ข่าว

 เปิดโลกมหกรรมวิจัยยุค4.0 พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดโลกมหกรรมวิจัยยุค4.0 พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

 

              กลับมาอีกครั้งสำหรับงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2562 (Thailand Research Expo 2019)” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ร่วมกับระบบหน่วยงานวิจัยภายในประเทศจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร 

 เปิดโลกมหกรรมวิจัยยุค4.0 พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

 

 เปิดโลกมหกรรมวิจัยยุค4.0 พัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

 

              งานเดียวที่รวบรวมสุดยอดผลงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และประเทศไว้มากที่สุด ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานฝีมือคนไทย ทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่น รวมถึงรุ่นใหม่ไฟแรงที่สามารถนำไปใช้ได้หรือเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ให้ผู้สนใจได้ชม ช็อป ชิม ชิล กว่า 500 ผลงาน มาประชันกันมากที่สุดในงานเดียว โดยจะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 เมษายนนี้ โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน

               ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานแถลงข่าวจัดงานวานนี้ (19 มี.ค.) ณ ห้องโลตัสชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ว่ามหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 เป็นเวทีระดับชาติ ที่รวบรวมผลงานวิจัยที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยไทย ผู้เข้าชมงานทุกภาคส่วน ทุกเพศวัย ทุกสาขาอาชีพจะได้รับประโยชน์มากมายเนื่องจากผลงานที่นำมาจัดแสดงเป็นสุดยอดผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ นำไปประยุกต์ต่อยอดได้เป็นอย่างดีและยังได้เรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการจากองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้ตรงต่อความต้องการของตนเองได้ อันจะเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน สังคม ประเทศชาติ  

               “งานนี้เป็นอีกช่องทางที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนได้มาพบปะกันและเห้นผลงานสู่สังคม ฉะนั้นสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจในการผลักดันเพื่่อใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ความร่วมมือของเครือข่าย ความตั้งใจของนักวิจัยและในเรื่องของตัวนวัตกรรม ถือเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ในส่วนของงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติที่จัดขึ้นติดต่อกันมาเป็นเวลา 14 ปีประสบผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้”

                 รองเลขาธิการวช.เผยต่อว่า งานมหกรรมวิจัยครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยมาสคอตในปีนี้ คือ น้องแกล้งดิน ซึ่งสื่อความหมายหมายถึง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” พระราชทานพระราชดำรัสหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีแกล้งดิน” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ  “น้องแกล้งดิน” รักการเกษตรแสวงหาความรู้หลากหลายสาขาวิชานำมาคิดบูรณาการวิจัยเพื่อนำมาพัฒนาบ้านเมืองของเรามีหน้าตาหน้ารัก เป็นมิตร ดูเฉลียวฉลาด มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง มีความภูมิใจและเต็มใจ พร้อมให้ความช่วยเหลือ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ที่ วช. มอบให้แก่ทุกคน

                อย่างไรก็ตามการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย นอกจากนี้ยังเป็นเวทีเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงการสร้างสรรค์ สร้างแรงขับเคลื่อนและให้เกิดกลไกสนับสนุนการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งเป็นฐานความรู้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

                 รศ.ดร.สิริ ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.ก.) ในฐานะผู้แทนประธานกรรมการบริหารเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนา “พลังสรา้งสรรค์งานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์” โดยระบุว่าแต่เดิมเราแยกกันทำแย่งงานกันวิจัย วันหนึ่งเราก็มาร่วมกันคิดว่าจะแย่งกันไปทำไม จากนั้นจึงมีการบูรณาการร่วมสร้างเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยการแบ่งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ภายใต้ปรัชญาร่วมกันแชร์มาแบ่งปันองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน โดยให้ความสำคัญในการนำศาสตร์ความรู้จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดนวัตกรรมในการนำไปใช้ประโยชน์แก่ประเทศสูงสุด

                 “วช.เองได้สนับสนุนพวกเราในลักษณะที่เป็นเครือข่าย เรามีรวมกันเป็นคลัสเตอร์หลายๆ คลัสเตอร์ อย่างม.ก.เราจะดูแลกลุ่มคลัสเตอร์ในเรื่องการเกษตร วช.ได้สนับสนุนเราให้ทำสมาร์ทอะกรีคัลเจอร์  เราก็ได้บูรณาการร่วมกันของคณะต่างๆ ทั้งเกษตร วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม ทำผลงานออกมาเพื่อที่จะเปลี่ยนประเทศนี้  ในการลงพื้ืนที่เก็บข้อมูลวิจัย เราเจอปัญหาอุสรรคต่างๆ มากมาย เช่นความสามารถในการใช้ระบบดิจิทัลของเกษตรกร ความยุ่งยากในการถ่ายทอด การรวบรวมองค์ความรู้เป็นอะไรที่ยากมาก  แต่สิ่งที่เราได้กลับมาปรากฏว่าตอนนี้ข้อมูลที่กลุ่มได้รวบรวมเป็นข้อมูลที่มีมูลค่ามาก ไม่เคยมีใครรวบรวมได้ขนาดนี้มาก่อน ถ้าเราไม่ทำงานร่วมกันเราก็ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้เกือบสมบูรณ์ขนาดนี้ จากนี้ไปจะมีหน่วยงานที่รับข้อมูลเหล่านี้ไปเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจังเพื่อนำสู่การปฏิบัติให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” 

                ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2561 และรางวัลผลงานวิจัยระดับดีเด่นประจำปี 2562 กล่าวในฐานะตัวแทนนักวิจัยว่างานมหกรรมวิจัยนั้นเป็นการรวบรวมผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นแหล่งชุมนุมของนักวิจัยในทุกระดับในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่จุดประกายให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ในการส่งผลงานเข้าประกวดชิงรางวัลเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่นักวิจัยอีกด้วย

                “ผมโตมาจากอาจารย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง มาร่วมงานนี้ทุกปี ตอนเป็นเด็กมาดูว่าเขาทำอะไรกันบ้าง โตขึ้นมาเริ่มส่งผลงานเข้าประกวดชิงรางวัล โตขึ้นมาอีกเริ่มมีผลงานมากขึ้นส่งเสริมลูกศิษย์ส่งผลงานมาประกวดบ้างเพื่อเป็นประสบการณ์ เพราะวช.พูดเสมอว่าสนับสนุนนวัตกรรมเป็นคีย์เวิร์ดหลักของวช. พอเติบโตแก่กล้ามากขึ้นวช.ก็เชิญมาเป็นกรรมการตัดสินรางวัล”

                  ศ.ดร.สนอง ยังกล่าวด้วยว่าสำหรับงานมหกรรมวิจัยนี้เป็นเวทีการปล่อยของ เป็นเวทีการสร้างคน ไม่เพียงเฉพาะอาจารย์หรือนักวิจัยเท่านั้นยังเป็นเวทีที่ให้โอกาสแก่นักศึกษาในการนำผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโทและเอก มานำเสนอสู่สาธารณชนอีกด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจแรงบันดาลใจในการทำผลงานวิจัยในอนาคตต่อไป

                  “ผมก็ได้พาร์ทเนอร์จากงานนี้ในการทำงานวิจัยร่วมกัน ปีที่แล้วทีมวิจัยของผมร่วมกับทีมนักวิจัยของธรรมศาสตร์ ผมเป็นนักเคมี เขาวิศวะ เรามาร่วมสร้างโปรเจกท์จนได้รับรางวัลร่วมกัน นี่คือจุดเริ่มต้นที่มีความหลายกหลายไม่เหมือนกันงานอื่นๆ” เจ้าของรางวัลผลงานวิจัยระดับดีเด่นปี 2562 กล่าวย้ำ

       

                    อย่างไรก็ตามงานมหกรรมวิจัยครั้งนี้นอกจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงกว่า 500 ผลงานแล้วยังมีเวทีสัมมนาและเสวนาที่น่าสนใจอีกกว่า 100 หัวข้อ การประกวดผลงานนวัตกรรมระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา การมอบรางวัลนักวิจัย กิจกรรม Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย และการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภาคเอกชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการในพระราชดำริ ผลงานวิจัย และภูมิปัญญาท้องถิ่น และอื่นๆ อีกมากมาย 

                    สนใจชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทยกว่า 500 ผลงานแบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือดูรายละเอียดงานวิจัยและหัวข้อสัมมนาและลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ https://researchexpo.nrct.go.th

                    นับเป็นอีกก้าวของการวิจัยไทยในการนำผลงานนวัตกรรมจากนักวิจัยมาต่อยอดเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศสอดรับกับนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลอันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในที่สุด 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ