ข่าว

 "ไอคอนคราฟต์"เวทีนักออกแบบ ยกระดับงานหัตถศิลป์สู่"ตลาดโลก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ไอคอนคราฟต์"เวทีนักออกแบบ ยกระดับงานหัตถศิลป์สู่"ตลาดโลก"

 

           เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ไทยหลังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ผนึกสยามพิวรรธน์ ดันงานหัตถศิลป์ล้ำค่าฝีมือคนไทยอวดสายตานักท่องเที่ยวที่ไอคอนสยาม หวังเพิ่มยอดส่งออกและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ สนองนโยบายจากท้องถิ่นสู่ระดับสากล

 "ไอคอนคราฟต์"เวทีนักออกแบบ ยกระดับงานหัตถศิลป์สู่"ตลาดโลก"      บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP)

     

             บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของไอคอนสยาม(ICONSIAM) ศูนย์การค้าระดับโลกว่าเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมอบรมในโครงการต่าง ๆ กับกรม เช่น Talent Thai , Designers’ Room , T-Style , IDEA LAB รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัล DEmark ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มอุตสาหกรรมการออกแบบสินค้าของประเทศไทยในการนำงานหัตถกรรมร่วมสมัยคุณภาพสูงไปแสดงและจัดจำหน่ายกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ของ ไอคอนสยาม เช่น ร้านตำรับไทย โซนสุขสยาม, โซน Women Club,Takashimaya รวมถึงไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) ศูนย์รวมงานหัตถศิลป์ไทยร่วมสมัยและห้างสรรพสินค้า

          ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะมีโอกาสนำเสนอสินค้าให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศที่มาเดินศูนย์การค้า ไอคอนสยามได้รู้จักงานหัตถศิลป์มูลค่าสูง ซึ่งงานหัตถกรรมส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เหมาะสำหรับตกแต่งโรงแรมหรือบ้านเรือน ถือเป็นการเพิ่มช่องทางในตลาดต่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศทั้งในด้านการส่งออก รวมถึงช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้นด้วย

 "ไอคอนคราฟต์"เวทีนักออกแบบ ยกระดับงานหัตถศิลป์สู่"ตลาดโลก" ฐานแก้วหัวนักษัตร

           “งานหัตถกรรมหรือหัตถศิลป์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีมูลค่าสูงและยังสามารถสร้างโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี บุกตลาดในต่างประเทศได้อีกด้วย ดังนั้นเพื่อส่งเสริมนักออกแบบหรืองานฝีมือสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม DITP จึงได้จับมือกับสยามพิวรรธน์ เปิดพื้นที่จัดนิทรรศการ สำหรับโชว์งานฝีมือจากนักออกแบบไทยสู่เวทีโลกในชื่อ ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) มีเป้าหมายเพื่อยกระดับงานหัตถศิลป์จากนักออกแบบรุ่นใหม่เจาะตลาดระดับบนหรือไฮเอ็นพร้อมเชื่อมสู่ตลาดโลก”บรรจงจิตต์เผย

          ปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ทางสยามพิวรรธน์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในความร่วมมือสนับสนุนนักออกแบบเพื่อต่อยอดนักออกแบบไทยด้านการเพิ่มองค์ความรู้และการตลาดในต่างประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยทางสยามพิวรรธน์ ได้ให้การสนับสนุนในการใช้พื้นที่เพื่อให้นักออกแบบหรือผู้ประกอบการได้มีโอกาสแสดงสินค้าและเปิดช่องทางการตลาดได้มากขึ้น

 "ไอคอนคราฟต์"เวทีนักออกแบบ ยกระดับงานหัตถศิลป์สู่"ตลาดโลก"

        อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไอคอนสยามได้สร้างโซนให้กับผู้ประกอบการได้แสดงสินค้าจำนวนมาก เช่น อีสานโปรเจค ที่อยู่ในโครงการ T-Style รวมถึงไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) ซึ่งเป็นศูนย์รวมสินค้าหัตถศิลป์ร่วมสมัย หลายแบรนด์ขนาดใหญ่หรือ Multi-Brand Store ให้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน จากเดิมผู้ประกอบการเกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ได้กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ และการได้เป็นส่วนหนึ่งกับไอคอนสยาม นอกจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ดูมีมูลค่ามากขึ้นแล้วยังเป็นศูนย์รวมสินค้าหัตถกรรมหลายหมวดหมู่ทั้งสินค้าแฟชั่น สินค้าประดับตกแต่งทำให้เกิดการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นรวมถึงสามารถเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจเกี่ยวกับงานทำมือด้วยถือเป็นโอกาสให้งานทำมือฝีมือคนไทยสามารถเข้าถึงตลาดในต่างประเทศมากขึ้นและส่งผลให้เกิดการสั่งซื้อไปสู่ประเทศต่าง ๆเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยได้ดียิ่งขึ้น

       “สำหรับมาตรฐานในการคัดเลือกผู้ประกอบการนั้นจะเน้นไปที่ผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ไทยและการดีไซน์ที่ร่วมสมัยถึงจะมาอยู่ในพื้นที่นี้ได้ เนื่องจากเราไม่ต้องการสินค้าที่เน้นความเป็นไทยจนเกินไป แต่ต้องการสินค้าที่ร่วมสมัยแต่สามารถบอกถึงความเป็นไทยได้และสามารถต่อยอดในเวทีโลกได้ด้วย นอกจากนี้เรายังพิจารณาไปถึงขั้นกระบวนการผลิต ของผู้ประกอบการ เพื่อให้ปริมาณสินค้าสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งนี้ยอดขายจะเป็นตัวกำหนดในการคัดเลือกผู้ประกอบการให้อยู่ต่อหรือไม่ในพื้นที่ของไอคอนสยาม ซึ่งการประเมินผลประกอบการนั้นจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละแบรนด์เนื่องจากพื้นที่สำหรับการวางขายไม่เท่ากัน ”ปารีสากล่าว

 "ไอคอนคราฟต์"เวทีนักออกแบบ ยกระดับงานหัตถศิลป์สู่"ตลาดโลก"

        ด้าน รสสุคนธ์ อนันต์ศฤงคาร กรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เบ็ทเทอร์อาทส์ กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ 5ivesisเผยว่า แบรนด์ 5ivesis ยึดแนวคิดเรื่องของความเชื่อและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสินค้าให้เกิดความแตกต่างและยังสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านชิ้นงาน ซึ่งผลงานแรกที่ได้ออกแบบคือฐานแก้วที่ออกแบบเป็นหัวนักษัตรที่เป็นความเชื่อของคนไทยและแถบเอเชียด้วยความเรียบง่ายแต่สวยงามดูมีมูลค่า

         "ความโดดเด่นของตัวแก้วหัวนักษัตร คือเมื่อเวลาคว่ำแก้วจะเห็นเป็นหัวนักษัตรประจำปีต่าง ๆ เช่น ปีชวด ปีมะโรง ปีกระต่าย แต่เมื่อหงายแก้วหัวนักษัตรเหล่านั้นจะกลายเป็นขาตั้งแก้ว ถือเป็นผลงานแรกที่ออกแบบและนำไปออกงานแสดงสินค้าซึ่งลูกค้าให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ต่อมาได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่อยอดเป็นดอกไม้ประจำเดือนเกิดและได้ออกงานกับ DITP และได้รับรางวัล Demark อีกด้วย"

        รสสุคนธ์ย้ำด้วยว่าสำหรับแนวคิดการออกแบบดอกไม้ประจำเดือนเกิดนั้นส่วนหนึ่งเกิดจาก DITP ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำงานหัตถกรรมของคนไทย เพื่อให้สามารถไปขายในตลาดญี่ปุ่นได้ เพราะในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีความเชื่อและวัฒนธรรมประจำชาติ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับดอกไม้ประจำเดือนเกิด จึงเหมาะสำหรับมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ จนออกแบบสินค้าลายดอกไม้ประจำเดือนเกิดขึ้นมาและยังได้ไปแสดงสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นและได้ผลตอบรับเป็นที่พึงพอใจอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้โอกาสเชื่อมสินค้ากับงานต่าง ๆ ได้อีกมากมาย เช่น งานแต่งงาน รวมไปถึงโรงแรมก็ให้ความสนใจในสินค้าของเราอีกด้วย 

 

                 

                        เอกชนหนุนแผน DITP เจาะตลาดอินเดีย 

            หลังจากที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)กระทรวงพาณิชย์ มีแผนผลักดันการส่งออกไปยังตลาดเอเชียใต้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอินเดียที่เป็นตลาดที่มีแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบที่สมบูรณ์ จึงเหมาะเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้า

             วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า อินเดียถือเป็นคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย ทิศทางการส่งออกไปตลาดอินเดียในขณะนี้ยังเชื่อว่าเติบโตได้ดี โดยเฉพาะวัตถุดิบในกลุ่มอาหาร เนื่องจากอินเดียมีกำลังซื้อสูง จากจำนวนประชากรที่มีมากรองจากประเทศจีน หากภาคเอกชนไทยสามารถยึดหัวหาดได้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ขณะที่แผนการเจาะตลาดด้วย Platform Online ก็เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ เพราะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะSME จะต้องศึกษาลักษณะการใช้ Platform ของอินเดียให้ดีก่อนเข้าไปลงทุน หรือจะใช้ช่องทาง Thaitrade.com ซึ่งเป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่มี DITP สนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับ SME เช่นเดียวกับการทำตลาดผ่าน Modern Trade ถือว่าเป็นอีกช่องทางกระจายสินค้าที่ดีของผู้ประกอบการ

             ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงแผนการเจาะตลาดอินเดียได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ปี 2562 จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น โดยจะมีการออกไปเจาะเป็นรายรัฐ ซึ่งมีมากถึง 28 รัฐ โดยไทยและอินเดียสามารถแสวงหาการค้าร่วมกันได้ เพราะไทยมีไทยแลนด์ 4.0 โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่อินเดียสนใจและเข้ามาลงทุน ส่วนอินเดียก็มีทรัพยากรสามารถเป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับไทย และสินค้าไทยโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรได้รับความนิยมในอินเดีย ที่สำคัญในการเจาะตลาดจะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) เข้าไปเจาะเมืองรองของอินเดียควบคู่กับการขายสินค้า

          “แผนการเจาะตลาดในปี 2562 ของกระทรวงจะมุ่งเน้นผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME โดยใช้ประโยชน์จากหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ทั้ง FTA และ RCEP ผ่านกลยุทธ์ Demand Driven เน้นการผลักดันกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำนมขาว อาหารมังสวิรัติ โดยใช้กลยุทธ์เมืองรองที่มีศักยภาพ แสวงหาช่องทางเข้าสู่ตลาดใหม่ เช่น Modern Trade และPlatform Online”ชุติมา กล่าว

          ส่วน บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)ระบุว่ากรมได้ตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดอินเดียปี 2562 เติบโต 8% มูลค่า 8,208.35 ล้านเหรียญสหรัฐโดยเน้นตลาดออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ การค้าระหว่างไทย-อินเดีย ปี 2561 มีมูลค่ารวม 12,463.75 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งไปอินเดียมูลค่า 7,600.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 4,863.43 ล้านเหรียญสหรัฐ

        สำหรับ บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดียแล้ว เช่น ซีพี , อิตาเลียนไทย , ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, ไทยซัมมิท, เดลต้า, เอสซีจี เทรดดิ้ง, ดัชมิลล์, แอ็ลไลด์เม็ททัลส์, วีรับเบอร์ ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปและบริษัท Universal Bio Pack ได้เข้าไปลงทุนโรงงานบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความสนใจมาก     ส่วนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์www.ditp.go.th หรือโทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ