ข่าว

  สุดยอด4"สตาร์ทอัพ"ไทยคว้ารางวัลAICTA 2018

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  สุดยอด4"สตาร์ทอัพ"ไทยคว้ารางวัลAICTA 2018 ผ่านเทคโนโลยี"แอพพลิเคชั่น"บนสมาร์ทโฟน

 

 

               “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ร่างแผนงานที่ผู้นำระดับรัฐมนตรีดิจิทัลของอาเซียนให้ความเห็นชอบในคราวประชุมที่เมืองอูบุด บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปลายปีที่แล้ว พร้อมส่งไม้ต่อให้ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้(2019) และเห็นชอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีดิจิทัลของอาเซียนเป็นวาระพิเศษแบบจับเข่าคุยกัน (ASEAN Digital Ministers Retreat) กลางปีนี้ด้วย

  สุดยอด4"สตาร์ทอัพ"ไทยคว้ารางวัลAICTA 2018

             

                  ถือว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ได้ปักหมุด “วาระดิจิทัล” เข้าสู่การเป็นประธานอาเซียนของไทย ด้วยความเห็นพ้องของเพื่อนอาเซียนที่จะเดินหน้าไปด้วยกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี ได้สนับสนุนและส่งผลงานผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพดิจิทัลจำนวน 18 ผลงาน เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในการแข่งขันเวทีอาเซียน ASEAN ICT Awards 2018 หรือ AICTA 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ณ เมืองอูบุด บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 4-5 ธันวาคม 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสิ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการวิจัยและพัฒนาให้แก่นวัตกรด้านไอซีทีในอาเซียน 

               ในการแข่งขันครั้งนี้มีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 4 ผลงาน จากที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 100 ผลงานจาก 11 ประเทศในกลุ่มอาเซียน

               “ผมขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับผู้ได้รับรางวัล ASEAN ICT Awards 2018 (AICTA) อันทรงเกียรตินี้ครับ”

               ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลในวันงาน โดยรางวัลเหรียญทอง ประเภทดิจิทัล คอนเทนต์ เป็นผลงาน VR SIM-Virtual Reality Simulation Training Platform for Sugar Cane Harvester ของบริษัท บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการฝึกการทำงานในสภาวะต่างๆ เช่น การขับรถเพื่อเกษตรกรรม โดยการจำลองแบบที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง 

               รางวัลเหรียญเงิน ประเภทสตาร์ทอัพ คัมปานี เป็นของบริษัท รีฟินน์อินเทอร์เนชั่นแนล ดอทคอม ผลงาน Refinn เป็นบริการรีไฟแนนซ์ บ้าน รถ บัตรเครดิต ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะรวบรวมโปรโมชั่นจากหลากหลายบริษัท แล้วเอาข้อมูลมาคำนวณเปรียบเทียบเพื่อหาโปรโมชั่นที่ดีที่สุด เพื่อนำเสนอต่อผู้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้บริการแต่อย่างใด

             ส่วนรางวัลเหรียญทองแดง มี 2 รางวัล ได้แก่ ประเภทไพรเวท เซ็กเตอร์ ผลงาน Timemint ของบริษัท อินเทลสไปร์ จำกัด เป็นแอพพลิเคชั่นบันทึกเวลาทำงาน โดยบันทึกเวลาเข้าออกของการทำงานได้แบบยืดหยุ่นเป็นโปรแกรมผ่านมือถือ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มในอุปกรณ์ แอพ เครื่องตอกบัตรอัจฉริยะ และประเภทรีเสิร์ช แอนด์ ดีเวล็อปเมนต์ ผลงาน Kids Up ของบริษัท อาร์ติคูลัส จำกัด เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับใช้ในการรับส่งบุตรหลานไปโรงเรียน หรือไปทำกิจกรรม เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายไม่กังวลใจในการเดินทาง       

              เพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของผลงาน VR SIM ซึ่งได้รางวัลเหรียญทอง เผยต่อ “คม ชัด ลึก” ถึงจุดเด่นของผลงานดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นครั้งแรกในโลกในการนำ VR SIM มาเชื่อมต่อโหมดด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง จนสามารถมองเห็นทุกอย่างเหมือนจริงได้ในมุม 360 องศา โดยผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ 

                “ผลงานชิ้นนี้ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 8-9 เดือน โดยคิดธีมไว้ 2 ประเด็นคือเกษตรกรรม เพราะมองว่าอนาคตภาคการเกษตรจะมุ่งใช้เทคโนโลยี มีเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น แรงงานคนจะลดความสำคัญลง อีกประเด็นเป็นธีมการควบคุมเครื่องจักร จึงอยากให้ 2 ธีมนี้มาอยู่รวมกัน เป็นการพัฒนาระบบการฝึกอบรมทักษะการควบคุมการทำงานด้านเกษตรกรรมในสภาวะต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง”

              เจ้าของผลงานเด่นอธิบายต่อว่า เทคโนโลยี VR SIM เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นช่วยในการฝึกคนขับรถตัดอ้อย ให้ก้าวผ่านข้อจำกัดของวิธีฝึกสอนแบบเดิมๆ และยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวอ้อยผ่านทาง machine learning ได้อีกด้วย  

              “ในการฝึกขับรถตัดอ้อยปกติแล้วการฝึกสอนพนักงานขับรถตัดอ้อยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี ถึงจะสามารถขับรถได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อรถ และผลผลิต แต่การนำเทคโนโลยี VR มาใช้เป็นการเปิดโอกาสให้นักขับมือใหม่ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง และยังสามารถนำประสบการณ์และความเข้าใจของนักขับรถตัดอ้อยมืออาชีพมาวิเคราะห์ เพื่อแนะนำเส้นทางการขับรถเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยให้ได้รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด” 

               อย่างไรก็ตาม เขายังให้มุมมองการทำธุรกิจสตาร์ทอัพว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่สตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ นั่นเป็นการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป กระทั่งคิดว่า วงการนี้จะทำให้ตัวเราเดินอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ในธุรกิจจริง มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ไม่ใช่เราคิดจะผลิตอะไรปุ๊บ แล้วขายได้เลย เพราะต่อให้เป็นของที่มีประโยชน์ต่อลูกค้าจริงๆ เขาก็มีชั้นเชิงมาต่อรอง ถ้าเราไม่แข็งพอ โอกาสอยู่รอดยาก 

               คงพันธ์ ฉมารัตน์ วิศวกรด้านการสื่อสาร  เจ้าของผลงาน “Kids Up” ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการรับส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ช่วยให้ผู้ปกครองไปรับนักเรียนโดยไม่ต้องจอดรถรอ มีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียนดัง ช่วยแก้ปัญหารถติด ประหยัดน้ำมันและลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวด้วย 

              “จุดแข็งของโซลูชั่นนี้คือ ความสะดวกสบายและเป็นระเบียบเรียบร้อยในการรับลูกกลับบ้านอย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ช่วยลดปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียน ซึ่งได้ทดสอบใช้งานกับโรงเรียน 2-3 แห่งในกรุงเทพฯ พบว่าผลการตอบรับดีมากจากผู้ปกครอง ตอนนี้อยากขยายไปยังตำรวจจราจรในการแก้ปัญหารถติด รวมถึงบริษัทใหญ่ๆ มาช่วยสนับสนุน”    

                เขายังอธิบายวิธีการใช้งานแอพพลิเคชั่นดังกล่าวในโรงเรียน โดยโรงเรียนจะต้องติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ผ่านแอพพลิเคชั่น “Kids Up” ผ่านจอมอนิเตอร์ของโรงเรียน ผ่านไปยังแอพพลิเคชั่นของผู้ปกครอง จากนั้นทางโรงเรียนจะส่งข้อมูลผ่านแอพให้ผู้ปกครองแต่ละคน พร้อมแจ้งให้เด็กนักเรียนที่เป็นบุตรหลานของท่านรับทราบว่ามาถึงโรงเรียนกี่โมงเพื่อจะได้ไม่ต้องรอนาน

                 “ทำไมผมต้องมาทำแอพคิดส์อัพ ก็มาจากปัญหาของผมเองที่ต้องเจอรถติดเวลาไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ก็เลยมาคิดว่าเราน่าจะทำแอพเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับทางโรงเรียน นี่คือที่มาของคิดส์อัพ  ขณะนี้กำลังพัฒนาไปอีกขั้นคือจะพัฒนาแอพที่ติดต่อระหว่างผู้ปกครอง โรงเรียนและนักเรียน นอกจากจะสะดวกในการรับส่งนักเรียนแล้ว ผู้ปกครองและทางโรงเรียนยังสามารถตรวจสอบได้ว่าเด็กนักเรียนหรือบุตรหลานของท่านอยู่ตรงจุดใด” คงพันธ์เผยอย่างภูมิใจ พร้อมติดตั้งซอฟต์แวร์ฟรีแก่โรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่สนใจในช่วงทดลองโทร.08-9205-0604 

                ทั้งนี้ “คิดส์อัพ” ยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วม “โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี รุ่นที่ 16 (SUCCESS 2018)” โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นการบ่มเพาะธุรกิจพร้อมมอบสิทธิประโยชน์จากโครงการและหน่วยงานพันธมิตร สำหรับผู้บริหารกิจการ ผู้ประกอบกิจการซอฟต์แวร์และไอทีทุกประเภท เพื่อให้มีโอกาสนำผลงานสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมประสานแหล่งทุน และวางแผนธุรกิจที่นำไปใช้ได้จริง ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ ก่อเกิดรายได้ และนำไปสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจที่เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

    

          อย่างไรก็ตามการเดินหน้าสนับสนุนผู้พัฒนาดิจิทัลไทยของดีป้าเพื่อแข่งขันในเวทีระดับอาเซียนนี้ นับเป็นเวลาต่อเนื่องมากว่า 7 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเวทีในการแสดงความสามารถและศักยภาพในการพัฒนาผลงานด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการและนักพัฒนาชาวไทยให้ปรากฏในระดับอาเซียน รวมไปถึงสร้างโอกาสการเชื่อมโยงรวมถึงขยายผลด้านการตลาดให้กับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพดิจิทัลไทยให้เติบโตไปได้ในระดับนานาชาติอีกด้วย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ