ข่าว

กคช.เดินหน้าแผนฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กคช.เดินหน้าแผนฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง

            การเคหะแห่งชาติเดินหน้าแผนฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง กำหนด 3 ระยะ สั้น-กลาง-ยาว ล้อไปกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ส่วนใหญ่เกือบ 50% เป็นคนรุ่นแรกและทายาท ซึ่งพึงพอใจทำเลที่อยู่ที่สะดวกไปแทบทุกอย่าง แต่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยถึงโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง ซึ่งมีอาคารพักอาศัย 4-5 ชั้น 38 หลัง จำนวนรวม 3,360 หน่วยว่า ชุมชนห้วยขวางเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2499 แบ่งระยะการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ โดยอาคารที่ก่อสร้างสมัยเริ่มต้นมีสภาพที่ทรุดโทรม เนื่องจากมีอายุการใช้งานมากกว่า 60 ปี การเคหะแห่งชาติจึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวางขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการรองรับความเจริญในอนาคต
    ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการศึกษาความต้องการและความพึงพอใจด้านที่อยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนห้วยขวาง พบว่า ผู้อยู่อาศัยต่างยืนยันจะอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ตลอดไป โดยส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมตัว หรือประสงค์จะหาที่อยู่เพิ่มเติมหรือแห่งใหม่ เพราะพึงพอใจกับสถานที่เดิม แต่ประสงค์อยากให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ให้ทันสมัย มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่าย และสะดวก
    “ผู้อยู่อาศัยมีความพอใจเคหะชุมชนห้วยขวางมาก ทั้งราคาค่าเช่าที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยที่มี        รายได้น้อย มีขนาดห้องที่เหมาะสม มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน  เข้าถึงบริการสาธารณะได้ง่าย อยู่ใกล้ตลาด มีย่านการค้า ธุรกิจ และห้างสรรพสินค้าอยู่ไม่ไกล เดินทางสะดวก มีทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างคอยให้บริการ อีกทั้งยังมีวัด โรงเรียน สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง ศูนย์สาธารณสุข และหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์สนับสนุนผู้มีรายได้น้อย” ดร.ธัชพลกล่าว
    จากการสำรวจความต้องการระยะสั้น (1-3 ปี) พบว่าผู้อาศัยต้องการ 5 ด้าน ได้แก่ การดูแลความเป็นระเบียบบริเวณอาคารที่พักอาศัย การจัดการพื้นที่จอดรถให้เพียงพอและเป็นระเบียบ  การจัดการขยะมูลฝอย การมีระบบติดตามตรวจสอบ ซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารที่พักอาศัย และโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรฐาน การมีสวนสุขภาพ ลานกีฬา และพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ
    ความต้องการพัฒนาระยะกลาง ที่เห็นผลภายใน 5 ปี พบว่าสอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาระยะสั้น และมีเพิ่มเติมว่าด้วยการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของห้องพัก
    ความต้องการพัฒนาระยะยาว (10 ปี) พบว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับความต้องการระยะสั้นและระยะกลาง แต่มีประเด็นที่ได้รับความสำคัญอันดับ 1 ในการพัฒนาระยะยาว ได้แก่การจัดการขยะมูลฝอย รวมทั้งการสื่อสารและการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคคนเมืองหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
    “คนในห้วยขวางก็ยังเชื่อมั่นว่าการเคหะฯจะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้อยู่อาศัยได้ถึง 53.5% ถือเป็นสัดส่วนที่การเคหะฯ สามารถพกเอาความมั่นใจเข้าไปพัฒนาเคหะชุมชนห้วยขวางได้เช่นกัน โดยเดินตามแผนพัฒนาระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยจะนำโมเดลการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อไป”
    ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวว่า ผู้พักอาศัยในเคหะชุมชนห้วยขวางส่วนใหญ่เป็นทายาทของผู้พักอาศัยรุ่นแรก โดยมีอัตราค่าเช่าจากการสำรวจเป็นตัวบ่งชี้ กล่าวคือ 35.86% มีอัตราค่าเช่า/เดือนอยู่ระหว่าง 301-600 บาท และผู้เช่ารุ่นแรกที่มีค่าเช่ารายเดือน 300 บาท มีสัดส่วน 12.5% (อัพเดทล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2561)
    “ผู้เช่ารุ่นแรกกับทายาทมีสัดส่วนมากเกือบ 50% แสดงให้เห็นชัดว่า พวกเขาชอบที่จะอยู่ในทำเลตรงนี้ แต่ต้องการให้พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการจัดการขยะมูลฝอย”
  

   ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการจัดประชุม จัดกิจกรรมเสริมความรู้ให้ผู้อยู่อาศัยศึกษาดูงานและอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อมชุมชนโดยเฉพาะด้านการจัดการขยะมูลฝอยในหลายพื้นที่ อาทิเช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 1 โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในการจัดการสภาพแวดล้อมของชุมชนด้วยชุมชนเอง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ