ข่าว

 ยึด"ระบบราง"ปลายทางเที่ยวไทย!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ยึด"ระบบราง"ปลายทางเที่ยวไทย แผนท่องเที่ยวใหม่ "วีระศักดิ์ โควสุรัตน์"

 

               ไม่ว่า “ไทยแลนด์ ริเวียร่า” หรือว่าโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดก็ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่รัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้การจุดประกายแนวคิดของ "วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการ ที่เตรียมวางแผนการเติบโตของท่องเที่ยวไทยในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้าหลังการก่อสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จ โดยมีเป้าหมายหลักสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ไม่ได้มองแค่การเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจหรือตัวเลขที่เป็นเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

 ยึด"ระบบราง"ปลายทางเที่ยวไทย!

 

     ยึด"ระบบราง"ปลายทางเที่ยวไทย!

          “สิ่งที่สำคัญวันแรกที่ผมมามอบนโนบายพูดเลยว่าจะไม่เห็นการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่ผมเห็นมันในฐานะเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ จึงไม่ได้มองการท่องเที่ยวแค่เรื่องเงิน แต่มองเห็นเป็นเครื่องมือว่าเงินที่ไปจ่ายให้แม่ค้าถั่วต้ม 100 บาทกับเงินที่จ่ายค่าค็อกเทล 400 ผมเห็นค่าเงิน 100 มากกว่า

               “ไม่ว่าจะเป็นเป้าเงินหรือเป้าคน แต่จะบอกให้ว่ามันมีรอยยิ้ม รอยยิ้มมันมีได้แน่ ถ้ายูกระจายคนออกจากเมืองหลักไปสู่เมืองรอง ถามว่ารวยทุกคนไหม เปล่าเลย แต่ทุกคนมีรอยยิ้มให้เห็น คอนเซ็ปต์นี้คือการวางเข็มใหม่ให้การท่องเที่ยว”

               วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "คณะสื่อมวลชนไทย" ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดคูหาประเทศไทยในงาน "World Travel Market 2018 (WTM 2018)” ครั้งที่ 38 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

                จึงไม่แปลกโครงการ “ไทยแลนด์ ริเวียร่า” หรือถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางตอนล่างต่อเนื่องภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง จึงเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้าสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อรองรับระบบรางในอนาคต

 ยึด"ระบบราง"ปลายทางเที่ยวไทย!

               สิ่งที่เขากังวลแม้วันนี้ประเทศไทยกำลังจะมีรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงแต่ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดผลิตบุคลากรเพื่อการเดินทางโดยรถไฟ  มีแต่ผลิตบุคลากรที่จะไปใช้ในสนามบิน

              “วันนี้เราได้ผลิตใครไว้ใช้ที่สถานีรถไฟ ใกล้ชานชลาเพื่อจะได้เข้าใจการเดินทางของรถไฟว่ามีอะไรบ้าง มีเซอร์วิสอะไรบ้างที่ชาวบ้านทำได้ แม้กระทั่งสหกรณ์เดินรถในพื้นที่จะให้รถอีแต๋นมาลากไปก็ควรจะดูว่ามีหน้าตาอย่างไรมันคงหมดยุคแล้วมั้งจะขึ้นไปแล้วนั่งอะไรก็ได้ ดีไซน์หน่อยเพื่อให้มีความน่าสนใจ” วีระศักดิ์ให้มุมมอง

                เขาชี้ให้เห็นข้อดีของการขนส่งระบบรางว่ามาตรงเวลาต่างจากรถโดยสารประจำทางหรือรถบัสที่อาจมีปัญหาระหว่างทาง ทำให้ผู้เตรียมให้บริการตามสถานีที่มีการเตรียมทุกอย่างไว้แล้วเกิดปัญหา ไม่ว่าอาหาร ที่พักหรือการเดินทางด้วยประจำทางท้องถิ่น ที่สำคัญชาวบ้านจะได้มีเวลาทำงานอย่างอื่น ไม่ต้องมาเสียเวลากับการรอคอย

               “รถไฟไม่ต้องกลัวค่าน้ำร้อนน้ำชา รถบัสใครจ่ายให้มันเลี้ยวเมื่อไหร่มันก็เลี้ยวเมื่อนั้น แต่รถไฟไม่มีใครจ่ายให้มันเลี้ยวได้ เพราะฉะนั้นสถานีรถไฟจึงเป็นสถานที่ที่ซื่อสัตย์ในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแน่นอน”

 ยึด"ระบบราง"ปลายทางเที่ยวไทย!

              วีระศักดิ์ยังชี้ให้เห็นว่า อีกอย่างหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากยุโรป ญี่ปุ่นและจีนคือเขาเดินทางโดยรถไฟมานานแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยได้เรียนรู้ดูพัฒนาการเดินทางของกลุ่มประเทศเหล่านี้เพื่อนำกลับไปใช้ที่บ้านเราให้มากขึ้น เพราะมระบบรางจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเดินทางโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการเดินทางโดยรถไฟสามารถมีกระเปาติดตัวกี่ใบก็ได้ไม่จำกัดน้ำหนักหรือวัตถุที่เสี่ยงอันตรายเหมือนเครื่องบิน ที่สำคัญมีการกำหนดเวลาเดินทางที่แน่นอน

                “สิ่งที่ผมเห็นศักยภาพของการเดินทางโดยรถไฟ คือผมบุกไปทำเรียวิร่าก่อนคนแรก รถมันวิ่งอยู่ในท่อเนี้ยไม่เจริญเป็นไปไม่ได้กลับตาทำก็ต้องเจริญรถไฟวิ่งผ่านทุกอำเภอได้หมด แต่ถ้าไปทำที่อีสานอาจจะขายยากหน่อย เพราะบางอำเภอรถไฟไปไม่ถึง แต่ที่นี่รถไฟผ่านทุกอำเภอก็แค่บอกคนทุกอำเภอว่าไปจับจองล้อมสถานีรถไฟให้หมด ที่พัก อาหารการกิน ที่ฝากกระเป่า ที่จำหน่ายของที่ระลึก คุณไปยึดไว้ให้หมด

               "เราจะรู้เลยว่าวันนี้รถจะมากี่ขบวน จอดสถานีใดบ้าง คุณจะรู้ชั่วโมงทำกินแล้ว เอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นได้ อีกครึ่งชั่วโมงรถไฟจะมาถึงแล้ว เตรียมเปิดมือถือรอไว้เลย เขาจะเริ่มสั่งของล่วงหน้าบนรถไฟกันแล้ว ไม่เหมือนเครื่องบินสั่งปิดมือถือ นั่งรถไฟไม่ปิดมือถือ”

              รมว.ท่องเที่ยวฯ ย้ำว่าไม่เฉพาะการเดินทางระบบรางเท่านั้นที่จะช่วยฟื้นท่องเที่ยวในภาพรวม แม้กระทั่งอาหารการกินก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวไทยเป็นที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอาหารเมนูปลาน้ำจืด ซึ่งประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด แต่ยังไม่มีเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากนัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทางฝั่งยุโรป เพราะเขาไม่มี ขณะที่ประเทศไทยมีแม่น้ำโขงเป็นแหล่งปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ จึงจำเป็นจะต้องโปรโมทให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

            “วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เอาปลานิลมาให้คนไทยกิน เรามีความหลากหลายสัตว์น้ำจืดแล้วมันไม่ขึ้นในเมนูตะวันตกเลย เขาได้ยินแต่ปลาบึกแต่ไม่เคยได้ยินปลาตะเพียนคืออะไร ตะเพียนไร้ก้าง รับรองถ้าฝรั่งรู้จักปลื้มแน่ เพราะบ้านเขาไม่มีปลาน้ำจืด”

 ยึด"ระบบราง"ปลายทางเที่ยวไทย!

                อย่างไรก็ตามวีระศักดิ์ยังมีความกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ อันเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้โครงการท่องเที่ยวเมืองรองมีปัญหา โดยเฉพาะการจดแจ้งสถานประกอบการที่พักแรมไม่เกิน 20 คนที่ค่อนข้างยุ่งยาก แม้ว่ารัฐบาลใช้เหตุจูงใจทางด้านกาลดหย่อนภาษี แต่ผู้ประกอบการยอมทิ้งในส่วนนี้ โดยมองว่าอยู่นอกระบบจะดีกว่า

                “ถ้าคุณทำให้ต้นทุนในระบบแพงทุกคนจะออกนอกระบบ อย่างจ.นครสวรรค์ วันนี้มีคนไปจดแจ้งเป็นสถานประกอบการพักแรมแบบไม่เกิน 20 คน 3 รายแปลว่าอะไร แปลว่าต้นทุนในการเดินเข้าสู่ระบบมันยากเกิน จึงตัดสินใจอย่าทำเลย เขายอมทิ้งขนาดนี้เพราะว่าต้นทุนอยู่ในระบบมันแพง ไม่ใช่แพงที่ราคาแต่มันแพงที่เงื่อนไขและขั้นตอน”

              ถึงกระนั้นก็ตามเขาย้ำว่าต้องยอมรับความจริงว่าวันนี้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่กว่าในระบบในเกือบทุกเรื่อง แม้ตนเองจะไม่เห็นด้วย แต่ถ้าการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมก็ไม่ได้แปลว่าต้องให้เข้ามาอยู่ในระบบ

              “อย่างตลาดขายของเก่าก็ไม่มีใครไปประเมินภาษีเขานะและไม่ควรไปประเมินด้วย ให้มันอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบอย่างนั้นแหละไม่เป็นไร ผมจึงมองว่าการทำนโยบายที่ถูกต้องคือการทำนโยบายลดความเหลือมล้ำอะไรก็ตามที่นำไปสู่ลดความเหลื่อมล้ำได้ก็ทำไปเถอะ การประท้วง เดินขบวนทุกชนิดมาจากการเหลื่อมล้ำทั้งนั้น แก้ที่เหลื่อมล้ำได้คุณจะแก้ฟาวน์เดชั่นใหม่ให้ประเทศได้ ไม่มีเครื่องมืออะไรที่กว้างใหญ่ไพศาลและละเอียดเล็กที่สุดจากท่องเที่ยว” วีระศักดิ์กล่าวย้ำทิ้งท้าย

 

 ดึงคนอังกฤษเที่ยวไทย ชูจุดขาย “วิถีกิน วิถีถิ่น” 

               การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำทัพผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 41 ราย เข้าร่วมงาน World Travel Market (WTM) 2018 ครั้งที่ 38 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชูจุดขายอะเมซิ่งไทยแลนด์ “วิถีกิน วิถีถิ่น” หวังดึงนักท่องเที่ยวจาก 10 เมืองรองของสหราชอาณาจักรสู่ประเทศไทยเพื่อช่วยเพิ่มกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น

             ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการททท. เผยหลังการเปิดงาน World Travel Market (WTM) 2018 ครั้งที่ 38 ณ ศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ EXCEL กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยระบุว่า

              ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน ททท.ได้นำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 41 รายเพื่อเดินทางเข้าร่วมงาน ซึ่งเป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยิง่ใหญ่และสำคัญที่สุดของสหราชอาณาจักร จัดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 38 ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานดังกล่าว โดยครั้งนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยเข้าร่วมงานจำนวน 41 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการประเภทโรงแรมและรีสอร์ท 28 ราย บริษัทนำเที่ยว 9 ราย บริษัทรถเช่า 1 ราย สมาคม 1 รายและอื่นๆ อีก 1 ราย ได้แก่ LJR Consultancy เป็นเอกชนไทยที่เข้าร่วมงานนี้เป็นครั้งแรก

               “งาน WTM เป็นงานส่งเสริมการขายที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้นำเสนอขายสินค้าทางการท่องเที่ยวในฐานะผู้ขาย โดยจัดพื้นที่เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ตลอดจนพบปะเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการนำเที่ยวที่เข้าร่วมงานในฐานะผู้ซื้อ”

              ผู้ว่าการททท.กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรที่เดินทางไปเข้าประเทศไทย 9 เดือนแรกในปี 2561 (มกราคม-กันยายน) ว่ามีจำนวนกว่า 7 แสนคน สร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยมีกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Beach Holiday ร้อยละ 56 City break ร้อยละ 41 และ Cultural and History ร้อยละ 30 ตามลำดับ ทั้งนี้การท่องเที่ยวเรือสำราญได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นคือการขับรถตุ๊กตุ๊กท่องเที่ยวเอง

               นอกจากนี้นักท่องเที่ยวอังกฤษยังให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Responible Tourism ททท.ยังได้เร่งสร้างการรับรู้เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาครั้งแรกในเมืองรองของสหราชอาณาจักร 10 เมือง ได้แก่ เบอร์บิงแฮม, ฮัมไชน์, กลาสโกว์, ลีดส์, บริสโตน, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์, เชฟฟิลด์ อีดินเบิร์ก และคาร์ดิฟฟ์ พร้อมทั้งนำการเสนอภาพจำใหม่ของประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวไม่หนาแน่น โดยเพิ่มเส้นทางเสนอขายท่องเที่ยวหลักบวกเมืองรอง 55 จังหวัดของไทย อีกทั้งส่งเสริมโครงการวิถีกิน วิถีถิ่นในตลาดเมืองรองขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักรอีกด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ