ข่าว

คิดการใหญ่! เป้าหมายผู้ว่าฯ "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คิดการใหญ่เพื่อปากท้องชาวบ้าน เป้าหมายผู้ว่าฯ "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี"

 

     ศรีสะเกษ เมืองชายแดนอีสานใต้ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา มีพืชเศรษฐหลักได้แก่ ข้าว  ผลไม้ หอม กระเทียมและยางพารา แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านผลไม้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่จับตา โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรเจ้าของสวนอย่างเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ปลูกกันมากที่สุดและสร้างชื่อให้จังหวัดนี้มาอย่างยาวนาน แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจนและเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญทำให้ศรีสะเกษกลายเป็นจังหวัดที่มีประชากรยากจนอยู่ในอันดับเกือบรั้งท้าย

         พลันที่กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งย้ายพ่อเมืองจากพิจิตร “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” หรือที่คนในจังหวัดนี้เรียกกันติดปาก “ผู้ว่าฯ ปู” มาสู่ถิ่นอีสานใต้ จ.ศรีสะเกษ การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน กลายเป็นความท้าทายของพ่อเมืองคนใหม่ในทันที  

      “คม ชัด ลึก” จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ผู้ว่า ฯปู” ถึงแนวทางการทำงานและนโยบายการพัฒนา จ.ศรีสะเกษ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจังหวัดนี้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียม พร้อมการันตีจากนี้ไป 1 ปีจะทำให้รายได้ต่อหัวประชากรต้องไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นบาท 

+ ท่านมีแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจศรีสะเกษอย่างไร

      ททท.คือทำทันที  ทำแบบเอาจริงเอาจังไม่ได้ทำแบบผักชีโรยหน้า อย่าทำงานชั่วครั้งชั่วคราวตอนที่ผู้ใหญ่มาตรวจงาน จัดงานอีเวนต์อย่างเดียวแต่เนื้อในไม่มี  การที่เราจะประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรับทราบ เนื้องานมันต้องดีก่อนนะ เราต้องคิดการใหญ่ ฝันให้ไกลและต้องไปให้ถึง คิดการใหญ่ของผมคือทำอย่างไรให้ศรีสะเกษ ซึ่งได้ชื่อว่ามีรายได้ต่อหัวประชาชนเป็นลำดับ 71 ของประเทศไทยขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 60 ให้ได้ในปีหน้า 

      เราต้องมองในภาพรวมของจังหวัดไม่ได้มองเฉพาะอำเภอใดอำเภอหนึ่ง สไตล์การทำงานของผม คือจริงจังในหน้าที่การงาน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ตอนเราเป็นนายอำเภอมักจะมีปัญหาเยอะแยะเลย รับรู้ปัญหากับชาวบ้าน เราจะเห็นว่าเรื่องนี้ดีก็จับเข้าแผนของจังหวัด 5 ปี 10 ปี แล้วมันจะอยู่ถึงหรือเปล่า ถ้าหากว่าดี ทำไมไม่ทำเลย เมื่อผลสำรวจพบว่ามีปัญหา ควรจะทำโดยเร่งด่วนเลย ไม่ใช่ผลัดวันประกันพรุ่ง 

       ผมค่อนข้างจะผิดหวังหมายถึงทีี่ผ่านมานะ พอเราเป็นนายอำเภอเราก็อยากจะทำโน่นทำนี่ให้ชาวบ้าน พอเสนอไปก็ติดขัดเรื่องงบประมาณ แต่ไม่ใช่ข้อติดขัดนะ ถ้าคุณตั้งใจในการทำงานจริงๆ เช่นของบประมาณไป 10 ครั้งได้แค่ครั้งเดียวคือโอกาสได้น้อยมาก แล้วถ้าอยากได้ 10 ครั้งทำไมไม่ขอไป 100 ครั้ง เพราะฉะนั้นต้องเอาความขยันเข้าแลก เมื่อผมมาเป็นผู้ว่าฯ ก็รับภาระหมดเลยนะเรื่องงบประมาณ ไม่ให้นายอำเภอเข้ามายุ่งเกี่ยว เพื่อให้เขามีใจในการทำงานอย่างเต็มที่ 

+ ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของศรีสะเกษดีขึ้น

        ผมให้เวลาปีหนึ่งคือวัดกันเลยปีหนึ่ง อยากจะบอกว่าพอมองเรื่องเศรษฐกิจหลายคนมองว่าทุเรียนภูเขาไฟเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงของศรีสะเกษและทำรายได้เข้าจังหวัดไม่น้อยในแต่ละปี ซึ่งเราก็ยอมรับว่าจริง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดคนก่อนท่านทำไว้ค่อนข้างดี แต่ว่าดูเนื้อหาของทุเรียนภูเขาไฟไม่ใช่บริบทของจังหวัดศรีสะเกษ เพราะมีพื้นที่ปลูกเพียงแค่ 3 อำเภอเท่านั้นจากทั้งหมด 22 อำเภอ แล้วอีก 19 อำเภอจะทำอย่างไร ก็ต้องขอบคุณโครงการหงษ์ทองนาหยอดด้วยที่มาช่วยทำก็เป็นส่วนหนึ่งให้เศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้น  

       ผมมารับตำแหน่งที่นี่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม แต่ก่อนหน้านี้ 1 เดือนผมได้ศึกษาข้อมูลมาแล้ว เมื่อมาถึงก็ทำงานได้ทันที เพราะเรารับรู้ปัญหามาแล้วว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องน้ำใช้ในการเกษตร ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำน้ำจากน้ำบ่อโดยใช้ไฟฟ้าจากเครื่องสูบน้ำขึ้นเพราะพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่นอกเขตชลประทาน น้ำยังเข้าไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นคำตอบอันแรกจะทำอย่างไรให้ไฟฟ้ากับน้ำเพื่อการเกษตรมีความสัมพันธ์กันให้ได้ 

          เหตุที่ผมต้องไปพบชาวบ้านให้ครบทุกอำเภอก่อน ดูเหมือนเป็นการไหว้ครูนะ แต่จริงๆ แล้วผมไหว้ครูเสร็จตั้งแต่อยู่พิจิตรแล้ว มาถึงวันที่ 1 ตุลาคม พร้อมทำงานได้ทันที จำได้ว่าวันที่ 1 ตุลาคม ผมอยู่ที่ศาลากลางวันเดียว หลังจากนั้นอยู่พื้นที่ตลอด ทุกวันนี้ถ้าใครอยากพบที่ศาลากลางเชิญหลัง 5 โมงเย็น หลังกลับจากลงพื้นที่ เพราะฉะนัั้นนโยบายของผมแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ เรื่องแรกเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ผมยืนยันว่าถ้ารายได้ต่อหัวประชากร 5 หมื่นกว่าบาทต่อปีถือว่าน้อยมาก วางเป้าในปีนี้ขั้นต่ำ 6 หมื่นขึ้นไป แต่จะทำได้แค่ไหนไม่รู้ ฝันให้ไกลต้องไปให้ถึง ที่ผ่านมาผมฝันและผมก็ทำได้ 

+ ทุเรียนภูเขาไฟช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจศรีสะเกษแค่ไหน

         ทุเรียนภูเขาไฟจะเป็นตัวช่วยแล้วอย่างน้อยช่วยใน 3 อำเภอแต่ปัญหาทุเรียนภูเขาไฟคุณยังไม่มองว่าอีก 2-3 ปีอาจจะล้นตลาด เพราะตอนนี้มีการขยายพื้นที่ปลูกกันเยอะมาก คุณต้องเตรียมพร้อมด้านการตลาดเอาไว้แล้ว ถ้าปีหน้ายังไม่พอกินคุณก็ประสบชัยชนะ  ส่วนอำเภออื่นๆ ก็จะเน้นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายก่อน 

         เรื่องที่สองเป็นเรื่องของสังคมและคุณภาพชีวิต ผมเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจดี สังคมกับคุณภาพก็ดีตาม แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทำเลยนะ ต้องจัดอันดับความสำคัญ เงินในกระเป๋าต้องมาก่อน ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของผมตอนนี้คือทำอย่างไรให้การค้าชายแดนคึกคักมากกว่านี้ เรามีช่องสะงำเป็นด่านถาวรอยู่ทำรายได้ 800-900 ล้านต่อปี แต่จะทำอย่างไรให้มีการทำมาค้าขายแนวชายดีขึ้นมากกว่านี้ แต่ผมยังเชื่อว่าความฝันก็ยังเป็นแค่ความฝัน ถ้าคุณไม่ทำอะไร  ฉะนั้นจะต้องทำให้สังคมคุณภาพชีวิตของคนศรีสะเกษดีขึ้น 

        ส่วนเรื่องสุดท้ายคือเรื่องศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่จริงศรีสะเกษมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก แต่จะทำอย่างไรให้เอาศิลปวัฒนรรมเหล่านี้มาสร้างเป็นรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ให้คนในชุมชน อย่างงานวันสารทเขมรที่ อ.ขุขันธ์ ที่จริงจัดมาก่อนสุรินทร์เสียอีก แต่ทำไมที่สุรินทร์จึงมีคนรู้จักมากกว่าทั้งๆ ที่คนสุรินทร์ก็เริ่มจากการมาดูงานจากที่นี่ 

+ แล้วภาคการเกษตรของศรีสะเกษตอนนี้เป็นอย่างไร     

         ชาวศรีสะเกษ 70-80% เป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปลูกข้าวหอมมะลิ แล้วก็มีชื่อเสียงเรื่องหอมแดงและกระเทียม เขาก็พิสูจนแล้วว่าคุณภาพของหอม กระทียมที่นี่คุณภาพดีที่สุดในประเทศ มีความเผ็ดร้อนดีกว่าที่อื่นๆ ทั้งหมด แต่ก็มีปัญหาเรื่องตลาด เพราะผลผลิตออกมาเยอะ ทำให้ราคาตกต่ำ ตอนนี้ก็พยายามให้มีการรวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์หอมกระเทียมเพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย  ก็คิดว่าถ้าทำได้ 3 เรื่องนี้จบ ผมก็เกษียณอายุราชการพอดี (หัวเราะ) 

                                               

 

  ชาวศรีสะเกษมั่นใจ “หงษ์ทองนาหยอด” 

         บัวผัน ผิวบาง ชาวนาบ้านโพนข่า ต.โนนข่า อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการหงส์ทองนาหยอด ทำนาหยอดนั้นสามารถลดต้นทุนได้กว่า 50% โดยเฉพาะค่าปุ๋ยซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการทำนา ขณะที่ได้ผลผลิตเพิ่มอีกเท่าตัว โดยผลผลิตทั้งหมดส่งขายให้โรงสีบางซื่อ โรงสีเจียเม้ง อยู่ในตัวเมืองศรีสะเกษ เนื่องจากโรงสีจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดให้ราคาที่สูงกว่าท้องตลาดโดยยังบวกเพิ่มให้อีก 500 บาทต่อตัน

       “เข้าร่วมโครงการหงษ์ทองนาหยอดเป็นปีที่ 2 รู้สึกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปีที่แล้ว (ปี 2560) ได้ผลผลิต  620 กิโลกรัมต่อไร่ มาปีนี้ (2561) ได้เพิ่มเป็น 685 กิโลกรัม ปีหน้าคิดว่าจะทำนาหยอดทั้งหมดทั้ง 10 ไร่ เพราะเห็นผลสำเร็จแล้วจากที่เข้าร่วมโครงการ” 

      ดร.วัลลภ มานะธัญญา  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “ข้าวหงษ์ทอง” เผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่า

คิดการใหญ่! เป้าหมายผู้ว่าฯ "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี"

      โครงการหงษ์ทองนาหยอดเป็นการฉีกภาพการทำนาหว่านแบบเดิมๆ สู่วิธีการปลูกด้วยวิธีนาหยอดแบบแห้ง สร้างผลผลิตและรายได้ที่มากขึ้น จากลดการใช้เมล็ดพันธุ์ให้น้อยลง จากเดิมที่ชาวนาหว่านข้าวเพื่อปลูกครั้งละ 25-35 กิโลกรัม จะลดเหลือพียง 8-10 กิโลกรัมต่อไร่ ที่สำคัญยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ยังช่วยลดต้นทุนให้ชาวนาได้อย่างชัดเจน จากเดิมที่ต้องลงทุนราวๆ 3,060 บาทต่อไร่ ลดลงเหลือ 2,575 บาทเท่านั้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ