ข่าว

เปิดประตูสู่"อีอีซี"ผนึก"ฝรั่งเศส"พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดประตูสู่"อีอีซี"ผนึก"ฝรั่งเศส"พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน

 

"ส่วนหนึ่งเป็นการร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งฝรั่งเศสให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จริงๆ แล้วฝรั่งเศสมีการลงทุนในประเทศไทยมา 30-40 ปีแล้ว ครั้งนี้ก็เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในทางธุรกิจของทั้งสองประเทศดียิ่งขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายก็มีหลายเรื่อง อย่างเช่นความร่วมมือระหว่างการบินไทยกับแอร์บัสของฝรั่งเศสในเรื่องการซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่  ภาครัฐเองก็มีการลงนามความร่วมมือในการผลิตบุคลากรทางด้านการบิน นอกเหนือจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมสมาร์ทซิตี้

“วันนี้ได้อธิบายให้นักธุรกิจฝรั่งเศสได้รับทราบนอกเหนือจากโครงการใหญ่อีอีซี นโยบายรัฐบาลและของกระทรวงคมนาคมเองก็ได้ให้ความสำคัญระบบราง ระบบโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีความเชื่อมต่อกัน  ทั้งรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟระหว่างเมืองและรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทางฝรั่งเศสก็เห็นด้วยและเขาให้ความสนใจ เราบอกว่าปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน สิ่งที่เราต้องการผลักดันคือการเชื่อมระบบคมนาคมในภูมิภาค และเขาก็เปรียบเทียบให้ฟังว่าประเทศไทยก็เหมือนกับฝรั่งเศสตั้งอยู่ในใจกลางยุโรป สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ได้ เป็นประโยชน์ในการที่เขาจะเข้ามาร่วมมือทางวิชาการและทางเทคนิค”

 

บางช่วงบางตอนในการปาฐกถาพิเศษของ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ณ ห้องพิมานสยาม โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักชัวรี คอลเลกชั่น โฮเทล ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ ในโอกาสที่คณะผู้แทนธุรกิจจากฝรั่งเศส นำโดยฟรองซัวส์ กอร์แบง ประธานร่วมสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ฝ่ายฝรั่งเศส พร้อมคณะนักธุรกิจชั้นนำของฝรั่งเศสได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 30 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงระหว่างฝรั่งเศสกับไทย  

อาคม กล่าวต่อว่า ในฐานะตัวแทนภาครัฐบาลมีความยินดีและดีใจที่เห็นความร่วมมือที่เน้นการดำเนินงานที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง มีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน โดยภาคเอกชนเป็นตัวจักรในการขับเคลื่อน ซึ่งภาครัฐก็ยินดีพร้อมให้การสนับสนุน

“การประชุมร่วมของนักธุรกิจทั้งสองประเทศในครั้งนี้ถือเป็นภารกิจต่อเนื่องจากการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ซึ่งยังมีประเด็นติดตามความคืบหน้า รวมถึงโอกาสความร่วมมือต่างๆ ในโอกาสต่อไปเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนฝรั่งเศส”

นอกจากนี้ รมว.คมนาคมยังได้กล่าวถึงการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ว่ารัฐบาลยังคงให้การส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ 10 new S-curve บวกกับการป้องกันประเทศและการศึกษา ซึ่งฝรั่งเศสมีศักยภาพในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการคมนาคม วิทยาศาสตร์และการป้องกันประเทศ ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสในพื้นที่อีอีซีนั้นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านการบิน สมาร์ทซิตี้และการพัฒนาบุคลากร  

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานร่วมสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น  บริษัท พีทีที เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ จีซี(GC) กล่าวเสริมว่า การพบปะกันระหว่างนักธุรกิจฝรั่งเศสและไทยในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ได้เดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 และประสบความสำเร็จด้วยดีนั้น ทางสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทยได้ติดตามผลและต่อยอด โดยทำหน้าที่ประสานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดตั้งคณะทำงานของสภาธุรกิจฯ ที่มีโครงสร้างรองรับชัดเจนจากทั้งสองประเทศให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนในด้านต่างๆ ครอบคลุม 5 ด้านในอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย การเกษตรอาหารและเศรษฐกิจชีวภาพ  โครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม  สมาร์ทซิตี้ การเปลี่ยนแปลงใช้พลังงานรูปแบบใหม่และสุขภาพ และการโรงแรมและท่องเที่ยว  พร้อมทั้งร่วมเสนอข้อเสนอแนะแนวทางนโยบายเพื่อไปปรับใช้ด้วย โดยการหารือร่วมกันครั้งนี้เป็นผู้แทนจากทั้งจากกิจการไทยและฝรั่งเศสที่มีประสบการณ์ช่ำชองในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสภาธุรกิจฯ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการดึงดูดการลงทุนจากฝรั่งเศสมายังพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษอีอีซีเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจและขยายความร่วมมือระหว่างสองประเทศต่อไป 

“วันนี้สวมหมวกอีกใบมาทำหน้าที่ในบทบาทนอกเหนือจีซี มาช่วยชาติ ในส่วนจีซีเองเราก็มีการลงทุนในฝรั่งเศสอยู่แล้ว เป็นธุรกิจเคมีคอล เราลงทุนที่ฝรั่งเศสแล้วนำเทคโนโลยีมาใช้ในประเทศไทยด้วย ซึ่งบทบาทในสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทยนี้จะช่วยให้เกิดความร่วมมือในภาคธุรกิจ ส่วนจีซีเองมีการโอกาสลงทุนเพิ่มเติมในฝรั่งเศสในอนาคตอีกด้วย” ประธานสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ฝ่ายไทยกล่าวย้ำ

 

ด้าน ฟรองซัวส์ กอร์แบง ประธานสภาธุรกิจฝรั่เศส-ไทย ฝ่ายฝรั่งเศส ในฐานะประธานสภานายจ้างแห่งฝรั่งเศสสากล และรองประธานบริหารบริษัท มิชลิน จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำจากฝรั่งเศสและมีโรงงานในประเทศไทยจำนวน 6 แห่ง โดยโรงงานผลิตยางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอยู่ที่เมืองไทย กอร์แบงย้ำว่าสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทยเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อยอดความสำเร็จที่ผ่านมาและพัฒนาความสัมพันธ์เชิงธุรกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งได้มุ่งมั่นในการสนับสนุนการหารือร่วมกันและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนธุรกิจของทั้งสองประเทศให้กระชับและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 

“บริษัทฝรั่งเศสนั้นมีจุดแข็งที่โดดเด่นในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นสินทรัพย์อันทรงคุณค่า ประกอบกับการพัฒนาในองค์รวมและการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ นักธุรกิจฝรั่งเศสจึงมุ่งเน้นสนับสนุนและเคียงข้างประเทศไทยในการก้าวไปสู่เป้าหมายที่หวังไว้ในระยะยาว” กอร์แบงสรุปทิ้งท้าย

ประเทศฝรั่งเศสนั้นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ในสหภาพยุโรป มีเงินลงทุนทั่วโลกประมาณ 52,000 ล้านยูโร นับเป็นประเทศที่มีแหล่งเงินทุนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีและวิทยาการหลายด้าน อาทิ การบิน การขนส่งระบบราง และพลังงานทดแทน ที่สำคัญคือสัดส่วนการลงทุนของฝรั่งเศสในทวีปเอเชียยังมีสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 7.6 โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยที่มีมูลค่าเพียง 228 ล้านยูโร 

จึงนับเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงและชักจูงนักลงทุนฝรั่งเศสไปลงทุนในไทยโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี เป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสได้เป็นผู้เล่นรายใหม่ในภูมิภาค รวมถึงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซีแอลเอ็มวี ผ่านความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ACMECS และ อาเซียนด้วย  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ