ข่าว

DITP แนะเตรียมพร้อมธุรกิจอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

DITP แนะเตรียมพร้อมธุรกิจอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีนเทรนด์ใหม่กำลังมาแรง

 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยคนรุ่นใหม่ในสังคมเมืองจีนมีความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะสุนัขและแมว โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเลี้ยงสัตว์ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แนะผู้ส่งผลิตและผู้ค้าสินค้าสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย เร่งบุกตลาด มั่นใจขยายตลาดได้เพิ่มแน่นอน

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู ได้รายงานว่า การก่อตั้งของสมาคมพิทักษ์สัตว์เลี้ยงขนาดเล็กแห่งประเทศจีน (China Small Animal Protection Association) ในปี พ.ศ. 2535 เป็นจุดเริ่มต้นของนิยามที่ว่า "สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแห่งมนุษย์" ในปัจจุบันผู้บริโภคมักยินดีที่จะใช้จ่ายเพื่อการเลี้ยงสัตว์ โดยให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงดั่งเช่นบุคคลในครอบครัว

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา จำนวนสัตว์เลี้ยงในประเทศจีนได้เพิ่มสูงขึ้นมาก อาทิ สุนัข และแมว โดยข้อมูลจากสมุดปกขาวปีพ.ศ. 2561 ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง ระบุว่า จำนวนสุนัขและแมวที่ถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในสังคมเมืองของประเทศจีน มีมากกว่า 91.49 ล้านตัว ซึ่งมีจำนวนประชากรจีนในสังคมเมืองกว่า 73.55 ล้านคนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง

"ความเจริญในสังคมเมือง และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากรจีนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การเลี้ยงสัตว์มีความนิยมเพิ่มมากขึ้นชาวจีนโดยเฉพาะในกรุงปักกิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้ เมืองกวางโจว เมืองเทียนจิน และเมืองเฉิงตู  นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ซึ่งค่านิยมของการเลี้ยงสัตว์ในสังคมเมือง ส่งผลให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง" ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตูกล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีนระหว่าง  ปี พ.ศ.2553 – 2559 คือ 49.1% ซึ่งเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสมุดปกขาวในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง ระบุว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า1.7 แสนล้านหยวน และมีอัตราการเจริญเติบโตในแต่ละปีอยู่ที่ร้อยละ 27 ในปีพ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาเจ้าของสัตว์เลี้ยง ใช้จ่ายเงินโดยเฉลี่ยเป็นจำนวนราว 5,016 หยวนต่อปีในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีอัตราสูงขึ้น   จากปีก่อนหน้า 15%

ตลาดสัตว์เลี้ยงถูกจัดแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ของใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับสัตว์เลี้ยง และการรักษาสัตว์เลี้ยง ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงยินยอมที่จะจ่ายในราคาที่แพงกว่าเพื่อซื้อสินค้าและบริการสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพ จึงส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงสามารถทำส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากสมุดปกขาวยังได้ระบุอีกว่า การบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น การรักษาสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากสถิติ ผู้เลี้ยงสุนัขและแมวในจีน ใช้จ่ายเงินจำนวน 1,557 หยวน    และ1,446 หยวนต่อปีตามลำดับ เพื่อการรักษาสัตว์เลี้ยงของตน

สถาบันวิจัย Tencent ได้จัดทำรายงานวิจัยธุรกิจการเลี้ยงแมวเผยว่า การนำภาพและสื่อที่เกี่ยวกับแมวมาใช้ในสื่อและบนโลกโซเชียลสามารถดึงดูดความสนใจชาวเน็ตได้มากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มไอคอนโปรโมททางการค้าใหม่ๆอีกด้วย ซึ่งแอพพลิเคชั่นยอดนิยมWeibo ของจีน ได้กลายเป็นแพลตฟอร์ม  ที่สำคัญในการใช้สัตว์เลี้ยงมาเป็นสื่อโปรโมทต่างๆในโลกโซเชียลเพื่อสร้างกระแส จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในโลกแห่งมัลติมีเดียรายงานยังกล่าวอีกว่า ในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมานี้ จำนวนบัญชีผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นWeibo กว่า 5.5 ล้านบัญชี ได้ใช้แฮชแท็กคำว่า "แมว" ในการสื่อถึงตนเอง

การทำส่วนแบ่งการตลาดได้สูงของธุรกิจอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงนั้นยังช่วยสร้างโอกาสและกำไรทางการค้าให้ธุรกิจและการบริการใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย อาทิ ธุรกิจการฝึกสัตว์เลี้ยงการขนส่งสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

 

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู กล่าวว่า ในปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในจีน กำลังได้รับความนิยมและ การเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย รวมทั้ง SMEภายในประเทศทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคที่ต้องการขยายโอกาสทางการค้ากับประเทศจีนโดยผู้ประกอบการสามารถสร้างจุดขายให้กับสินค้าของตนเองเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าโดยอาจสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์เข้ากับสินค้าของตน เช่น การนำเทคโนโลยีนาโน มาคิดค้นสูตรแชมพูสุนัข ที่สามารถทำความสะอาดขนสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการในสังคมจีนยุคสมัยใหม่ที่เน้นวิถีชีวิตแบบไฮเทคโนโลยี

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือ โทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ