ข่าว

 เปิดแผนแก้ปัญหาจราจร "นครพิงค์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดแผนแก้ปัญหาจราจร "นครพิงค์" เตรียมผุดรถไฟฟ้ารางเบา 3 เส้นทาง          

 

       คมนาคมเตรียมเปิดประมูลระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่สายแรกได้ในปี 2562 หลังสนข.ศึกษาแล้วมอบให้รฟม.ดำเนินการในรูปแบบให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐหรือพีพีพี สร้างความหวังให้แก่มหานครเชียงใหม่ในการแก้ปัญหาจราจรติดขัด 

 เปิดแผนแก้ปัญหาจราจร "นครพิงค์"

         ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และว่าที่ปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่เผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ หรือรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ว่าภายหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมและออกแบบโครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีแดง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเบาสายแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบกำหนดโครงการที่จะดำเนินการตามมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 6 โครงการ โดยรวมถึงโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ด้วย และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้มีมติรับทราบผลการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ที่ สนข.ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จและมอบหมายให้รฟม.ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยมีความเห็นว่าควรดำเนินการก่อสร้างครั้งละ 1 เส้นทาง

           “สำหรับการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ สนข.ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจำนวน 3 ครั้ง และจัดประชุมกลุ่มย่อย Focus Group จำนวน 5 ครั้ง จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และสื่อมวลชน โดยได้นำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ มาประกอบการศึกษาฯ ดังกล่าว เพื่อให้เป็นระบบขนส่งสาธารณะของคนเชียงใหม่อย่างแท้จริง”

 

 เปิดแผนแก้ปัญหาจราจร "นครพิงค์"

            ผอ.สนข.เผยต่อว่า จากผลการศึกษาพบว่าระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเบา (Light Rail Transit: LRT) ประกอบด้วย 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงวิ่งแนวทิศเหนือ-ใต้ ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร สายสีน้ำเงิน วิ่งแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร และสายสีเขียววิ่งเชื่อมย่านธุรกิจ ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร รวมระยะทาง 34.93 กิโลเมตร มีโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างระดับดินและใต้ดิน โดยเขตชานเมืองเป็นระดับดิน (วิ่งร่วมกับการจราจรปกติบางส่วน เช่น ทางแยก และจุดกลับรถ) และเขตเมืองเป็นระดับใต้ดิน โดยกระทรวงคมนาคมได้พิจารณามอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมและออกแบบโครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีแดงจังหวัดเชียงใหม่ ตามรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างใต้ดินและระดับดิน ซึ่งอยู่ในแนวทิศเหนือ–ใต้ ผ่านพื้นที่กิจกรรมหลักสำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์ราชการเชียงใหม่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ห้างสรรพสินค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า สำนักงานขนส่งทางบก และห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง 

            “ขณะนี้อยู่ระหว่าง รฟม.เตรียมการดำเนินงานจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา รวมทั้งจัดทำรายงาน EIA และรายงานตามพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงาน EIA รวมทั้งรายงาน PPP ให้แล้วเสร็จได้ประมาณเดือนตุลาคม 2562”

            ชัยวัฒน์ย้ำในตอนท้ายว่าในช่วงต้นเดือนกันยายน 2561 จังหวัดเชียงใหม่จะร่วมกับสนข. จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมีการเดินขบวน Troop ประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณตามแนวเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ หรือบริเวณแหล่งชุมชนที่มีประชาชนเดินทางสัญจรเป็นจำนวนมากต่อไป โดยจะมีการจัดริ้วขบวน TROOP เดินพาเรดอย่างสวยงามและตื่นตาน่าสนใจ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ที่พึงจะได้รับของโครงการและของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป เมื่อโครงการแล้วเสร็จบนเส้นทางที่จะมีการก่อสร้างทางรถไฟฟ้าแบบรางเบา ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายนนี้ ในรูปแบบขบวนรถแห่ที่มีการประดับประดาและตกแต่งอย่างตระการตาน่าสนใจ โดยมีคณะผู้บริหาร จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไป ดารานักแสดง เจ้าหน้าที่ สนข. ตลอดถึงสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์โครงการในครั้งนี้

       ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่นั้นในปัจจุบันนับเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยเป็นเมืองที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีประชากรตามทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 1.7 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้เดินทางเข้าท่องเที่ยวและพักแรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 10 เท่า ของจำนวนประชากรตามทะเบียนบ้าน คืออยู่ที่ 9.4 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ในทุกปี ซึ่งสร้างรายได้เข้าจังหวัดไม่น้อยกว่า 88,452 ล้านบาทต่อปี หากมีพัฒนาเมืองด้านการขนส่งเพื่อรองรับตามทิศทางของการเพิ่มขึ้นของประชากรทั้งขาจรและขาประจำ ในอนาคตอันใกล้นี้จังหวัดเชียงใหม่ก็จะกลายเป็นนครแห่งชีวิตที่มีความน่าสนใจและปลอดภัยในการเดินทางสัญจรเป็นอย่างยิ่งและจะเป็นเมืองในฝันที่ผู้คนทั่วโลกต่างอยากมาเยือนอย่างแน่นอน  

 

 แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่

          หลังจากสนข. ได้ศึกษาและจัดทําแผนแม่บทและออกแบบเพื่อการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่แล้วเสร็จเมื่อปี 2550 แบ่งกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ซึ่งคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2550 รับทราบผลการศึกษาโดยมอบสนข.ประสานกระทรวงมหาดไทยกระทรวงการคลังและสํานักงบประมาณพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อนําไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

        โดยผลการดำเนินงานระยะสั้นให้ จ.เชียงใหม่ จัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะกําหนดให้รถสองแถวแดง รถโดยสารปรับอากาศและรถสองแถวแดงเสริมพิเศษ เข้าจอดสถานีขนส่งช้างเผือกเพียงแห่งเดียวและให้สหกรณ์ลานนาเดินรถ จํากัด และเทศบาลนครเชียงใหม่จัดรถโดยสาร รับช่วงต่อในเขตเมือง แต่เนื่องจากการดําเนินงานดังกล่าวไม่ประสบความสําเร็จ  จึงได้ศึกษาและสาธิตระบบรถประจําทางในเขตเมือง (จ้างทดลองวิ่ง) โดยเริ่มทดลองเดินรถ 1 เส้นทางและเพิ่มการเดินรถอีก 3 เส้นทางและจัดรถบริการสาธารณะ (ชัตเติลบัส) ระหว่างท่าอากาศยานเชียงใหม่–โรงแรมต่างๆ โดยใช้รถตู้โดยสารปรับอากาศไม่ประจําทาง วิ่ง 2 เส้นทาง

        แต่การดําเนินการจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะขาดการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง ทําให้ไม่มีผู้มาใช้บริการรถสองแถวแดงที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบกับไม่มีเงินอุดหนุนเพื่อดําเนินการในระยะแรก ทําให้ผู้ประกอบการรถสองแถวแดงที่เข้าร่วม โครงการกลับไปให้บริการในรูปแบบเดิม ส่วนการสาธิตระบบรถประจําทางในเขตเมือง ทําให้มีรถสองแถวแดงบริการอย่างต่อเนื่องและมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่หากการจ้างทดลองวิ่งสิ้นสุดลง ในขณะที่ผลตอบแทนยังไม่คุ้มค่าการลงทุน  มีผลให้รถสองแถวแดงที่เข้าร่วมโครงการกลับไปให้บริการในรูปแบบเดิมเช่นเดียวกัน

      ส่วนระยะกลางและยาวนั้น แบงออกเป็น 3 แนวทาง โดยแนวทางแรกสํานักงานจังหวัดเชียงใหม่ได้ศึกษาโครงการระบบโครงสร้างเมืองเพื่อรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาและบูรณการระบบขนส่งและโลจิสติกส์สาธารณะของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และจัดระเบียบการนํารถโดยสารขนาดใหญ่เข้ามาในเขตเมืองที่มีถนนแคบ ส่วนแนวทางที่สองสํานักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์กรมหาชน) อยู่ระหว่างดําเนินการศึกษาวิจัยความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ลําพูน และลําปางเพื่อออกแบบเบื้องต้นระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่-ลําพูน ลําปาง และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงินและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและแนวทางที่สาม ให้สนข.ดําเนินการสํารวจข้อมูลด้านการจราจรและขนส่งในเขตเมืองเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในระยะเร่งด่วน โดยศึกษาและจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ทั้งระบบเส้นทางสายหลักและสายรอง (Feeder) ของระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ