ข่าว

ไทย-เยอรมนีร่วมจัดการน้ำเสียชุมชนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทย-เยอรมนีร่วมจัดการน้ำเสียชุมชน เดินหน้าพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

                 องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย จัดพิธีปิดโครงการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบน้ำและน้ำเสีย (WaCCliM) ประเทศไทย โดยโครงการฯ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนน้ำและน้ำเสียให้แก่พื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ของประเทศ 

 

                 ขณะที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลกับการควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิโลกให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส ทุกภาคส่วนได้เริ่มวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ระบุว่าการบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาลคิดเป็นร้อยละ 47.5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนของเสียในประเทศไทย หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งประเทศ จากแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปีพ.ศ. 2564-2573 ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากภาคการจัดการน้ำเสียไว้ที่ 700,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปีพ.ศ. 2573 

              โครงการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบน้ำและน้ำเสีย หรือโครงการ WaCCliM ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ให้เริ่มดำเนินงานในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 โดยมีจุดประสงค์เพื่อแนะนำเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนน้ำและน้ำเสีย สนับสนุนให้มีนโยบายรองรับในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนน้ำและน้ำเสีย และบูรณาการการถอดบทเรียนเข้าสู่แนวทางสากล ในส่วนของประเทศไทยได้ให้คำแนะนำทางด้านแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการน้ำเสียให้กับพื้นที่นำร่อง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี และทางด้านนโยบายให้กับองค์การจัดการน้ำเสีย เพื่อเป็นรากฐานและกรอบการทำงานสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการน้ำเสียชุมชนในอนาคต ผลที่ได้จากโครงการฯ จะเป็นแนวทางให้ระบบน้ำเสียแห่งอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป 

                  ผลงานที่ได้จากความร่วมมือภายในโครงการฯ คือ เครื่องมือ ECAM (Energy Performance and Carbon Emissions Assessment and Monitoring) ซึ่งเป็นเครื่องมือตัวแรกที่ใช้คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งใช้ในการติดตามผล รายงาน และทวนสอบ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคส่วนน้ำประปาและน้ำเสีย จากผลการตรวจประเมินเบื้องต้นจากระบบสาธารณูปโภคน้ำเสีย แสดงให้เห็นว่าพื้นที่นำร่องสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 7,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือประมาณร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับการดำเนินงานปกติ  

                   นายชีระ วงศบูรณะ รักษาการผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นประเด็นหลักที่ อจน. ให้ความสำคัญ ดังนั้นเราจึงได้ร่วมกับเทศบาลในการจัดระบบการจัดการน้ำเสียชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการจัดการน้ำเสียชุมชนและผลกระทบของน้ำเสียชุมชนที่มีต่อแหล่งน้ำ เนื่องจากการบำบัดน้ำเสียและการใช้ไฟฟ้าภายในระบบบำบัดล้วนส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของเครื่องมือ ECAM ที่เราได้รับจากโครงการ WaCCliM นั้น ได้มีการประยุกต์ผลลัพธ์จากเครื่องมือ ECAM นำไปใช้ภายในศูนย์ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำเสียประเทศไทย ให้มีการรายงานผลก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์และผลก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องมือ ECAM จะสามารถแสดงผลผ่านเว็บเพจของ อจน. ซึ่งเครื่องมือ ECAM นั้นได้มีการเปิดให้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ wacclim.org โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมทั้งมีแนวทางการคำนวณและเอกสารการฝึกอบรมให้แก่หน่วยงานอื่นๆ ที่มีความสนใจในเรื่องการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนน้ำเสีย ทั้งนี้ อจน. พร้อมที่จะต่อยอดการดำเนินงานและฝึกอบรมการใช้งานเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนแห่งอื่นๆ ที่ อจน. จะเข้าไปสนับสนุนต่อไป”

         

        นางสาวชุติมา จงภักดี ผู้จัดการโครงการฯ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 4 ปีในการดำเนินงาน โครงการ WaCCliM ประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุน อจน. ทั้งด้านการให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียและการกำหนดนโยบายสำหรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการน้ำเสียชุมชนของประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญในการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ คุณภาพของข้อมูล ตลอดระยะเวลาการทำงาน GIZ และสมาคมน้ำนานาชาติ (IWA)  มุ่งเน้นการฝึกอบรมให้กับพนักงาน อจน. ในด้านการสร้างความเข้าใจถึงผลจากการจัดการน้ำเสียที่มีต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม และการประเมินผลจากการใช้เครื่องมือ ECAM ด้วยตนเอง เพื่อให้พนักงาน อจน. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในภาคส่วนน้ำเสีย สามารถเข้าใจความสำคัญของการเก็บข้อมูลการทำงานและผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบบำบัดที่ตนดูแลอยู่ เนื่องจากข้อมูลเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้กำหนดนโยบายการจัดการน้ำเสียชุมชนในอนาคต เพื่อพัฒนาชุมชนให้สามารถก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ