ข่าว

อุตฯจับมือ SCG  นำร่อง 3 หมู่บ้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชน   

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อุตสาหกรรมลำปางจับมือ SCG  นำร่อง 3 หมู่บ้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชนหนุนเอสเอ็มอีสร้างมูลค่าสินค้า


            20  สิงหาคม  2561กระทรวงอุตสากรรม ได้มีนโยบายในการพัฒนา “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (Creative Industry Village : CIV) ซึ่งถือเป็นหนึ่งแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ตามแนวประชารัฐ  

 

            โดยการเป็นพี่เลี้ยง (Big Brother) การถ่ายทอดองค์ความรู้ ในด้านการบริหารจัดการ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของชุมชน 

 

           ทั้งนี้ ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสากรรม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การฟื้นฟูเหมืองปูนลำปาง ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด หรือ SCG เพื่อดูกระบวนการฟื้นฟูเหมืองปูน พร้อมเป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อส่งเสริม และพัฒนาตามมาตรการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ SME และวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดลำปาง ระหว่างนายกิตติศักดิ์ ตันตินรเศรษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กระทรวงอุตสาหกรรม กับนายสุรชัย นิ่มลออก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด โดยมีนางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง 

 

อุตฯจับมือ SCG  นำร่อง 3 หมู่บ้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชน   

 

           ดร.สมชาย หาญหิรัญ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสากรรม  ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ Local Economy Lampang ที่ทางหมู่บ้าน และชุมชนได้นำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงให้ได้รับชม โดยเฉพาะจากหมู่บ้านแป้นใต้ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านการเกษตร โดยมีการปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่ง SCG ได้เข้ามาช่วยเหลือ ในฐานะพี่เลี้ยงส่วนหนึ่ง ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง ด้านการตลาด และการเข้าสู่หลักอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนที่หมู่บ้านแจ้คอน ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านการเกษตรเช่นกัน และมีการปลูกมะนาวนับ 1,000 ไร่ สร้างรายได้หลักเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้าน ในเรื่องนี้ ก็จะมีการประสานให้เอกชนพี่เลี้ยงจากต่างพื้นที่ให้เข้ามาให้ความรู้ด้วยเช่นกัน  

           

อุตฯจับมือ SCG  นำร่อง 3 หมู่บ้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชน        

 

          ดร.สมชาย   กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกันในวันนี้ ถือเป็นการดำเนินงานที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังจากที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และ SCG ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อพัฒนา CIV ใน 6 ชุมชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีโรงผลิตปูนซิเมนต์ของ SCG ประกอบด้วย จังหวัดลำปาง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสระบุรี โดยจังหวัดลำปาง จะเป็นพื้นที่แรก ที่เข้าไปดำเนินการพัฒนาชุมชนให้สามารถยกระดับสู่การเป็น CIV  ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่แจ๋ม ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน  ชุมชนบ้านแจ้คอน ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม และชุมชนบ้านแป้นใต้ ต.บ้านเสา อ.แจ้ห่ม โดยอาศัยองค์ความรู้ ของ SCG ที่จะเข้าไปให้การอบรมในด้านต่าง ๆ ทั้งการเงิน การตลาด การขาย กฎหมาย ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำมาต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ 

 

อุตฯจับมือ SCG  นำร่อง 3 หมู่บ้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชน   


           สำหรับรูปแบบของ SCG ที่จะเข้าไปพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงกับ ศูนย์การเรียนรู้การฟื้นฟูเหมืองปูนลำปางที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด โดยจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ตามแนวทางของ CIV ตั้งแต่การวางแผนร่วมกับชุมชนทั้งทางด้านอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่สามารถยกระดับและต่อยอดทางการตลาดได้ ซึ่งทาง SCG จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยด้านการออกแบบการทำตลาดโดยรวมและตลาดเฉพาะเจาะจงตามคำสั่งซื้อมากขึ้น รวมถึงการทำตลาดออนไลน์ตั้งแต่การจัดทำ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน ได้อย่างแท้จริง 

 

อุตฯจับมือ SCG  นำร่อง 3 หมู่บ้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชน   


            “การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ลำปาง ถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันยกระดับชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ภายใต้นโยบาย CIV ซึ่งจะทำให้มีการขยายขอบเขตของความร่วมมือ ในรูปแบบดังกล่าวในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งทาง SCG มีความพร้อม และศักยภาพทางด้านองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว ซึ่ง SCG เป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการพี่เลี้ยงน้อง หรือ BIG Brother ของกระทรวงอุตสาหกรรม”  

 

           นอกจากนี้ การดำเนินงานของโครงการ CIV ถือเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะใช้เป็นการนำร่อง เพื่อทำเป็นต้นแบบโครงการ CIV ในภูมิภาคอื่นต่อไป 

 

อุตฯจับมือ SCG  นำร่อง 3 หมู่บ้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชน   

         

            อย่างไรก็ตาม การดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV ระหว่างปี 2559-2561 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ 163 ชุมชน โดยได้พัฒนาเป็นหมู่บ้าน CIV ไปแล้ว จำนวน 27 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาค อาทิ ชุมชนออนใต้ จังหวัดเชียงใหม่ ,  ชุมชนบ้านวังกรด จังหวัดพิจิตร ,  ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม , ชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี , ชุมชนบ้านสำราญ จังหวัดร้อยเอ็ด , ชุมชนบางใบไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมชนบ้านนาตีน จังหวัดกระบี่ เป็นต้น 

           

           ที่ผ่านมาเรามีหมู่บ้านอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์กว่า 10 แห่ง ที่มีการพัฒนา โดยนำรูปแบบหมู่บ้านในประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้ แต่ต้องบอกตรงๆ ว่า ไม่ได้ผล หรือไม่ประสบผลสำเร็จในหลายๆ หมู่บ้าน เพราะเราเอาจุดเริ่มต้นของหมู่บ้านอื่นมาปรับใช้ ไม่ได้เกิดจากจุดเริ่มต้นของพื้นที่หมู่บ้านนั้นๆ เอง แต่ ณ ปัจจุบันนี้เราต้องมองสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ หัวใจของชุมชนนั้นๆ เอง  จึงเป็นที่มาของ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) คือ ต้องมาจากความร่วมมือกันของชุมชน และหมู่บ้าน ดึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนออกมา แล้วให้ชาวบ้านช่วยกัน ว่า จะเดินไปในทิศทางไหน จากนั้นก็จะนำของดี หรืออัตลักษณ์ของชุมชน มาผสมผสานกับแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจต่อผู้พบเห็น ไม่เพียงแค่นั้น ประเพณี รากเง้า และวัฒนธรรมของหมู่บ้าน และชุมชน ก็ถือว่าเป็นของดีที่จะต้องนำมาผสมผสานกัน มารวมกัน เพื่อสร้างมูลค่า และนำออกสู่สายตาภายนอก 

 

อุตฯจับมือ SCG  นำร่อง 3 หมู่บ้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชน   

 

           ความสำเร็จของหมู่บ้านจะขึ้นอยู่กับความสามัคคี และความเข็มแข็ง ที่จะรวมพลังกัน เพื่อสร้างให้หมู่บ้านเกิดความหลากหลายที่น่าสนใจ ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์หลายๆ ด้านที่เป็นของดีในแต่ละชุมชนด้วย ฉะนั้น เราจะต้องมีจุดยื่นอันเดียวกัน แล้วสร้างให้หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้ามาช่วยเติมเต็มในจุดนี้ เพื่อให้ทุกคนทราบช่องทางในการสร้างจุดยืน และการสร้างพลังให้ชุมชน และหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง ซึ่งการเติบเต็มดังกล่าวนั้น จะมีทาง SCG เป็นพี่เลี้ยงที่จะคอยช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องเครื่องมือ และความรู้ หรือการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือในบางส่วน จากการลงนามความร่วมมือกัน

 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ