ข่าว

 เปิดโลกงาน"วันนักประดิษฐ์"2562

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดโลกงาน"วันนักประดิษฐ์"2562 มุ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม 

 

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เตรียมพร้อมจัดใหญ่งาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562" เพื่อรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีสิ่งประดิษฐ์กว่า 1,500 ผลงาน ร่วมโชว์ศักยภาพภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศ”

 

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้เป็นวันประดิษฐ์ เพื่อรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งนับได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก และเป็นครั้งแรกของโลก" รวมถึงทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนและสังคมส่วนรวมได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช. แถลงข่าวการจัดงานวันนักประดิษฐ์ โดย วช.ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562” (Thailand Inventor’s Day 2019) ระหว่างวันที่ 2–6 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นพร้อมใช้ของไทยและต่างประเทศ กว่า 1,500 ผลงาน โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดงานและมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 และรางวัล 2018 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand ด้วย 

ทั้งนี้ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น อุปกรณ์วัดการหายใจและนำช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน ของอาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ แห่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องทำซีพีอาร์ให้สามารถทำได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แม้ไม่เคยผ่านการอบรมการทำซีพีอาร์มาก่อน เป็นนวัตกรรมและผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 ในระดับดี สาขาการศึกษา เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตและวัดการหายใจแบบพกพา ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์วัดการหายใจแบบเรียลไทม์และนำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน สามารถแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยทำการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงเวลาวิกฤติของชีวิต ก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือในขั้นต่อไปจากรถพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์

อาจารย์สุภาวดี เจ้าของผลงาน กล่าวว่า ภาวะหายใจและหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องการทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (ซีพีอาร์) ซึ่งต้องกระทำภายใน 4 นาทีแรกหลังประสบเหตุ จึงจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ การให้การพยาบาลและเฝ้าระวังช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหายใจและหัวใจล้มเหลวในระยะวิกฤติ ต้องมีการวางแผนให้ความรู้แก่ผู้ช่วยเหลือทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการทำซีพีอาร์ช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะหายใจและหัวใจล้มเหลวได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ 

“คณะผู้ประดิษฐ์จึงได้จัดทำอุปกรณ์วัดการหายใจและนำช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เป็นนวัตกรรมเพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนการทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (ซีพีอาร์) มีความใหม่ สะดวก มีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่สามารถวัดอัตราการหายใจ และแสดงผลอัตราการหายใจผ่านแอพในสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ แสดงข้อมูลต่อเนื่องในรูปแบบกราฟ ที่ช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนตรวจสอบความถูกต้องในการประเมินอัตราการหายใจได้ทันที เมื่อผู้เรียนทำการนวดหัวใจในตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยมีแรงกดและจังหวะ จำนวนครั้ง และจำนวนรอบของการนวดหัวใจตามค่ามาตรฐานที่กำหนด”

เจ้าของผลงานเผยต่อว่า อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนในการฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน โดยอาจใช้ร่วมกับหุ่นจำลองการฝึกทำซีพีอาร์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท หรือประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์เสมือนหุ่นจำลองโดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และจัดจำหน่ายให้แก่สถานศึกษาทางการแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุข มากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและวัสดุในประเทศ ลดต้นทุนการผลิต แต่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจกับนานาประเทศด้วยผลผลิตเชิงนวัตกรรม 

สำหรับการจัดงานวันนักประดิษฐ์ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 21 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศไทย” เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” นิทรรศการรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 7 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการเกษตร 2.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อพลังงาน 3.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม 4.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข 5.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 6.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการศึกษาและภูมิปัญญาไทย และ 7.สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงปลอดภัย มหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ

นอกจากนี้ ยังมีการประชุม สัมมนา และการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่” และการประกวดสิ่งประดิษฐ์โครงการ “Innovation For Street Food” การฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพและการบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจสำหรับนักประดิษฐ์อีกด้วย

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เข้าร่วมจัดแสดงในปีนี้ กว่า 1,500 ผลงาน อาทิ อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารและอุปกรณ์ป้องกันการดึงสำหรับผู้สูงอายุ โดย ดร.สิงห์ อินทรชูโต ม.เกษตรศาสตร์, อุปกรณ์กลั่นน้ำจากน้ำทะเลด้วยพลังงานลม ม.รังสิต,  เครื่องผสมน้ำหวาน และเครื่องดื่มอัจฉริยะ ม.หอการค้าไทย,  ผลิตภัณฑ์ผงโรยอาหาร และเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ จากดอกเฟื่องฟ้า ร.ร.สงวนหญิง,  แอลฟาแทรซ ระบบแยกขยะอัตโนมัติ ร.ร.กำเนิดวิทย์, เครื่องสำอางสีธรรมชาติกันรังสียูวี มรภ.สวนสุนันทา, มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบบ AC Induction วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต, น้ำยาบ้วนปากจากข้าวอินทรีย์ ม.มหิดล, เลื่อยหุ่นยนต์ผ่าศพ ม.แม่ฟ้าหลวง, การพัฒนาแผ่นเกราะกันกระสุนจากวัสดุธรรมชาติ ร.ร.เตรียมทหาร และอีกมากมาย

 

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานเพื่อรับแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง และแสวงหาแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ได้ โดยเข้าไปสืบค้นข้อมูลหรือลงทะเบียนล่วงหน้าสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเสวนา อบรม และประชุมได้ที่ www.inventorday.nrct.go.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ