ข่าว

  เปิดมาตรการสินเชื่อรัฐช่วยชาวไร่มันสำปะหลัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  เปิดมาตรการสินเชื่อรัฐช่วยเหลือชาวไร่มัน  ผนึก4สมาคมใช้กลไกสร้างเสถียรภาพราคา

 

           หลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคา มันสำปะหลัง และพบปะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ณ สหกรณ์การเกษตรปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา โดยได้ชี้แจงแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในปีการผลิต 2561/62 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการโครงสร้างมันสำปะหลังทั้งระบบตั้งแต่การผลิตและการตลาดเพื่อการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังอย่างยั่งยืน  โดยให้สินเชื่อสหกรณ์ ดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท เพื่อรวบรวมรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร ช่วยดูดซับผลผลิตให้เกษตรกร มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่หลากหลาย

 

        ส่วนเกษตรกร ดอกเบี้ย ร้อยละ 0.5 ต่อเดือน รายละไม่เกิน 20,000 บาท เป้าหมายเกษตรกร 100,000 ราย วงเงินสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน เพื่อลดปัญหา การก่อหนี้นอกระบบของเกษตรกร นอกจากนี้ยังสนับสนุนเงินทุนการเพาะปลูกระบบน้ำหยด เพิ่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และคุณภาพของผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง รายละไม่เกิน 230,000 บาท ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินสินเชื่อ 1,150 ล้านบาท

       นอกจากนี้รัฐบาลยังได้สนับสนุนเครื่องสับมันขนาดเล็กให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ให้สามารถแปรรูปเป็นมันเส้นในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต จำนวน 740 เครื่องและยังเชื่อมโยงตลาด ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมันสำปะหลังทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพมันสำปะหลัง ให้ตรงกับความต้องการของตลาด 

         “ขณะนี้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ได้กำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลัง อย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบนำเข้า รวมทั้งการป้องกันโรคพืช อาทิ โรคไวรัสใบด่างที่อาจมีการแพร่ระบาดมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย”รมว.พาณิชย์กล่าว

        อย่างไรก็ตามจากผลการดำเนินงานของรัฐบาลในฤดูกาลปี 2560/61 ที่ผ่านมา ได้มีการบริหารจัดการโครงสร้าง มันสำปะหลังทั้งระบบทั้งในด้านการผลิตและการตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา ราคามันสำปะหลังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีราคาสูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.04 บาท เมื่อเทียบกับปีก่อนราคาอยู่ที่กิดลกรัมละ 1.81 บาท และในปัจจุบันราคาเฉลี่ยมันสำปะหลัง เชื้อแป้ง 25% (ต.ค. 61 – ม.ค. 62) อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.81 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรมีความพึงพอใจ เนื่องจากต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกร อยู่ที่ประมาณ 1.90 บาท

          ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนาม MOU จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ การรับซื้อมันสำปะหลังราคาที่เป็นธรรม ระหว่างเกษตรกรและโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรที่จะสามารถจำหน่ายผลผลิตมันสำปะหลังได้ในราคาที่เป็นธรรมและแนวทางการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยร่วมกับ 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมการค้า มันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

       โดยได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ที่ดีที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูก มันสำปะหลัง ด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้ได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายผลผลิตในราคาที่คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิตและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกอย่างแท้จริง โดยใช้กลไกของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาและยกระดับมาตรฐานการค้า ตลอดจนขีดความสามารถ แก่อุตสาหกรรมมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังทั้งระบบ 

                                       

 

หนุนปลูก“ถั่วเขียว”ระหว่างร่องมันเสริมรายได้  

            ดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหมหรืออ.ทองก้อน เจ้าของ“ไร่ทองก้อน” อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการรวมกลุ่มเกษตรกรในอ.ปากช่องเพื่อปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ที่เน้นลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตภายใต้โครงการ“MUN มันมาก”กล่าวกับ“คมชัดลึก”ถึงมาตรการให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันของรัฐบาลว่าเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลมุ่งให้กู้สินเชื่อที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจวิธีการดำเนินการ เนื่องจากเงินที่ได้มาลงไม่ถึงไร่มันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ซึ่งเกษตรกรอาจนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นแทน จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้สินเชื่อตามสภาพความเป็นจริง โดยมใีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วย

       "รัฐพยายามให้เกษตรกรกู้เงิน จะดอกเบี้ยถูกหรือแพงเท่าไหร่ไม่ว่า แต่ถามว่าเงินที่่นำาลงไร่จริง ๆ เท่าไหร่ เพราะมันเป็นเงินล่วงหน้าก็เท่ากับการเพอิ่มภาระหนี้ให้กับเกษตรกรอีก คือเราซื้อแหและบอกแหล่งปลาให้เขา ส่วนวิธีการจับเกษตรกรให้เขาไปจัดการเองดีกว่าไม๊ แต่ตอนนี้รัฐให้ยืมปลาไปกินว่าวันหนึ่งเขาจะหาปลาตัวโตกลับมาคืน รัฐกำลังช่วยเขาหรือฆ่าเขากันแน่ แทนที่จะให้เงินก็ให้เป็นปัจจัยการผลิตหรืออุปกรณ์การผลิตดีกว่า"ทองก้อนกล่าวเปรียบเทียบ โดยมองว่าการให้สินเชื่อที่เป็นตัวเงินอย่างเดียวไม่มีประโยชน์ ไม่ได้ช่วยเกษตรกรให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องให้สินเชื่อโดยผ่านปัจจัยการผลิตเท่านั้น และต้องรวมพืชอื่นด้วยไม่ใช่เฉพาะมันสำปะหลังเพียงอย่างเดียว โดยยกตัวอย่างการปลูกถั่วเชียวในร่องมันเพื่อเป็นพืชเสริมรายได้ระหว่างมันสำปะหลังให้ผลผลิต ซึ่งสามารถนำเงินสินเชื่อจากมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวมาซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ด้วย

      ส่วนมาตรการสนับสนุนเครื่องสับมันขนาดเล็กให้กับกลุ่มเกษตรกรนั้น เจ้าของไร่ทองก้อนมองว่ายังไม่มีความจำเป็น   เนื่องจากกลุ่มเกษตรกอาจปัญหาในเรื่องพื้นที่ทำลานตากมัน และสิ่งสำคัญคือ ฝุ่น กลิ่นและลานตากมัน จากลานตากมันที่ตั้งอยู่ในชุมชน ทำให้มีปัญหาในเรื่องฝุ่นและกลิ่นเหม็นรบกวนได้ จึงอยากให้รัฐบาลควรมาเน้นในเรื่องการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและปลูกพืชเสริม  โดยไม่จำเป็นต้องเน้นการแปรรูปมันเส้น เนื่องจากมีโรงงานรองรับอย่างเพียงพอและมีความพร้อมในเรื่องนี้อยู่แล้ว

       "มันสำปะหลังตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 8-10 เดือนระหว่างนี้เกษตรกรเขาทำอะไรที่จะมีรายได้ ทำไมไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเขียวระหว่างร่องมัน ตอนนี้ถั่วเขียวตลาดโลกต้องการมาก ส่วนราคาก็ไม่ต้องกังวลจับโรงงานมาทำสัญญารับประกันราคารับซื้อ เพราะนี้โรงงานอุตสาหกรรมมันต่างต้องการวัตถุดิบมาป้อน แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอ"เจ้าของไร่ทองก้อนกล่าวย้ำ

       รศ.ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ  อดีตคณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขต นักวิชาการผู้คิดค้นมันสำปะหลังสายพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ในฐานะกรรมการมูลนิธิสถาบันมันสำปะหลังฯ กล่าวกับ“คมชัดลึก”ถึงการใช้พันธุ์มันสำปะหลังในปัจจุบันว่าเกษตรกรยังนิยมพันธุ์เกษตรศาสตร์50 มากกว่า 55% ในการปลูกในพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากเป็น พันธุ์ที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม มีเปอร์เซนต์แป้งดี ที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ต้านโรคไวรัสใบด่างได้ดีกว่าพันธุ์อื่น ส่วนมาตรการสนับสนุนเครื่องสับมันให้กับกลุ่มเกษตรในการแปรรูปมันเส้นนั้นมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะไม่มีตลาดรองรับ เนื่องจากตลาดหลักอย่างจีนก็หันมาใช้ข้าวโพดแทน นำวัตถุดิบส่งโรงงานเพื่อแปรรูปเป็นแป้งน่าจะดีกว่า แม้ว่าราคารับซื้อจะถูก เพราะราคาแป้งที่ถูกลง แต่ยังดีกว่าแปรรูปมันเส้นโดยไม่มีตลาดรองรับ

       “ตอนนี้เราได้นำพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ไปทดลองปลูกที่กัมพูชา ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคไวรัสใบด่างเพื่อดูว่าจะต้านทานโรคนี้ได้มากแค่ไหน ซึ่งอีกประมาณ 6 เดือนก็จะรู้ผล แต่เบื้องต้นก็พอจะรู้แล้วว่าพันธุ์นี้ต้านโรคไวรัสใบด่างได้ดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ ไม่ใช่ว่าไม่เป็นโรคนี้เลยแต่มีระยะเวลาน้อยกว่าพันธุ์อื่น จึงทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เสียหายทั้งหมด”นักวิชาการมันสำปะหลังกล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ