยนอร์ธรอป รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์เคยทำงานกับบริษัท ไอบีเอ็ม(ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปไอบีเอ็มอาเซียน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยคม จำกัด ก่อนก้าวมานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ในปัจจุบัน

             จากประสบการณ์ด้านการวางแผนการบิรหาร การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยี ทำให้เธอนำมาปรับใช้กับดุสิตเพื่อต่อยอดการขยายธุรกิจสู่นานาประเทศ นอกจากธุรกิจโรงแรมแล้ว ศุภจียังดูแลการดำเนินธุรกิจการศึกษาของดุสิตที่ประกอบด้วย วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและปริญญา ศูนย์ความเป็นเลิศดุสิตธานีและโรงเรียนสอนประกอบอาหารเลอ กอร์ดองเบลอ ดุสิต อีกทั้งยังมีแผนในการเปิดวิทยาลัยที่ต่างประเทศในเร็วๆ นี้ด้วย

                                                     

ย้อนชีวิต“วัลยา จิราธิวัฒน์”  

              วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอ็น เธอเป็นบุคคลหนึ่งที่นำพาความสำเร็จมาสู่องค์กรทั้งในด้านการขยายธุรกิจและสร้างชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและในเวทีโลก ปัจจุบันวัลยาดูแลการพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าของซีพีเอ็นทั้ง 34 สาขาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มและสร้างสรรค์คอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ให้แก่ทุกศูนย์การค้าที่เน้นการนำเสนออัตลักษณ์อันมีคุณค่าของท้องถิ่นและชุมชน นอกจากนี้ซีพีเอ็นภายใต้การนำของวัลยายังทำให้ศูนย์การค้าหลายโครงการของซีพีเอ็นได้รับรางวัลในระดับนานาชาติอย่าง International Council of Shopping Centers(CSC) อีกด้วย

             นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2523 ซีพีเอ็นได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในวงการค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ของไทย ปัจจุบันซีพีเอ็นมีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวมทั้งสิ้นกว่า 1.7 ล้านตร.ม. นอกเหนือจากโครงการศูนย์การค้า 34 สาขาแล้ว ซีพีเอ็นยังได้บริหารศูนย์อาหาร 28 แห่ง อาคารสำนักงานให้เช่า 7 แห่ง โรงแรม 2 แห่ง และโครงการที่พักอาศัยอีก 8 โครงการ

  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ