ข่าว

ฟื้น24ชุมชนจ.ชัยนาทอานิสงค์"ไทยนิยมยั่งยืน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ท่องเที่ยว"โอท็อป" นวัตวิถีที่"ชัยนาท"ฟื้น24ชุมชนอานิสงค์"ไทยนิยมยั่งยืน"

 

              “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ถูกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชุมชน วัฒนธรรมประเพณี และอัตลักษณ์ของชุมชน มุ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชน พร้อมทั้งพัฒนายกระดับคุณภาพสินค้า OTOP มุ่งสร้างรายได้และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างทั่วถึง 

   

       การท่องเที่ยวไปในชุมชนแบบ “นวัตวิถี”เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวหลักไปด้วยก็ทำให้พบเห็นสิ่งดีๆอย่างมากมาย เพราะหลายชุมชนเคยเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเรื่องราวหลายร้อยปี มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมทั้งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน

          ชุติยันต์ วัจนะรัตน์ รักษาการพัฒนาการจังหวัดชัยนาท กล่าวผ่านการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนการลงพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ว่าจากความร่วมมือของผู้นำแต่ละชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ถือเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว จ.ชัยนาทถือว่ามีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการนี้ได้เป็นอย่างดี การเชื่อมโยงเส้นทางในแต่ละชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ชุมชนจะได้ประโยชน์ สิ่งแรกเลยก็คือการที่ทำให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จักความเป็นตัวตนของชุมชนนั้น ๆ ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวต่างถิ่นและผู้คนในชุมชนและบริเวณจังหวัดใกล้เคียง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในชุนชนก็มีโอกาสจำหน่ายสร้างรายได้มากขึ้น 

           โดยกิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากชุมชน คณะเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอต่างๆรวม 8 อำเภอของจังหวัดชัยนาทโดยมี จำเรียงรัตน์ กล่ำมี หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นำทีมลงพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย  พัชญ์ชน ทองขาว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชัยนาท และภาคเอกชนประกอบด้วยสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท  สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชัยนาท และกลุ่ม Blogger ท่องเที่ยวจากส่วนกลาง ที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยว รีวิว เผยแพร่ทาง Social Media

          เมื่อพูดถึงจ.ชัยนาท หลายคนก็นึกถึงแต่ “สวนนก” ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่จังหวัดนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมายมายทั่วทั้งจังหวัด ทั้งโบราณสถานที่เก่าแก่ ศาสนสถานที่สำคัญ บ้านเมืองเก่าที่เก๋ไก๋ บรรยากาศที่สวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย รวมถึงพื้นที่เกษตรที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานที่พักผ่อนได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย เพื่อให้การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนง่ายขึ้น และมองเห็นภาพที่ชัดเจน คณะเจ้าหน้าที่“สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชัยนาท” จึงได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงเป็นเส้นทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของจังหวัดชัยนาท ให้มีความสอดคลองทั้งในเรื่องของระยะทาง เรื่องราวของแต่ละชุมชน รวมทั้งเรื่องความโดดเด่นทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถจัดทำได้ 3 เส้นทาง ในพื้นที่ 8 อำเภอ 24 หมู่บ้านเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต 

        ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมงกว่า ๆ ถือเป็นเวลาไม่นานมากสำหรับการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง (ตอนบน) โดยชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “สรรพยา-สรรคบุรี” เส้นทางเริ่มต้นที่วัดไปไหว้พระทำบุญที่ “วัดพระบรมธาตุวรวิหาร” ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดเก่าที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง ตำบลชัยนาท อำเภอเมืองชัยนาท เจดีย์พระบรมธาตุ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมอู่ทอง มีความสวยงาม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

        จากนั้นก็มุ่งหน้าไปยังโรงงานปลาร้าแม่ผาลำ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อแล้วมาแวะที่ “บ้านท่าไทร” ม.1 ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา ซึ่งเป็นชุมชนติดแม่น้ำ มีความสวยงามเป็นต้นทุนสำคัญและยังมีผลิภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นเครื่อจักสานจากไม้ไผ่ ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เมื่อข้ามฝั่งมาที่“บ้านโพนางดำ” ม.2 ต.โพนางดำตก จะได้เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการปลูกเมล่อน ซึ่งเป็นผลผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างเป็นกอบเป็นกำ 

       และที่นี่ยังมีตลาดเก่าแก่ มีบ้านเรือนโบราณให้เยี่ยมชม พร้อมมีสินค้าที่มีจำหน่ายมาตั้งแต่สมัยโบราณและมีชื่อเสียงอย่างอุปกรณ์จับปลา ทั้งแห อวน ตาข่ายขนาดต่าง ๆ มีให้เลือกซื้อหาจำนวนมาก แต่เป็นไฮไลท์สำคัญของตลาดแห่งนี้ก็คือ “ขนมกุ้ยหลี” ซึ่งเป็นขนมแป้งโรงงาน มีไส้ถั่ว ไส้ทุเรียน  ผลิตและจำหน่ายอยู่ที่นี่มา 3 ชั่วอายุคน 

        “บ้านบางกระเบื้อง” ม. 4 ต.บางหลวง อ.สรรพยา ก็เป็นไฮไลท์ที่ผู้มาเยือนมักจะถ่ายรูปเช็คอินกับสะพานไม้ไผ่ที่ชาวบ้านตั้งใจทำเพื่อรับนักท่องเที่ยว ก่อนมาชม “เขื่อนเจ้าพระยา” ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ ที่เริ่มดำริสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ที่ ต.บางหลวง อ.สรรพยา  โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม บริเวณเหนือเขื่อนจะมีฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากมาอาศัยหากิน เป็นภาพที่หาชมได้ยากยิ่ง 

       “บ้านดอนอรัญญิก” ม. 7 ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี เป้นอีกหมู่บ้านที่มีจิตรกรรมฝาผนังอันโดเด่น โดยในพระอุโบสถโบราณ ที่วัดโพธาราม มีโบราณสถานที่เก่าแก่ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบินที่วัดโตนดหลาย และเจดีย์ที่เป็นอนุสรณ์สถาน สันนิษฐานว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยาที่วัดสองพี่น้อง และรับฟังเรื่องเล่าจากนักเล่าเรื่อง, นักโบราณคดี ชมการสาธิตหล่อพระเครื่องวัตถุโบราณ ศาสตราวุธนักรบ ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ที่สร้างรายได้ของชุมชน

       ที่สำคัญยังมีชุมชนริมน้ำ ที่ได้มีการบริหารจัดการท่องเที่ยวไว้ได้อย่างน่าสนใจ “ตลาดริมน้ำเมืองแพรก” ซึ่งเป็นจุดจำหน่ายอาหารและสินค้าชุมชนประมาณ 80 ร้านค้า มีแพย่ำน้ำ เรือเจ็ทสกี ที่ดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสการท่องเที่ยวทางน้ำ พร้อมกับได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์และอาหารต่าง ๆ จากพ่อค้าแม่ขายและผู้คนในชุมชน 

  จากนั้นเดินทางมาที่ “บ้านดอนซาก” ม.6 ต.ห้วยงู อ.หันคา  มีความน่าสนใจในเรื่องราวของการเกษตร ซึ่งมีสวนส้มโอขาวแตงกวา ที่ปลูกและดูแลแบบอินทรีย์ นอกจากผลผลิตเป็นที่ต้องการแล้ว องค์ความรู้ในการจัดการดูแล ยังเป็นที่สนใจให้ผู้คนเข้ามาศึกษาดูงานด้วย

      แต่ที่โดดเด่นของชุมชนแห่งนี้ คือ การทำนารูปแบบใหม่ที่คิดค้นโดยคนในชุมชน คือ การทำนาแบบตีตาราง ที่นอกจากทำให้ใช้เมล็ดพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้การจัดการง่ายและช่วยเพิ่มผลผลิตด้วย ส่วนวิธีการเป็นอย่างไรต้องเข้าไปศึกษาด้วยตัวเอง ทว่าสิ่งที่เห็นจากการทำนารูปแบบนี้ คือ ข้าวที่ขึ้นเป็นระเบียบ เป็นแถวเป็นแนวสวยงาม ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันทำสะพานทอดลงไป ซึ่งสร้างความแปลกตา ตื่นใจให้ผู้คนทั่วไปได้เป็นอย่างดี กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของผู้คนในชุมชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไปด้วย

        นอนจากนี้ ยังมีสิ่งที่แปลกและตื่นตา คือ มีป่าชุมชนที่เป็นแหล่งอาศัยของค้างคาวแม่ไก่หลายหมื่นตัว เป็นจุดที่สร้างความสนใจให้ผู้คนทั่วไปอย่างมาก ค้างคาวจะบินออกไปหากินในช่วงพลบค่ำเป็นแถวสวยงาม สำหรับอาหารการกินของบ้านดอนซากถือว่ามีความพร้อมอย่างมาก เป็นอาหารท้องถิ่นภาคกลางที่นักท่องเที่ยวสามารถรับประทานกันได้อย่างอร่อยทุกเมนู 

 

      ส่วน“บ้านอู่ตะเภา” ม. 5 ต.อู่ตะเภา อ.มโนรมย์ ชุมชนแห่งนี้ถือมีความเก่าแก่ มีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการขุดพบข้าวของเครื่องใช้โบราณต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งถูกรวบรวมเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน ณ บ้านผู้ใหญ่บ้าน และนอกจะได้รับฟังข้อมูลจากนักเล่าเรื่องของชุมชนแล้ว ยังได้นั่งรถอีแต๊กไปยังจุดต่างๆ ที่หลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้ชมด้วย เช่น บ่อน้ำโบราณ คูเมืองเก่า โรงเหล็กโบราณเป็นต้น

       นี่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จ.ชัยนาทมีผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน มีความรู้และภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ มีเรื่องราวเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นที่ยังคงความน่าสนใจมิเสื่อมคลายทีรอนักท่องท่องเที่ยวหรือผู้สนใจไปสัมผัส

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ