ข่าว

จับตาความเคลื่อนไหว....โอกาสไทยในสถานการณ์หลัง Brexit

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตาความเคลื่อนไหว....โอกาสไทยในสถานการณ์หลัง Brexit

 

 

 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) และ Standard Charteredจับตาความเคลื่อนไหว และโอกาสของผู้ประกอบการไทยภายหลังสถานการณ์Brexitผ่านงานสัมมนา "Brexit and its Implications on Thailand" เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการที่สนใจดำเนินธุรกิจในตลาดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ให้สอดคล้องกับการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Strategic Partnershipของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม 

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของBrexit อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากจะมีผลต่อการค้ากับไทยได้ต่างกันในแต่ละกรณีโดยสหราชอาณาจักรอาจตัดสินใจออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ (No deal) หรือมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การยื่นขอเจรจาแก้ไขความตกลงเบร็กซิทกับอียู หรือการขอขยายเวลาการออกจากอียู อย่างไรก็ดี การจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และการพบปะหารือระหว่างรัฐบาลไทยและนางเทเรซา เมย์ ในเดือนกรกฎาคมปี 2561 ณ กรุงลอนดอน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายในการขยายความร่วมมือ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนระหว่างกัน การเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และยุโรปในอนาคตหลังBrexit ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับไทยที่จะสร้างพันธมิตรทางการค้ากับหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานฝ่ายไทยสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) กล่าวว่า สภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai - UK Business Leadership Council (TUBLC)) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยและสหราชอาณาจักรมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit การออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรในรูปแบบ No deal อาจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของสหราชอาณาจักร ทำให้ความต้องการสินค้าภายในสหราชอาณาจักรชะลอตัวผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับค่าเงินปอนด์ที่คาดว่าจะอ่อนค่าลงทำให้ราคาสินค้าไทยขยับตัวสูงขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจไทยยังคงเชื่อมั่นว่า การติดตามพัฒนาการในเรื่องBrexit อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคต จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมต่อผู้ประกอบการไทย

นายพลากร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมบูรณาการกับ กระทรวงพาณิชย์ และสภาผู้นำ TUBLC ในการจัดสัมมนาร่วมกัน ทั้งการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย โดยคัดสรรวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ/นักวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารความเสี่ยง และภาคธนาคารต่อสถานการณ์ Brexit มาให้ความรู้กับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการไทยที่สนใจ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจและอยากจะทราบว่าจะมีผลกระทบอย่างไรกับการดำเนินธุรกิจ

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังกล่าวเสริมว่า การสัมมนาในวันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือภาครัฐโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และภาคเอกชนได้แก่สภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC)  และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เล็งเห็นว่าสถานการณ์ Brexit เป็นที่สนใจของนักธุรกิจไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับยุโรปและสหราชอาณาจักร ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน และอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง "Brexit and its Implications on Thailand"  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ให้กับผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบของBrexit ที่สหราชอาณาจักรจะต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(EU) ซึ่งในขณะนี้ คาดว่าเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2562  และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจ/ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหราชอาณาจักรรับมือกับสถานการณ์ Brexit (ทั้งในกรณี Hard Brexit/No Deal และ Soft Brexit)ตลอดจนสามารถประเมินถึงผลกระทบ โอกาสทางการค้าและการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายต่อไป

 

อนึ่ง สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 จากสหภาพยุโรป ในปี 2561 การค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.40 ของการค้าทั้งหมดของไทย มีมูลค่ารวม 7,044.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออกมูลค่า 4,062.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัวลงร้อยละ 0.45)และเป็นการนำเข้ามูลค่า 2,981.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (การขยายตัวร้อยละ 1.81) สหราชอาณาจักรขาดดุลการค้า 1,080.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ