ข่าว

จัดที่ดินแบบ"แลนด์แบงก์"ดูแลอย่างไรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จัดที่ดินแบบ"แลนด์แบงก์"ดูแลอย่างไรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

 

                 “คำว่าธนาคารที่ดินต้องเป็นตัวแบงก์เลยไหม หรือเป็นแค่แลนด์แบงก์ เช่น ธนาคารเลือด หรือบลัดแบงก์ เป็นแบงก์ไหม ก็ไม่ใช่ เป็นที่รวบรวมเลือดเพื่อเอาไปใช้ในการรักษา ก็เหมือนกับแลนด์แบงก์เป็นที่รวบรวมที่ดินเพื่อเกษตรกร หรืออาจเป็นชื่ออื่นที่มีภารกิจเดียวกัน ชื่อนั้นสำคัญไฉนถ้าบทบาทมันชัดเจน การจัดหาที่ดินมาดูแลสู่ความยั่งยืน”

จัดที่ดินแบบ"แลนด์แบงก์"ดูแลอย่างไรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

                  เปิดประเด็นด้วยคำจำกัดความธนาคารที่ดินของอดีตนายธนาคาร “ขจรศักดิ์ เจียรธนากุล” ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานที่แบงก์ชาติ เอ็มเอ็มอีแบงก์ ก่อนก้าวมารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561  หวังเข้ามาขับเคลื่อนภารกิจการบริหารจัดการที่ดินให้แก่เกษตรกรไร้ที่ทำกินเพื่อไปสู่ความยั่งยืนภายใต้การกำกับดูแลของ “ธนาคารที่ดิน” ที่รัฐบาลหมายเตรียมตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ดินให้เกษตรกรไร้ที่ทำกิน

                ผอ.บจธ. กล่าวว่า “ผมทำงานด้านการเงินมากว่า 30 ปี เพิ่งมารับงานเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ภารกิจหลักที่ผมต้องรับไม้ต่อคือ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้จะครบอายุในวันที่ 8 มิถุนายน 2562 เหลือเวลาจากนี้ไปอีก 10 เดือน ตอนนี้ร่างพ.ร.บ.ธนาคารดินอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ในส่วนของเราก็มีแผนสำรองไว้แล้วว่าจะเดินต่อไปอย่างไร โดยขณะนี้ได้เตรียมไว้ใน 3 แนวทาง แนวทางแรกจะพยายามผลักดันตั้งธนาคารที่ดินให้ได้ ซึ่งอันนี้ก็ต้องว่ากันตามกระบวนการ แนวทางที่สองตั้งองค์กรอื่นขึ้นมาที่มีลักษณะเดียวกันกับธนาคารที่ดิน  และแนวทางที่สามขยายเวลาพ.ร.ฎ.ต่อเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดินให้ได้” 

จัดที่ดินแบบ"แลนด์แบงก์"ดูแลอย่างไรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

                 หลังจากที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) มีการจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.ฎ.สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ตั้งแต่ปี 2554 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยสิ้นสุดในวันที่ 8 มิถุนายน 2559 จากนั้นก็มีการต่ออายุพ.ร.ฎ.อีกครั้ง และสิ้นสุดในวันที่ 8 มิถุนายน 2562 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการจัดทำโครงสร้างองค์กรหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของทุน โครงสร้างของกรรมการ โครงสร้างผู้บริหาร และอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งขณะนี้การดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภารกิจหลักจากนี้ไปจะต้องขับเคลื่อนงานอย่างจริงจัง 

               “ตอนนี้กฎหมายลูก 16 ฉบับก็ใกล้จบหมดแล้ว รออีก 3-4 ฉบับก็จะจบ กระบวนการทุกอย่างตอนนี้ใกล้จะจบ ที่จะรองรับพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เช่น การจัดตั้งองค์กร โครงสร้างคณะกรรมการ กฎหมายด้านเงินทุนว่าจะเอามาจากไหน เหลือตัวพ.ร.บ. เราก็ทำ งานก็รอ”       

              อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา บจธ.ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่มีปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ได้จัดทำเป็นโครงการนำร่องจำนวน 5 ชุมชนที่เป็นปัญหา จนมีการฟ้องร้อง ซึ่งขณะนี้การดำเนินการเป็นไปด้วยดี มีเพียง จ.เชียงใหม่ ที่ยังเป็นปัญหา เนื่องจากเมื่อความเจริญเข้ามาราคาที่ดินเริ่มสูงจนไม่เหมาะทำการเกษตร จึงมีการเจรจากับชาวบ้านให้ย้ายออกไปอยู่ไกลออกไป แต่ก็ยังจัดสรรให้ชาวบ้านกลุ่มเดิม ในที่สุดเขาก็ยินยอม

             ผอ.บจธ.กล่าวต่อว่า ส่วนภารกิจหลักจากนี้จะเร่งดำเนินการโครงการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไร้ที่ทำกินเพื่อไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ในช่วงเวลาสั้นๆ 8-9 เดือนนับจากนี้ โดยจะทำโครงการต้นแบบการบริหารจัดการธนาคารที่ดินครบวงจร หมายความว่าหลังจากที่บจธ.มีการจัดหาที่ดินมาแล้วก็จะดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร แล้วจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนขึ้น โดยใช้หลักการของธนาคารที่ดินเข้าไปดูแลผ่านสถาบันเกษตรกร สหกรณ์หรือกลุ่มวิสากิจชุมชนที่จัดตั้งขึ้น

                  “เราคาดหวังว่าถ้าสหกรณ์มาดูแลการบริหารจัดการต่างๆ จะยั่งยืนเมื่อตั้งสหกรณ์เสร็จมีเกษตรกรร่วมโครงการแล้วก็จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาว่าจัดสรรอย่างไร มีแนวทางอย่างไร คนละกี่ไร่ เสร็จจากโจทย์ตรงนี้แล้วก็จะมีกระบวนการให้สินเชื่อ เป็นสินเชื่อระยะยาวตอนนี้วางไว้ประมาณ 20-30 ปี หลังให้สินเชื่อไปแล้ว เราก็จะมาสนับสนุนการพัฒนาทุกอย่าง  หาเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ มาช่วย  ดูเรื่องการตลาดให้ ทั้งวางขายในตลาดและขายทางออนไลน์ การจัดสรรที่ดินนัั้นไม่ยากแต่การดูแลจะทำอย่างไรให้เขาอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต่างหาก นี่คือเป้าหมายใหญ่ของเรา” 

 

               ผอ.บจธ.กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการเร่งดำเนินการโครงการต้นแบบซึ่งมีอยู่ 3 โครงการที่บจธ.ได้เตรียมการไว้แล้ว ตั้งใจว่าประมาณ 3-5 เดือน หลังจากนี้จะต้องเห็นเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 1-2 โครงการ โดย 3 โครงการที่อยู่ในแผนจะมีที่ จ.เชียงราย  นครราชสีมา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งหลังจากลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้สูง เกษตรกรมีความเข้มแข็ง สภาพพื้นที่ดินก็มีความพร้อมเกือบทุกอย่าง 

              “อย่างที่สุราษฎร์ฯ เขามีสหกรณ์แล้ว สมาชิกค่อนข้างเข้มแข็ง  มีอาชีพทำสวนยาง ส่วนหนึ่งทำปาร์มน้ำมัน ก็มีตลาดรองรับอยู่แล้ว แต่เราไปส่งเสริมการผลิต การแปรรูปการตลาดให้เขา ส่วนที่ดินทำโครงการเราสำรวจแล้วก็ไม่มีปัญหา ไม่เป็นพื้นที่ทับซ้อน ไม่ใช่ที่ส.ป.ก. สำหรับที่พิมาย  ตอนนี้เขามีที่ดินเป้าหมายแล้ว ค่อนข้างดี  น้ำท่าสมบูรณ์ ทั้ง 3 โครงการเราตั้งงบไว้เกือบ 200 ล้าน เราให้กู้เช่าซื้อโดยสหกรณ์ แล้วสหกรณ์ไปจัดสรรให้สมาชิก”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ