ข่าว

 ปลุกเสือหลับเปิดแผน "บสย." ปี2562

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ปลุกเสือหลับเปิดแผน "บสย." ปี2562  มุ่งเป้ารากหญ้า "ค้ำสินเชื่อ" เอสเอ็มอี

 

               “บสย.เป็นเสือ เขาเกิดมาเพื่อเป็นเสือ พ.ร.บ.จัดตั้งของเขาสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมาก ในช่วงหนึ่งเรามองว่าเขาเป็นเสือหลับ วันนี้เรามาร่วมปลุกเสือกัน” 

                  ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานของบสย.ในปี 2562 และผลการดำเนินงานในปี 2561 ณ ห้องแคมปัส  โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มกราคม โดยมุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจฐานรากในการค้ำประกันสินเชื่อแก่ชาวบ้าน ประชาชนทั่วไปที่สนใจกู้เงินมาสร้างอาชีพ รวมถึงองค์กรที่เป็นนิติบุคคล เช่น กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ  

 ปลุกเสือหลับเปิดแผน "บสย." ปี2562  ปลุกเสือหลับเปิดแผน "บสย." ปี2562

     

               จากผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อปี 2561 บสย.มียอดค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 88,878 ล้านบาท โดยความร่วมมือการค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และยังคงสร้างการเติบโตด้านยอดค้ำประกันสินเชื่อภาพรวมเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผลดำเนินงานในปี 2560 โดยมีการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อรวม 88,878 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่สถาบันการเงินอนุมัติจากการค้ำประกันสินเชื่อรวม 133,191 ล้านบาท หรือ 1.5 เท่าของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 3% ของจีดีพี 2561 ของประเทศ 

             ดร.รักษ์ เผยต่อว่า สำหรับปีนี้ บสย.ได้ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อไว้ที่ 107,000 ล้านบาท ภายใต้ความท้าทายในโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนเร็ว ซึ่งบสย.จะต้องปรับตัวให้เร็วและตอบโจทย์การทำงานของรัฐบาลยุคดิจิทัล ภายใต้แผนงานปี 2562 “บสย.4.0 เคียงคู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย”  ภายใต้แนวคิด “New Business Model 2019” โดยมุ่งยกระดับการทำงานองค์กรอย่างเต็มประสิทธิภาพ คิดใหม่ ทำใหม่ ขับเคลื่อนสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ พัฒนาระบบฐานข้อมูล ดาต้า แมเนจเมนท์ เชื่อมการทำงานบสย.ทั้งภายในและภายนอก ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์เอสโอเอส (SOS) ได้แก่

              1.SMEs Capacity Enhancer 2.Opportunity Gateway 3.Second Chance Provider เพื่อให้การสนับสนุนเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนในระบบมากขึ้น     ทั้งการให้ความรู้ทางการเงิน การขยายฐานการสนับสนุนเอสเอ็มอี ที่ต้องการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ผู้ประกอบการกลุ่ม S-curve และ Start-up และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อย่างเช่นกลุ่มที่เป็น NPLs กลุ่มฟื้นฟูกิจการได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อด้วยเช่นกัน 

                “เราอยากทำหน้าที่เป็นวันสต็อปเซอร์วิส ได้ลองคุยกับสถาบันการเงินว่าเราจะให้บริการลูกค้าเดิมได้อย่างไร ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะบอกลูกค้าให้ไปที่แบงก์ของคุณ แต่วันนี้ถ้าเป็นไปได้เราจะทำสินเชื่อพร้อมค้ำเป็นการทำการวิเคราะห์เบื้องต้น ส่วนแบงก์จะตัดสินใจอย่างไร เขาชอบไม่ชอบเป็นส่วนของแบงก์ ผมเคยอยู่แบงก์มาก่อน ปกติเขาประเมินสินเชื่อส่วนใหญ่ 15 ล้านขึ้นไป ผมบอกว่าถ้าต่ำว่านี้ก็โยนมาให้ผม”

              บอสใหญ่บสย.แจงต่อว่าในส่วนการขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์เอสโอเอส จะมีโครงการ “รักษ์พี่วิน” ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่เฉพาะในกรุงเทพฯ เกือบ 6 พันวิน มีพี่น้องที่อยู่ในอาชีพนี้ประมาณ 1 แสนรายและจังหวัดปริมณฑลอีก 5 หมื่นราย รวมแล้ว 1.5 แสนราย โดยสินเชื่อส่วนใหญ่จะนำไปปรับปรุงสภาพมอเตอร์ไซค์และซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เช่นหมวกกันน็อคเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของผู้โดยสาร นอกจากนั้นยังสามารถต่อยอดไปยังโครงการอื่นๆ ได้อีก เช่น หากผู้ขับวินมอเตอร์ไซค์อยากมีบ้านหรือทำธุรกิจอื่นก็สามารถขอสินเชื่อได้อีก       

                 ขณะเดียวกันก็ให้โอกาสคนเคยล้ม ซึ่งคนกลุ่มนี้อยู่ในตลาดไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย ถ้าเราให้โอกาสคนเหล่านี้เขาจะลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้ เพราะคนกลุ่มนี้มีศักยภาพ แต่อาจมีปัญหาบางประการทำให้ธุรกิจที่เขาทำไม่เป็นไปตามเป้า หากให้โอกาสเชื่อมั่นว่าคนกลุ่มนี้จะกลับมาธุรกิจจนประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วเพราะเขาได้รับบทเรียนและประสบการณ์จากความล้มเหลวมาแล้วในอดีต นอกจากนี้ยังจะต้องดูแลผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีด้วย

                 “บสย.จะเข้าไปช่วยเติมเต็มให้คนกลุ่มนี้ พวกเขาอาจจะกู้สถาบันการเงินในโครงการของรัฐ อย่าง สสว. หรือเอ็กซิมแบงก์ แต่ยังขาดเงิน มีไม่พอเราจะเข้ามาช่วยเติมเสริมตรงนี้ และผมเชื่อมั่นคนเคยล้มว่าเขาจะไม่ยอมพลาดอีก  เพราะเขาได้เรียนรู้บทเรียนในอดีต มีประสบการณ์มาแล้ว เขาคงไม่ทำตัวหรือประพฤติเหมือนเดิม เพราะมันเป็นโอกาสที่สองของชีวิตเขา คนกลุ่มนี้มีมากกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ”

                  ดร.รักษ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยระบุว่าจะเน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Market Segmentation) อาทิ กลุ่มลูกค้ารายย่อย (Micro) กลุ่มลูกค้า Small กลุ่มลูกค้า S-curve กลุ่มลูกค้าฟื้นฟูกิจการ และกลุ่มผู้ประกอบการในโครงการสินเชื่อประชารัฐ เช่น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ผู้ประกอบการแท็กซี่ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันในรูปแบบ Direct Guarantee โดยเป้าหมายตามแผนวิสาหกิจ บสย.ปี 2562 คือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่เพิ่มขึ้น 82,600 ราย จากปีที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่จำนวน 77,862 ราย

                   “แนวคิดการนำรูปแบบการค้ำประกันแบบ Direct Guarantee เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานของบสย. เพื่อลดการพึ่งพาจากภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงแผนการบริหารจัดการหนี้ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าจัดเก็บหนี้ให้ได้ 550 ล้านบาท หรือกว่า 3,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งเก็บหนี้ได้ 380 ล้านบาท หรือกว่า 2,000 ราย” บอสใหญ่บสย.กล่าว 

       

  

       ด้าน สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการบสย.กล่าวถึงผลการดำเนินงานของบสย.ในปี 2561 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อรวม 77,862 ราย เทียบกับผลดำเนินงานในปี 2560 มีการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 86,633 ล้านบาท ผ่านโครงการเอสเอ็มอี ทวีทุน (PGS6 ปรับปรุงใหม่ สิ้นสุดโครงการ ณ 30 มิถุนายน 2561  และโครงการเอสเอ็มอี ทวีทรัพย์ (PGS7) ระยะเวลาโครงการ 24 กรกฎาคม 2561 สิ้นสุด 23 กรกฎาคม 2563

         “ผลงานที่โดดเด่นของบสย. ในปี 2561 คือการสร้างความร่วมมือในการค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินของรัฐ : SFIs (รวมธนาคารกรุงไทย) ที่ทำให้กลุ่มสถาบันการเงินของรัฐผนึกกำลังช่วยขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐสร้างการเติบโตให้แก่เอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ ส่งผลให้มียอดค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 14% หรือเท่ากับ 42,533 ล้านบาท เทียบกับยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อปี 2560 มีวงเงิน 37,347 ล้านบาท” ประธานกรรมการบสย.กล่าวย้ำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ