ข่าว

  สั่งยกเครื่อง"มิลค์บอร์ด"ผลประโยชน์ทับซ้อน"องค์กรหรือคน..?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  สั่งยกเครื่อง"มิลค์บอร์ด"แก้นมโรงเรียน ผลประโยชน์ทับซ้อน"องค์กรหรือคน...?       

 

            ปัญหานมบูด  การทุจริตนมโรงเรียน รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างการซื้อเครื่องจักรบรรจุนมของไทย-เดนมาร์ค มูลค่ากว่า 2,500 ล้าน ที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ปี 2559 จนมีการร้องเรียนไปที่ป.ป.ช.และอีกหลายหน่วยงานให้ตรวจสอบ กระทัั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “กฤษฎา บุญราช” ออกมาประกาศว่าจะเตรียมยกเครื่องใหญ่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ในระหว่างการมอบนโยบายแก่ผู้แทนสหกรณ์ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตามข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 7 ข้อ

               โดย 1 ใน 7 ข้อนั้นให้พิจารณาทบทวนองค์ประกอบของมิลค์บอร์ด โดยให้ปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขานุการจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน 

             “เห็นด้วยกับท่านกฤษฎา ถ้าให้เปลี่ยนฝ่ายเลขานุการจากอ.ส.ค.เป็นกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานที่ไม่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน แต่ถามว่าถ้าเปลี่ยนแล้วมีอะไรมารับประกันได้ว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น การเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ต้องหาคนผิดหรือรับผิดชอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาจะเกิดขึ้นไม่รู้จบ” แหล่งข่าวในมิลค์บอร์ดรายหนึ่งให้ความเห็น  

             แหล่งข่าวคนเดิมตั้งข้อสังเกตว่า แม้อ.ส.ค.จะมีส่วนได้เสียในฐานะผู้ได้รับการจัดสรรโควตานมโรงเรียน แต่ปัจจุบันมีน้อยมาก โควตาที่ได้รับการจัดสรรส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของผู้ประกอบธุรกิจผลิตนมรายใหญ่ๆ ซึ่งมีความสนิทสนมกับผู้บริหารในกรมปศุสัตว์มีส่วนในการผลักดันเรื่องนี้

            “นมโรงเรียนมันเป็นเค้กก้อนใหญ่เป็นหมื่นล้าน ก็เป็นธรรมดาที่เอกชนย่อมวิ่งเข้าหา”

           สำหรับปีนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมากกว่า 14,000 ล้านบาท เพื่อให้เด็กไทยได้ดื่มนมรวมทั้งสิ้น 7.45 ล้านคน โดยปัจจุบันโครงการอาหาร (เสริม) นมโรงเรียนบริหารจัดการเชิงบูรณาการโดย 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ดูแลคุณภาพน้ำนมดิบครบวงจรและขั้นตอนการส่งมอบ กระทรวงสาธารณสุขโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ดูแลผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ควบคุมโรงงานผลิต ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รับผิดชอบโรงเรียนเกี่ยวกับการตรวจรับผลิตภัณฑ์ และกระทรวงมหาดไทยดูแลงบประมาณไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและมีคณะอนุกรรมการนมโรงเรียน โดยผู้อำนวยการนมไทย-เดนมาร์คในฐานะเลขานุการทำหน้าที่จัดสรรและเป็นคู่สัญญาจัดจัดจ้างนมโรงเรียนทั้งหมด

                  อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำมาตลอดว่าคณะกรรมการจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริต หรือจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใด และกำชับให้คัดสรรนำน้ำนมดิบคุณภาพสูง เพื่อจะนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นนมพาสเจอร์ไรส์และนมยูเอชทีที่ได้มาตรฐาน ดูแลการขนส่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดการกระแทกจนบรรจุภัณฑ์ฉีกขาดทำให้นมบูด พร้อมได้ย้ำกับผู้ประกอบการให้จัดหาน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมที่ได้รับการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์ว่ามีคุณภาพตามข้อกำหนดมาให้เพียงพอ หากพบมีการนำน้ำนมจากแหล่งที่ไม่ได้รับการรับรองและคุณภาพต่ำ จะพิจารณาตัดสิทธิ์อย่างเด็ดขาด 

                ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ที่ผ่านมาอธิบดี นสพ.สรวิศ ธานีโต ฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าว โดยระบุว่าขณะนี้ได้มีการปรับปรุงมาตรการการป้องกันการทุจริตโครงการอาหารนมโรงเรียนเสนอต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมเพื่อให้เป็นตามข้อเสนอแนะของป.ป.ช. โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักตรวจสอบ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานนมโรงเรียน อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง และให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน โดยให้ทบทวนบทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

                นอกจากนี้ยังได้เสนอให้พิจารณาทบทวนระยะเวลาการจัดทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคมเป็นระยะเวลาคาบเกี่ยวภาคการศึกษาที่ 2 ทำให้เมื่อจัดสรรสิทธิ์แล้ว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิทธิ์การจำหน่ายได้ โดยมิลค์บอร์ดมีความเห็นว่าควรมีการทำเอ็มโอยูเป็นรายภาคการศึกษาแทนการทำเป็นรายปีการศึกษา และให้มีการปรับปรุงจัดการระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งนมโรงเรียน ตามที่มีข้อหารือในมิลค์บอร์ดก่อนหน้านี้ว่า ไม่สมควรให้มีการจัดซื้อน้ำนมดิบข้ามเขต ซึ่งจะดำเนินการโดยกำหนดเรื่องการขนส่งเป็นลำดับแรก เพื่อรักษาคุณภาพน้ำนม

              จากนั้นกระทรวงเกษตรฯ ต้องพิจารณาทบทวนแก้ไข และเพิ่มอัตราโทษของความผิดผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์นมโรงเรียนตามประกาศของมิลค์บอร์ด และให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณากระบวนการจัดซื้อนมโรงเรียน โดยให้โรงเรียนเป็นผู้สั่งซื้อโดยตรงผ่านระบบการจัดซื้อด้วยระบบการจัดหาพัสดุด้วยวิธีการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แทนวิธีการจัดซื้อแบบพิเศษที่ผ่านมา

              สุดท้ายให้พิจารณาทบทวนและองค์ประกอบของมิลค์บอร์ด โดยให้ปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขานุการจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน

               นอกจากนี้ ยังมีีการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของมิลค์บอร์ด ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯให้มิลค์บอร์ดเร่งดำเนินการปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนให้ทันภาคเรียนที่ 2 ปี 2561 โดยคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลว่าเกษตรกร 19,000 ราย ขายนมได้ราคาเป็นธรรม นักเรียน 7.450 ล้านคน ได้ดื่มนมในเวลา 260 วันต่อปี และผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรสิทธิ์อย่างโปร่งใสเป็นธรรม  ทั้งนี้ปีการศึกษา 2561 มีผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรสิทธิ์ในโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนจำนวน 62 ราย จาก 68 โรงงาน 

              อย่างไรก็ตาม อาชีพเลี้ยงโคนมนั้นถือเป็นอาชีพพระราชทาน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้เกษตรกรสามารถอยู่ในอาชีพได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ภายในปี 2566 จะเปิดเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โดยกรมปศุสัตว์และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกันส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันด้านราคาได้ พร้อมกับหาตลาดส่งออกใหม่ๆ นอกทวีปเอเชีย-แปซิฟิก

 

 

             จักรวาล กิ่งจันทร์ ประธานสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค(ลำพญากลาง) จำกัด อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2561 กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการพิจารณาทบทวนองค์ประกอบของมิลค์บอร์ด โดยให้ปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขานุการจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นกรมปศุสัตว์ ว่าไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา เพราะยังไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญจะยิ่งทำให้เกิดความระยะห่างระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ถ้าหากให้กรมปศุสัตว์เข้ามาดูแล แต่ควรให้หน่วยงานที่เป็นกลางจริงๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาดูแลรับผิดชอบดีกว่า

             “ผมว่านมโรงเรียนเป็นเรื่องประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น การปรับเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบไม่น่าจะใช่ทางออก ถึงอย่างไรผลประโยชน์ไม่เคยตกถึงเกษตรกรเลย ผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรก็ยังเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ทำไมไม่แบ่งโควตาให้สหกรณ์บ้าง ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการได้ หรือจัดโควตามาให้ได้ไหม สหกรณ์ใดผลิตน้ำนมดิบได้ 10 ตันก็ส่งนมโรงเรียน 1 ตัน ส่วนที่บอกว่าห้ามส่งข้ามเขต วันนี้ไปดูได้เลยวิ่งส่งข้ามเขตกันทั้งนั้น นมภาคกลางก็ไปส่งภาคใต้ ทั้งที่ภาคใต้ก็มีน้ำนมดิบอยู่แล้ว” ประธานสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค(ลำพญากลาง)เผยทิ้งท้าย

           

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ