ข่าว

คลังชี้วงเงิน'ประชานิยม'ชนเพดาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลังชี้วงเงิน'ประชานิยม'ชนเพดาน

 

คลัง เผยรัฐใช้วงเงินงบประมาณเพื่อโครงการประชานิยมผ่านแบงก์รัฐเต็มวงเงินตามกฎหมายแล้ว หลังคลอดมาตรการพักหนี้-ลดดอกเบี้ยให้ลูกค้า ธ.ก.ส. กว่า 3.8 ล้านราย ส่งผลอัตราการชดเชยค่าใช้จ่ายแตะ 29.6% จากกฎหมายห้ามเกิน 30%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ งบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาใช้เพื่อดำเนินโครงการประชานิยม ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ หรือ นโยบายกึ่งการคลังนั้น ถือว่า ใช้เต็มวงเงินตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังแล้ว

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมานี้ ได้กำหนดอัตราการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ซึ่งกรอบวินัยการคลังข้อนี้ คือ การควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล ที่สั่งให้สถาบันการเงินของรัฐดำเนินการโดยใช้เงินของสถาบันการเงินของรัฐ ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด หรือ เรียกว่านโยบายกึ่งการคลัง

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลได้ใช้นโยบายกึ่งการคลัง เพื่อใช้จ่ายในโครงการที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งวิตกกังวลว่า การใช้จ่ายเงินที่อยู่นอกงบประมาณ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐนั้น ยังไม่มีกรอบในการควบคุมขนาดของการใช้จ่าย ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาทางการคลังในอนาคตได้หากเปิดให้ใช้จ่ายไปเรื่อยๆโดยไม่มีข้อจำกัด ดังนั้น ในกฎหมายวินัยการเงินการคลังจึงได้กำหนดกรอบไว้

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลประยุทธ์ ได้อนุมัติมาตรโครงการมาตรการพักหนี้เงินต้นเกษตรกร และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในฤดูการผลิต 2061/2062 ทำให้กรอบดังกล่าว ขึ้นไปอยู่ที่ 29.6 % จากที่เคยอยู่ 27-28% ซึ่งใกล้ระดับตามกรอบที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้โครงการประชานิยมผ่านสถาบันการเงินของรัฐได้

ทั้งนี้ โครงการพักหนี้เงินต้นของเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล จะให้เกษตรกรรายย่อยที่เป็นหนี้กับ ธกส. ทุกราย ไม่ว่ามีวงเงินกู้เหลืออยู่จำนวนเท่าไหร่ ยกเว้นเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล สามารถหยุดพักชำระเงินต้น เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้ ถึง 31 ก.ค.2564 ซึ่งโครงการนี้ซึ่งเป็นโครงการให้สมัครใจเข้าโครงการ จะครอบคลุมเกษตรกรที่มีสิทธิ์ 3.81 ล้านราย

นอกจากนี้ จะลดดอกเบี้ยให้สำหรับเงินกู้ใหม่ลงจากอัตราปกติ 3 % โดย ธกส.ชดเชยให้ 0.5 % และรัฐบาลชดเชยให้ 2.5 % คาดว่า รัฐจะต้องใช้งบประมาณเพื่อทั้งสองมาตรการดังกล่าวรวม 1.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการที่ใช้นโยบายกึ่งการคลัง ที่สร้างภาระมากที่สุด คือ โครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีภาระที่ต้องชดเชยไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

สำหรับกรอบวินัยการเงินการคลัง ดังกล่าวนั้น ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นอกเหนือจากกรอบเรื่องนโยบายกึ่งการคลังแล้ว คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังได้กำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังอีกหลายเรื่อง เช่น การกำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องตั้งไม่ต่ำกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 3.5 % ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 60 % ,สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกิน 35 % และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกิน 1 0% เป็นต้น

ที่มา  กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ